หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2567

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2567

กลับหน้าหลัก
18.11.2567 | จำนวนผู้เข้าชม 49

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2567

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 11,129.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 12,448.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.58 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้น หักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 7,053.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.15 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนกันยายน 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 89.06 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2567

 ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2567

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43.34 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.29 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 2,567.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์โดยราคายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งในเดือนกันยายนราคายังทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 2,663.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (ณ วันที่ 19 กันยายน 2567) นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 รวมทั้งกองทุนทองคำ SPDR มีการซื้อทองคำสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้น 9.2 ตัน

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 28.95 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.19 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง ขยายตัวได้ร้อยละ 5.19 จากการส่งออกไปยังตลาดใน 3 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอิตาลี ได้สูงขึ้นร้อยละ 14.06, ร้อยละ 9.60 และร้อยละ 7.49 ตามลำดับ ขณะที่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 4-5 ลดลงร้อยละ 15.55 และร้อยละ 0.65 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.38 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1-3 ได้สูงขึ้นร้อยละ 20.03, ร้อยละ 14.43 และร้อยละ 98.38 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปตลาดอันดับ 4-5 อย่างสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 4.14 และร้อยละ 5.47 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.99 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 และ 3-5 อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อิตาลี และสหราชอาณาจักร ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 195.53, ร้อยละ 28.02, ร้อยละ 19.35 และร้อยละ 9.10 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ตลาดอันดับ 2 หดตัวลงร้อยละ 5.34

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 14.46 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.66 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.88 มาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ที่เป็นตลาดในอันดับ 1-2 และ 5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 12.17, ร้อยละ 9.69 และร้อยละ 2.73 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอันดับ 3-4 ทั้งสวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี ลดลงร้อยละ 1.32 และร้อยละ 6.32 ตามลำดับ ส่วน พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.78 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1-2 และ 4-5 อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอินเดีย ได้สูงขึ้นร้อยละ 7.53, ร้อยละ 5.06, ร้อยละ 0.24 และร้อยละ 11.35 ตามลำดับ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ตลาดอันดับ 3 ลดลงร้อยละ 6.37  

เพชร  เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 7.77 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย หดตัวลงร้อยละ 5.36 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.57 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 และ 3-4 ได้ลดลงร้อยละ 5.81, ร้อยละ 19.31 และร้อยละ 26.66 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 2 และ 5 อย่างอินเดีย และอิสราเอล ยังขยายตัวได้ร้อยละ 25.82 และร้อยละ 12.74 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.0 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.46 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 1-3 และ 5 อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม และสิงคโปร์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 18.11, ร้อยละ 11.44, ร้อยละ 166 และร้อยละ 7.33 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 4 อย่างฝรั่งเศสนั้น ลดลงร้อยละ 11.03  

ตารางที่ 2  มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2566 และปี 2567

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2567 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี เบลเยียม อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1-4, 6-8 และ 10 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.30, ร้อยละ 14.79, ร้อยละ 38.53, ร้อยละ 12.70, ร้อยละ 33.51, ร้อยละ 3.59, ร้อยละ 7.16 และร้อยละ 1.72 ตามลำดับ ส่วนสหราชอาณาจักรและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 5 และ 9 ลดลงร้อยละ 9.21 และร้อยละ 10.89 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไป ฮ่องกง ขยายตัวได้นั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ที่มีสัดส่วนร้อยละ 33) รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเครื่องประดับทองและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.17, ร้อยละ 9.60 และร้อยละ 7.53 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่เติบโตเพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและ เครื่องประดับเงิน (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 66) ได้สูงขึ้นร้อยละ 14.06 และร้อยละ 20.03 ตามลำดับ รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ล้วนขยายตัวได้ร้อยละ 9.69 และร้อยละ 5.06 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 26.66 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไป อินเดีย ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน (มีสัดส่วนราวร้อยละ 45) ได้สูงขึ้นร้อยละ 98.38 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่าง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.82, ร้อยละ 9.36 และร้อยละ 11.35 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ ลดลงร้อยละ 54.30 

ขณะที่การส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนร้อยละ 75) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับทอง ได้สูงขึ้นร้อยละ 14.43, ร้อยละ 35.83 และร้อยละ 7.42 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 8.33, ร้อยละ 36.71 และร้อยละ 17.32 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไป เบลเยียม ที่เติบโตได้นั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทองได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 166, ร้อยละ 1,065.31, ร้อยละ 60.80 และ ร้อยละ 26.15 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนซึ่งเป็นสินค้าหลัก ลดลงร้อยละ 19.31

