หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนเมษายน 2564

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนเมษายน 2564

กลับหน้าหลัก
02.06.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 28600

ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนเมษายน 2564 

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนเมษายน 2564 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 516.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 337.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.0 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 179.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 408.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 285.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 123.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 108.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) 4 เดือน (เดือนมกราคม-เมษายน 2564) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,085.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,346.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 739.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 4 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 1,674.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,118.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 555.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 41.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก 

เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2564 พบว่า ด้วยฐานการส่งออกที่อยู่ที่เกณฑ์ต่ำในปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.8, 100.4, 45.3 และ 26.9  แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า ทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 16.7, 11.5, 9.1 และ 13.3

ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนเมษายน 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า ในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่าการส่งออก 75.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และตุรกี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 121.7, 194.8 และ 60.7 ตามลำดับ

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 301.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 71.9 และ 14.7 

ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนเมษายน 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่าการส่งออก 53.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 100.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.0, 62.6 และ 239.2 ตามลำดับ

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 212.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) เช่นเดียวกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 1.9, 35.5 และ 43.8 ตามลำดับ

ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนเมษายน 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่าการส่งออก 95.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา และบังคลาเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.5, 271.6 และ 632.7 ตามลำดับ 

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นผ้าผืน (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 376.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงในการส่งออกไปยังตลาดในกลุ่มอาเซียน ที่ส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวลดลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ 


ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนเมษายน 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2564

การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่าการส่งออก 179.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และเบลเยียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 และ 29.5 แต่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 18.1 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่มีอัตราการแพร่ระบาดยังอยู่ในเกณฑ์สูง  

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 739.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวลงลง ยกเว้นการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 1.2 

ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก

เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2564 พบว่า การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 8.9, 17.1 และ 48.1 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) ของทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ พบว่า เส้นด้าย ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.8 และเครื่องนุ่งห่ม ปรับตัวลดลงร้อยละ 48.1 ขณะที่การนำเข้าผ้าผืน ค่อนข้างทรงตัวโดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 

ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนเมษายน 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 125.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ที่มูลค่าการนำเข้า 35.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เช่นเดียวกันกับตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 หรือที่มูลค่า 13.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 484.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากพิจารณาในรายตลาด พบว่า มีการนำเข้าจากตลาดจีนและญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 8.2 และ 9.6 หรือที่มูลค่า 137.2 และ 54.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนเมษายน 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 159.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากพิจารณาในรายตลาด พบว่า นำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และไต้หวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7, 18.2 และ 13.3 ตามลำดับ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 634.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) จากตลาดจีนและเวียดนาม ที่ร้อยละ 16.1 และ 18.6 หรือที่มูลค่า 315.1 และ 70.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนเมษายน 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-เมษายน 2564

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 79.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7, 4.5  และ 703.3 ตามลำดับ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 4 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 349.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) จากตลาดจีนและอิตาลีเช่นเดียวกัน ที่ร้อยละ 6.7 และ 42.3 หรือที่มูลค่า 179.7 และ 22.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM)

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ จากตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก พบว่า สหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.4 ขณะที่อินโดนีเซียและตุรกี ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.1 และ 12.7

ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เส้นด้าย จากตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก พบว่า ญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 ขณะที่ตลาดจีนและกาหลีใต้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.3 และ 14.4 

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์ผ้าผืน จากตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก พบว่า เวียดนาม ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.8 สำหรับตลาดเมียนมา และบังคลาเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.6 และ 0.3  

และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม จากตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก พบว่า สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.6 และ 15.0 สำหรับตลาดเบลเยียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3

ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)

และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนเมษายน 2564 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากตลาดการนำเข้าทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2, 10.2 และ 27.7 ตามลำดับ

ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการนำเข้าทรงตัวที่ร้อยละ 0.08 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) แต่เมื่อพิจารณาการนำเข้าในรายตลาด พบว่า นำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7

และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) ของตลาดการนำเข้าทั้ง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.2, 27.9 และ 25.0 ตามลำดับ

ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนเมษายน 2564

สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 516.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าว พบว่า

ตลาดสหรัฐอเมริกา ในเดือนเมษายน 2564 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่าการส่งออกรวม 95.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสัญญาณการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา พบว่า ดัชนีเศรษฐกิจยอดค้าปลีก (ซึ่งรวมถึงหมวดเครื่องแต่งกาย : Apparel) ขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 และต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 2564 จากปัจจัยหนุนต่าง ๆ อาทิ มาตรการทางการคลังที่ให้เงินช่วงเหลือทางตรงสำหรับชาวอเมริกา การฉีดวัคซีน covid-19 ในวงกว้าง และการผ่อนคลายข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด เช่น มาตรการเข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ มาตรการสวมหน้ากากและเว้นระยะห่างสังคม ซึ่งปัจจัยหนุนต่าง ๆ เหล่านี้ ได้กระตุ้นกิจกรรมทาเศรษฐกิจและบรรยากาศการบริโภคในประเทศให้ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว 

