สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2567
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 8,971.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 10,431.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.29 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,778.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.82 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนสิงหาคม 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.13 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2567
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 8 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.61 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.80 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 2,468 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยราคายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเดือนสิงหาคมระดับราคายังทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 2,513 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (ณ วันที่ 19 กันยายน 2567 เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.5 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์) รวมทั้งกองทุนทองคำ SPDR มีการซื้อทองคำสุทธิตลอดเดือนเพิ่มขึ้น 19.57 ตัน
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ใน สัดส่วนร้อยละ 28.71 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.36 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.73 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอิตาลี ซึ่งเป็นตลาดใน 3 อันดับแรก ได้สูงขึ้นร้อยละ 10.01, ร้อยละ 13.19 และร้อยละ 43.17 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอันดับที่ 4-5 อย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลดลงร้อยละ 14.67 และร้อยละ 0.16 ตามลำดับ ส่วน เครื่องประดับเงิน เติบโตได้ร้อยละ 19.30 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักในอันดับ 1-3 อย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอินเดีย ได้สูงขึ้นร้อยละ 22, ร้อยละ 15.11 และร้อยละ 101.64 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 4-5 ลดลงร้อยละ 1.30 และร้อยละ 5.51 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม หดตัวลงร้อยละ 21.92 เป็นผลจากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดในอันดับ 1 ได้ลดลงร้อยละ 5.35 ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 2-5 ทั้งสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อิตาลีและสหราชอาณาจักร ยังเติบโตได้ร้อยละ 21.20, ร้อยละ 16.06, ร้อยละ 33.24 และร้อยละ 8.62 ตามลำดับ
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 13.19 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ขยายตัวได้ร้อยละ 9.98 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และ มรกต) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.58 มาจากการส่งออกไปยังตลาดใน 5 อันดับแรก ทั้งฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.03, ร้อยละ 5.74, ร้อยละ 2.24, ร้อยละ 11.98 และร้อยละ 7.68 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 6.21 จากการส่งออกไปฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและอิตาลี ตลาดอันดับ 1-2 และ 5 ได้ สูงขึ้นร้อยละ 12.95, 7.21 และร้อยละ 5.52 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 3-4 อย่างสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ลดลงร้อยละ 3.07 และร้อยละ 10.74 ตามลำดับ
เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 7.87 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.41 โดย เพชรเจียระไน เป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ หดตัวลงร้อยละ 0.68 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 3-4 อย่างเบลเยียม และสหรัฐอเมริกา ได้ลดลงร้อยละ 16.57 และร้อยละ 30.36 ตามลำดับ ขณะที่ฮ่องกง อินเดีย และอิสราเอล ตลาดสำคัญในอันดับ 1-2 และ 5 ยังเติบโตได้ร้อยละ 0.86, ร้อยละ 45.02 และร้อยละ 17.82 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.97 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 5.27 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดในอันดับ 1-3 และ 5 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.36, ร้อยละ 12.98, ร้อยละ 227.60 และร้อยละ 6.18 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 4 อย่างฝรั่งเศสนั้น ลดลงร้อยละ 10.96
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2566 และปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 8 เดือนแรกของปี 2567 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1-4 และ 6-9 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.74, ร้อยละ 10.89, ร้อยละ 48.80, ร้อยละ 13.87, ร้อยละ 30.94, ร้อยละ 42.55, ร้อยละ 11.69 และร้อยละ 2.83 ตามลำดับ ส่วนสหราชอาณาจักร และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 5 และ 10 ลดลงร้อยละ 6.92 และร้อยละ 15.25 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไป ฮ่องกง ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.03, ร้อยละ 0.86, ร้อยละ 13.19 และร้อยละ 12.95 ตามลำดับ
การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 66) ได้สูงขึ้นร้อยละ 10.01 และร้อยละ 22 ตามลำดับ รวมทั้งสินค้าสำคัญ อย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.74 และร้อยละ 7.21 ส่วนการส่งออกเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 30.36 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไป อินเดีย สามารถเติบโตได้นั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 43) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 101.64 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 45.02, ร้อยละ 11.95 และร้อยละ 21.52 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ ลดลงร้อยละ 52.45
ส่วนการส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่ขยายตัวได้จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนร้อยละ 75) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.11, ร้อยละ 41.37 และร้อยละ 7.46 ตามลำดับ ส่วนสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 36.87 และร้อยละ 18.36 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไป อิตาลี ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60) ได้สูงขึ้นร้อยละ 43.17 รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.98, ร้อยละ 5.52 และร้อยละ 7.82 ตามลำดับ
การส่งออกไปยัง เบลเยียม ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 227.60, ร้อยละ 1,112.22, ร้อยละ 77.56 และร้อยละ 46.60 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนซึ่งเป็นสินค้าหลัก ลดลงร้อยละ 16.57
มูลค่าการส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ สามารถเพิ่มขึ้นได้ อันเนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 2.24, ร้อยละ 49.37 และ ร้อยละ 57.07 ตามลำดับ ส่วนสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 3.07, ร้อยละ 8.61 และร้อยละ 22.63 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไป ญี่ปุ่น ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและสินค้ารองลงมา อย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.03, ร้อยละ 18.27 และร้อยละ 7.45 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไป สหราชอาณาจักร ปรับตัวลดลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง ลดลงร้อยละ 14.67 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับเทียม ได้ลดลงร้อยละ 1.30 และร้อยละ 7.81 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนยังเติบโตได้ร้อยละ 208.95
ขณะที่การส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีมูลค่าลดลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนราวร้อยละ 66) ได้ลดลงร้อยละ 0.16 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลดลงร้อยละ 50.19 และร้อยละ 21.55 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ยังเติบโตได้ ร้อยละ 127.45 และร้อยละ 36.81 ตามลำดับ
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมปีนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.27 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.82 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าของไทยที่เติบโตได้ดีคือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2566 และปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น ปัญหาอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกคลี่คลายลง โดยการเติบโตทางภาคบริการของโลกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เห็นได้จากดัชนีภาคบริการโลกขยายตัวต่อเนื่อง 18 เดือนต่อกัน นโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มผ่อนคลายลง โดยตลาดสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกายังขับเคลื่อนไปได้จากภาคบริการยังขยายตัว ขณะที่สหภาพยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าหลักจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีมุมมองเป็นบวกต่อ แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณฟื้นตัวจากแรงหนุนจากการบริโภคภายใน ประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ขณะที่ Deloitte คาดการณ์การขายปลีกในช่วงวันหยุดประจำปีของไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ยอดขายตามฤดูกาลมีแนวโน้มที่จะ เพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 2.3-3.3 ในปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การคาดการณ์ ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังจะขยายตัวและจะไม่เกิดภาวะถดถอยได้หรือไม่ เช่นเดียวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลก ส่วนความตึงเครียดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะตะวันออกกลางและการกีดกันทางการค้า ยังเป็นประเด็นที่อาจกดดันต้นทุนสินค้าในห่วงโซ่อุปทานต่อไป
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมีเทศกาลสำคัญหลายเทศกาล ควรออกแบบแคมเปญที่เชื่อมโยงกับเทศกาลเหล่านี้ มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับการให้เป็นของขวัญ เน้นใช้การตลาดดิจิทัล โดยเฉพาะบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เนื่องจากผู้บริโภคมักค้นหาของขวัญจากช่องทางออนไลน์สื่อสารถึงความหมายและคุณค่าทางอารมณ์ของเครื่องประดับในการทำแคมเปญ การใช้กลยุทธ์เหล่านี้ร่วมกันจะช่วยให้ผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับสามารถดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขาย ในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2567
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”