การส่งออกไป อิตาลี ยังสามารถขยายตัวได้ จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60) ได้สูงขึ้นร้อยละ 7.49 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงิน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.55 ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 6.32 และร้อยละ 21.09 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ ที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองและ เครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 40.90 และร้อยละ 50.73 ตามลำดับ ส่วนสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน เจียระไน และเครื่องประดับเทียม ลดลงร้อยละ 1.32, ร้อยละ 6.37 และร้อยละ 7.61 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไป ญี่ปุ่น ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.24 รวมทั้งสินค้ารองลงมาอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 15.57 และร้อยละ 4.52 ตามลำดับ 

ขณะที่การส่งออกไป สหราชอาณาจักร หดตัวลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่าง เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 15.55, ร้อยละ 4.14, ร้อยละ 7.75, ร้อยละ 43.95 และร้อยละ 23.12 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนยังเติบโตได้ร้อยละ 170.78

สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ปรับตัวลดลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่าง เครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนราวร้อยละ 67) ได้ลดลงร้อยละ 0.65 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลดลงร้อยละ 45.74 และร้อยละ 13.71 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ เครื่องประดับเงิน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ยังเติบโตได้ร้อยละ 170.12, ร้อยละ 123.93 และร้อยละ 19.03 ตามลำดับ 

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2567

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนปีนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.85 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.15 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.56 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าของไทยที่เติบโตได้ดีคือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2566 และปี 2567

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น อัตราเงินเฟ้อของโลกปรับลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงานลดลง โดย IMF ประมาณการอัตราเงินเฟ้อไตรมาส สุดท้ายของปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 5.3 ซึ่งในสหรัฐฯ การบริโภคในประเทศยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศสำคัญในสหภาพยุโรปมีทิศทางขยายตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายหลายประการ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ระดับหนี้สาธารณะที่สูง และภาระทางการคลังที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายของปี เมื่อเข้าสู่ช่วงจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลส่งท้ายปีหลายเทศกาล เป็นช่วงที่เกิดการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติโดยเฉพาะการซื้อของขวัญให้แก่ตนเองและผู้อื่น จากการสำรวจผู้บริโภคครั้งล่าสุดของสหพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Retail Federation) พบว่า ชาวอเมริกันถึงร้อยละ 92 วางแผนที่จะเฉลิมฉลองวันหยุดและใช้จ่ายในการซื้อของขวัญเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งราวร้อยละ 45 จะเริ่มทยอยซื้อสินค้าก่อนเดือนพฤศจิกายนเพื่อสะดวกในการจัดสรรเงินได้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดความฉุกละหุก โดยช่องทางออนไลน์ยังเป็นช่องทางยอดนิยมมากที่สุดร้อยละ 57 รองมาร้อยละ 46 คือ ห้างสรรพสินค้า

ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นเร็ว ผันผวน เปลี่ยนแปลงไปง่าย ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่ออารมณ์ความรู้สึก มีความซับซ้อน ไม่สื่ออย่างตรงไปตรงมา (ซึ่งอธิบายได้ตามแนวคิด BANI) ดังนั้น การสื่อสารทางการตลาดที่ดีต้องตอบรับต่อการปรับตัว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคอลเลคชันที่ปรับเปลี่ยน สวมใส่ได้หลายโอกาส สร้างฐานลูกค้าให้หลากหลายลดการพึ่งพาเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สื่อสารเรื่องราวของสินค้าที่ให้ความ เชื่อมั่นอุ่นใจแก่ผู้บริโภค การนำเอไอมาใช้ในหลายมิติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูล โดยต้องมีความชัดเจน กระชับ และยืดหยุ่นได้ หากสามารถผสมผสานกลยุทธ์ต่างๆ ได้ลงตัวแล้ว ไม่ว่าโลกจะซับซ้อนผันผวนเพียงใด เราย่อมเปลี่ยนได้ทันเหตุการณ์ได้เสมอ

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พฤศจิกายน 2567


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

 

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2567, สะสม 9 เดือน, มกราคม-กันยายน, GIT Information Center