สำหรับสัญญาณความเปลี่ยนแปลงในความต้องการสินค้าแฟชั่นในตลาดสหรัฐอเมริกา พบว่า เสื้อผ้าสไตล์ทางการ (Formal) และกึ่งทางการ (Semi-formal) อาทิ ชุดเดรส กางเกงยีนส์ และสูท มียอดขายกลับมาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนต่างกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านในการทำกิจกรรมและกลับมาทำงานในออฟฟิศอีกครั้ง บวกกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ซึ่งเริ่มเบื่อกับแฟชั่นเดิม ๆ (ชุดลำลองและชุดกีฬา) ที่สวมใส่ในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น การมองหาช่องทางใช้จ่ายเพื่อลดความเครียดบวกกับสถานการณ์ที่ผ่อนคลายลง จึงมีโอกาสความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะหันมาเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นเพิ่มมากขึ้น

ตลาดเวียดนาม ในเดือนเมษายน 2564 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่าการส่งออกรวม 43.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสัญญาณกาฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม พบว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เวียดนามมียอดคำสั่งซื้อสินค้า (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม) กลับมาอยู่ในเกณฑ์สูง ทั้งนี้เป็นผลจากการกระจายวัคซีนภายในประเทศ นับเป็นโอกาสทางการตลาดและกระตุ้นการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์มูลค่าการส่งออกปีนี้ จะมีมูลค่าใกล้เคียงกับปี 2019 หรือก่อนช่วงที่มีการแพร่ระบาด covid-19 หรือที่มูลค่า 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ($39 billion) 

โดยบริษัท Hung Yen Garment (บริษัทผู้ผลิตและส่งออกเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ในเวียดนาม) พบว่า ณ  ปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ลูกค้าส่วนใหญ่คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ตามลำดับ เช่นเดียวกับบริษัท DalatWorsted Spinning (ผู้ผลิตเส้นด้ายรายใหญ่ในเวียดนาม) มียอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าจนถึงเดือนมิถุนายนแล้วเช่นกัน

และตลาดอินโดนีเซีย ในเดือนเมษายน 2564 การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.1  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่มูลค่าการส่งออกรวม 21.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ขณะที่การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดญี่ปุ่นและจีน ในเดือนเมษายน 2564 พบว่า ทั้ง 2 ตลาดปรับตัวลดลงร้อยละ 6.1 และ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยประเด็นที่ต้องติดตามต่อเนื่องในตลาดจีน คือ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาราคาวัตถุดิบ แรงงาน และค่าขนส่งของจีนมีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าขยับตัวตามขึ้น และกระทบต่อราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคในตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของจีน) รวมถึงผู้ผลิตไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากด้านราคาสินค้าที่นำเข้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามมา

สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่คาดว่าจะส่งผลต่ออุตสหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย จะเห็นว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ covid-19 ในประเทศระลอกที่ 3 ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกำลังซื้อในประเทศ เห็นได้จากการปรับตัวลดลงของฝั่งการนำเข้าในกลุ่มสินค้าสำเร็จรูป (เครื่องนุ่งห่ม) เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่ยังคงชะลอการใช้จ่าย เพราะความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ ซึ่งการทยอยฉีดวัคซีนต้านไวรัส covid-19 ในประเทศ น่าจะเป็นการเร่งสร้างความเชื่อมั่นและการฟื้นบรรยากาศการผลิตและการบริโภคให้กลับมาหลังจากนี้

ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวจากปัจจัยภายนอกประเทศ พบว่า ประเทศคู่ค้า/ตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสำคัญ ๆ ในหลายประเทศเริ่มกลับมามีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และบางประเทศในอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู้ค้าเหล่านั้นมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน บวกกับการใช้นโยบายการเงิน-การคลังที่ต่อเนื่องภายในประเทศของประเทศคู่ค้าดังกล่าว

-------------------------------------------------

Source : 

1) Information and Communication Technology Center with Cooperation of The Customs Department

2) Global Trade Atlas

3) สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน

4) CNBC

5) Fiber2fashion

6) The Business of Fashion


จัดทำและเรียบเรียงโดย 

ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) 

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

2 มิถุนายน 2564

นำเข้าส่งออกสิ่งทอ, อุตสาหกรรม, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, Import, Export, Textile, Clothing, ปี 2564, เดือนเมษายน, สะสม 4 เดือน, มกราคม-เมษายน, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'64