สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2564
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 66.80 ทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 5,437.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 1,805.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 9 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.81 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 1,355.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 13.24
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2563 และปี 2564
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คือ เครื่องประดับแท้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.24 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.48 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับเงิน ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 6.47 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ตลาดสำคัญในอันดับที่ 1, 3 และ 4 ที่เติบโตได้ร้อยละ 20.52, ร้อยละ 40.49 และ 1.06 เท่า ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังเยอรมนีและจีน ตลาดในอันดับ 2 และอันดับ 5 หดตัวลงร้อยละ 10.40 และร้อยละ 24.32 ตามลำดับ การส่งออก เครื่องประดับทอง ลดลงร้อยละ 28.69 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ตลาดสำคัญในอันดับที่ 2, 4 และ 5 ได้ลดน้อยลงร้อยละ 35.81, ร้อยละ 26.88 และร้อละ 8.58 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับที่ 1 และ 3 ขยายตัวได้ร้อยละ 6.24 และร้อยละ 59.91 ตามลำดับ ส่วนการส่งออก เครื่องประดับแพลทินัม เติบโตได้ดีร้อยละ 80.34 เนื่องจากการส่งออกไปยงตลาดหลักอันดับ 1, 3, 4 และ 5 อย่างสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฮ่องกง ซึ่งขยายตัวสูงถึง 27.90 เท่า, ร้อยละ 40.13, ร้อยละ 11.29 และ 1.72 เท่า ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่น ตลาดในอันดับ 2 ปรับตัวลงร้อยละ 21.64
ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 24.88 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงร้อยละ 88.41 เนื่องจากราคาทองคำโดยเฉลี่ยในตลาดโลก ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2563 กระทั่งมาอยู่ที่ระดับ 1,718.23 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (http://www.kitco.com) ในเดือนมีนาคม 2564 โดยมีปัจจัยกดดันมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ความคืบหน้าเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ รวมทั้งแรงเทขายทองคำของนักลงทุนและกองทุนทองคำ SPDR ที่ลดปริมาณการถือครองทองคำอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรก
เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.10 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าเติบโตร้อยละ 4.84 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 10.18 อันเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับที่ 1, 4 และ 5 ได้เพิ่มสูงกว่า 1.15 เท่า, ร้อยละ 4.91 และร้อยละ 71.15 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกง และเบลเยียม ตลาดในอันดับ 2 และ 3 หดตัวลงร้อยละ 16.80 และร้อยละ 35.97 ตามลำดับ
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 8.51 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ปรับตัวลดลงร้อยละ 42.38 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งมีมูลค่าลดลงร้อยละ 33.04 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับ 1, 2, 4 และ 5 ได้ลดลงร้อยละ 8.66, ร้อยละ 63.1, ร้อยละ 40.82 และร้อยละ 2.54 ตามลำดับ ในณะที่การส่งออกไปยังฝรั่งเศสที่อยู่ในอันดับที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.78 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน หดตัวลดลงร้อยละ 54.05 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดใน 3อันดับแรก ได้ลดลงร้อยละ 63.36, ร้อยละ 79.98 และร้อยละ 6.08 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฝรั่งเศส และรัสเซีย ตลาดในอันดับที่ 4 และ 5 ขยายตัวสูงขึ้น 2.02 เท่า และ 1.80 เท่า
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.22 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 27.24 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอันดับที่ 3 อย่างลิกเตนสไตน์ ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 1 ในปีที่ผ่านมา ได้ลดลงร้อยละ 76.08 ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับที่ 1, 2, 4 และ 5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.36 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2563 และปี 2564
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวลดลงร้อยละ 13.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี ญี่ปุ่น เบลเยียม และสิงคโปร์ ตลาดในอันดับ 1, 2, 4, 7, 9 และ 10 ล้วนแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.50, ร้อยละ 32.01, ร้อยละ 7.99, ร้อยละ 6.71, ร้อยละ 36.66 และร้อยละ 32.88 ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายระลอกที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษบกิจไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ขนส่ง หรือการท่องเที่ยว หยุดชะงักลง รวมทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้มีการใช้จ่ายแต่สินค้าที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีพอย่างสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าสุขอนามัย
การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่ลดลงนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้ากึ่งสำเร็จรูปรายการสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงมากถึงร้อยละ 63.14 และร้อยละ 79.98 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยังฮ่องกงที่หดตัวลดลงนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน และสินค้าสำคัญถัดมาอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ต่างปรับตัวลดลงร้อยละ 16.80, ร้อยละ 35.81, ร้อยละ 28.66 และร้อยละ 63.36 ตามลำดับ
การส่งออกไปยังเยอรมนีที่ลดลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับแท้ ซึ่งทั้งเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 83 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.40 และร้อยละ 23.21 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่ปรับตัวลงนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ที่ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.58, ร้อยละ 21.64, ร้อยละ 0.70 และร้อยละ 17.22 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยังเบลเยียมที่ลดลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 82 ได้ลดลงร้อยละ 35.97
มูลค่าการส่งออกไปยังสิงคโปร์ที่หดตัวลดลงนั้น เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดบทอง ซึ่งเคยเป็นสินค้าหลักอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมา รวมถึงเครื่องประดับเทียม ได้ลดลงร้อยละ 34.50 และร้อยละ 64.03 ตามลำดับ
สำหรับตลาดอื่น ๆ ที่ยังสามารถเติบโตได้ คือ อินเดีย ตลาดในอันดับที่ 3 ขยายตัวได้ร้อยละ 24.95 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน ในสัดส่วนราวร้อยละ 75 และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างโลหะเงิน ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.15 เท่า และร้อยละ 89.59 ตามลำดับ
การส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับที่ 5 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.39 โดยสินค้าส่งออกของไทยที่เติบโตได้ดีในตลาดนี้เป็นกลุ่มสินค้าสำเร็จรูปอย่างเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัม ซึ่งขยายตัวได้ร้อยละ 59.91, 1.06 เท่า และร้อยละ 11.29 ตามลำดับ
การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดในอันดับที่ 6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.86 เนื่องจากการส่งออกเพชรเจียระไนสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 46 และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเพชรก้อน ได้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 48.91, 2.34 เท่า และ 11.12 เท่า ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ตลาดในอันดับที่ 8 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 42.69 อันเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ เครื่องประทับเทียม เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2564
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 66.80 หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินนค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำฯ พบว่า ลดลงร้อยละ 13.24 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าสินค้าส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิลดลงร้อยละ 9.84 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2564
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ปรับตัวลดลงนั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนในหลายประเทศแล้วก็ตาม แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน ก็ยังมีตลาดที่เป็นความหวังที่มีการเติบโตได้ดีอย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย ซึ่งต่างเป็นประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และลดการติดเชื้อลงได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยที่ควรเฝ้าระวัง คือ 1.การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าเดิมในหลายประเทศ ทั้งยังพบเชื้อบางสายพันธุ์ที่ซ่อนตัวจากการตรวจ 2.การกระจายวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า 3.ค่าเงินบาทผันผวนสูง การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ทั้งนี้ ความคืบหน้าของวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศและนอกประเทศ มีการปรับอัตราการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น ทั้งมีมาตรการรองรับผู้ได้รับผลกระทบที่เตรียมไว้ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และจะประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เศรษฐกิจของหลายประเทศจะเริ่มฟื้นตัวกลับมาได้
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”