สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2567
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.86 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2566 ที่มีมูลค่า 8,169.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 9,301.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.44 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,103.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.65 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนกรกฎาคม 2567 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 22.21 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2567
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.13 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.06 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2,395.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งเดือนกรกฎาคมระดับราคายังทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 2,480.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ การปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในของปีนี้ในเดือนกันยายน และกองทุนทองคำ SPDR มีการซื้อทองคำสุทธิตลอดเดือนเพิ่มขึ้น 14.12 ตัน
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 27.92 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 8.43 โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ เครื่องประดับทอง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.92 จากการส่งออกไปยังตลาดใน 2 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.19 และร้อยละ 13.56 ตามลำดับ ขณะที่สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิตาลี ตลาดอันดับ 3-5 ลดลงร้อยละ 13.43, ร้อยละ 1.85 และร้อยละ 3.53 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.66 เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และสหราชอาณาจักร ตลาดอันดับ 1-4 ได้สูงขึ้นร้อยละ 20.27, ร้อยละ 15.95, ร้อยละ 126.55 และร้อยละ 4.44 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 5 ออสเตรเลียนั้น ลดลงร้อยละ 5.90 การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม หดตัวลงร้อยละ 26.12 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 1 และ 5 อย่างญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร ได้ลดลงร้อยละ 6.36 และร้อยละ 16.70 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 2-4 ทั้ง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอิตาลียังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 40.98, ร้อยละ 13.11 และร้อยละ 33.21 ตามลำดับ
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 13.68 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เติบโตได้ร้อยละ 7.44 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.31 มาจากการส่งออกไปยังฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 และ 2 ได้สูงขึ้นร้อยละ 12.67 และร้อยละ 3.77 ตามลำดับ ส่วนตลาดในอันดับ 3-5 อย่างสวิตเซอร์แลนด์ฝรั่งเศสและอิตาลี ลดลงร้อยละ 2.32, ร้อยละ 3.77 และร้อยละ 8.43 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตได้ร้อยละ 2.92 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับ 1 และ 4 อย่างฮ่องกง และอินเดีย ได้สูงขึ้น ร้อยละ 15.81 และร้อยละ 19.37 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ตลาดอันดับ 2-3 และ 5 ลดลงร้อยละ 7.30, ร้อยละ 5.30 และร้อยละ 32.96 ตามลำดับ
เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 7.96 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ขยายตัวได้ร้อยละ 0.62 โดย เพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.29 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง อินเดีย และอิสราเอล ตลาดสำคัญในอันดับ 1-2 และ 5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 3.89, ร้อยละ 55.66 และร้อยละ 1.23 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 3 และ 4 ทั้งเบลเยียมและ สหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 18.03 และร้อยละ 33.98 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.94 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 8.94 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1-3 อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเบลเยียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.20, ร้อยละ 18.38 และร้อยละ 399.19 ตามลำดับ ส่วนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 4 และ 5 ลดลงร้อยละ 6.83 และร้อยละ 6.35 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2566 และปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2567 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ อันดับ 1-4, 6-7 และ 9 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.56, ร้อยละ 9.13, ร้อยละ 60.08, ร้อยละ 9.45, ร้อยละ 11.87, ร้อยละ 43.20 และร้อยละ 1.67 ตามลำดับ ส่วนสหราชอาณาจักร อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 5, 8 และ 10 ลดลง ร้อยละ 5.30, ร้อยละ 0.33 และร้อยละ 15.07 ตามลำดับ
การส่งออกไป ฮ่องกง ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอย เนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 12.67, ร้อยละ 3.89, ร้อยละ 13.56 และร้อยละ 15.81 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวได้มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 66) ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.19 และร้อยละ 20.27 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.77 ส่วนการส่งออก พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนและเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 7.30 และร้อยละ 33.98 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไป อินเดีย ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 33) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.66 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 126.55, ร้อยละ 15.80 และร้อยละ 19.37 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ ลดลงร้อยละ 54.17
ส่วนการส่งออกไปยัง เยอรมนี ซึ่งสามารถเติบโตได้จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนร้อยละ 77) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.95 และร้อยละ 9.65 ตามลำดับ ส่วนสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.90, ร้อยละ 33.90 และร้อยละ 18.68 ตามลำดับ
การส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองได้สูงขึ้นร้อยละ 63.62 ส่วนสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 2.32, ร้อยละ 5.30, ร้อยละ 6.35 และร้อยละ 23.34 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งขยายตัวได้นั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 399.19, ร้อยละ 884.93, ร้อยละ 136.12 และ ร้อยละ 48.86 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนลดลงร้อยละ 18.03
สำหรับการส่งออกไป ญี่ปุ่น ที่สามารถเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและสินค้า รองลงมาอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.35, ร้อยละ 15.95 และ ร้อยละ 4.29 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไป สหราชอาณาจักร ปรับตัวลดลงเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง ลดลงร้อยละ 13.43 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 9.51, ร้อยละ 43.18 และร้อยละ 25.35 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนยังเติบโตได้ร้อยละ 209.34
มูลค่าการส่งออกไป อิตาลี ซึ่งหดตัวลงนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 54) ได้ลดลงร้อยละ 3.53 รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 8.43 และร้อยละ 6.32 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเงิน ยังเพิ่มขึ้นได้ ร้อยละ 70.56 และร้อยละ 18.73 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีมูลค่าลดลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่าง เครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนราวร้อยละ 66) ได้ลดลงร้อยละ 0.73 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็ง เจียระไน ลดลงร้อยละ 48.20 และร้อยละ 22.56 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ยังเพิ่มขึ้นได้ ร้อยละ 86.40 และร้อยละ 127.05 ตามลำดับ
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคมปีนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.86 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.65 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.39 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าของไทยที่ เติบโตได้ดีคือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม ปี 2566 และปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค โดยสถานการณ์ในตลาดหลักทั้งยุโรป และจีน เริ่มฟื้นตัวและมีการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังคงอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกปี 2567 ที่อัตราร้อยละ 3.2 เช่นเดิม เนื่องจากสหรัฐฯ เติบโตแผ่วจากปัจจัยกดดันทางการเงินที่ตึงตัว ขณะที่ประเทศในยูโรโซนฟื้นตัวผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่แนวโน้มการเติบโตช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในระดับต่ำและยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ต้องพึ่งพาระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ในเอเชียเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะการเติบโตในอินเดียและจีนถูกปรับเพิ่มขึ้นและคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของ การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ความตึงเครียดจากความ ขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้า ยังเป็น ประเด็นที่อาจกดดันต้นทุนสินค้าในห่วงโซ่อุปทานต่อไป
สถานการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ การส่งออกยังเพิ่มขึ้นได้จากหลายปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะการบริโภคในหลายประเทศที่ยังเติบโตได้ดีแต่การขยายมาตรการของประเทศกลุ่ม G7 ในการห้ามนำเข้าเพชรที่มีแหล่งกำเนิดจากรัสเซียตั้งแต่ขนาด 0.5 กะรัตขึ้นไป ในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะยิ่งสร้างความ กดดันต่อผู้ส่งออกเพชรมากยิ่งขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา เราไม่อาจปฏิเสธได้ถึงการเปลี่ยนแปลงหลายประการโดยเฉพาะเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่หลายธุรกิจนำมาส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าของตน ซึ่งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไม่เพียงช่วยยกระดับการผลิต ยังเพิ่มขีดความสามารถบุคลากร และพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ได้อีกด้วย การดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยเพิ่ม ศักยภาพในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และ ขยายตลาดในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2567
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”