จริยธรรมและความยั่งยืน มาตรฐานใหม่ของอัญมณีและเครื่องประดับ
จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมายาวนาน ทั้งในแง่การทำธุรกิจ การบริหารงานภาครัฐ รวมทั้งสินค้าและบริการที่มอบให้ลูกค้า เนื่องจากการปรับเปลี่ยนค่านิยมในการบริโภคที่มีมุมมองให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากหลายประเทศที่มุ่งเน้นเพียงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากคุณภาพ ทำให้เกิดปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งสอดคล้องกับรายงานพัฒนามนุษย์ (Human Development Report) ประจำปี ค.ศ. 1996 แห่งองค์กรเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ที่ระบุว่า “คุณภาพ” ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญกว่า “อัตรา” การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะคุณภาพมีความยั่งยืนกว่านั่นเอง
กระแสความยั่งยืนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อมองภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นในหลายประเทศที่ต่างเฝ้ารอวันที่จะกลับมาฟื้นตัวได้หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งในหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ การพัฒนาวงการแฟชั่นไปสู่ความยั่งยืน โดยมีการสำรวจจาก McKinsey (บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลก) เกี่ยวกับทัศนคติของผู้บริโภคในเยอรมนีและ สหราชอาณาจักรในประเด็นความยั่งยืนกับวงการแฟชั่น พบว่า 88% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อลดมลภาวะที่เกิดจากการผลิตสินค้าแฟชั่น โดยวิธีการที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น ผู้บริโภค 67% เห็นด้วยในการเริ่มใช้สินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ขณะที่ 61% เห็นด้วยในการเลือกซื้อสินค้าที่บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ยังมีการสอบถามความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศตนเองจากผู้ตอบแบบสอบถามในแต่ละประเทศ พบว่า จีนและอินเดียมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจประเทศตนเองจะฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีหรือแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมภายใน 2-3 เดือนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึง 58% ตามมาด้วยอินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล ในอัตรา 53%, 42%, 35% และ 28% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากหลายประเทศเป็นตลาดสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ด้วย
ที่มา : https://www.mckinsey.com/business-functions
จริยธรรมและความยั่งยืนในอัญมณีและเครื่องประดับ
จริยธรรมและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนคำนึงถึงและนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ซึ่งในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเองก็มีการสร้างความตระหนักและให้ความหมายของจริยธรรมไว้เช่นกัน โดยหมายถึง ความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบในแหล่งผลิตและการใช้วัตถุดิบอย่างยั่งยืน โดยให้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งการให้ค่าจ้างที่เป็นธรรมและมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแก่คนงาน จากความหมายดังกล่าวจะเห็นว่า มีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ การทำเหมืองอย่างโปร่งใส มีการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้คนงาน การตรวจสอบถึงแหล่งที่มาได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งระมัดระวังต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง การเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตที่อาจนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) หรือรีไซเคิลได้ และการให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมเหมาะสม
ซึ่งกระแสดังกล่าวที่เพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับผลสำรวจของ ExJewel (บริษัทศึกษาข้อมูลเพื่อส่งเสริมจริยธรรมและความโปร่งใสในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ) ที่ได้เปิดเผยว่า ในปี 2020 มีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมกับอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนี้ Ethical Jewelry, Ethical Diamond และ Ethical Gold เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 75%, 75% และ 73% ตามลำดับ การค้นหาคำว่า Lab Grown Diamond เพิ่มขึ้น 83% ขณะที่คำว่า Sustainable Engagement Ring ได้รับความสนใจเพิ่มจากปีก่อน 65% และสไตล์เครื่องประดับที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมากคือ Art Nouveau Jewelry ที่ถูกค้นหาสูงขึ้นถึง 113% แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่หันมาให้ความสนใจต่อเครื่องประดับที่มีจริยธรรม การมองหาเพชรสังเคราะห์ที่ใช้ทดแทนเพชรธรรมชาติ หรือแม้แต่สไตล์ที่สื่อถึงธรรมชาติอย่าง Art Nouveau ก็ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าอานิสงส์ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนตระหนักในเรื่องนี้ตามไปด้วย
ที่มา : https://exjewel.com/insight-the-2020-conscious-jewelry-report/
นอกจากนี้ ExJewel มีการจัดอันดับแบรนด์เครื่องประดับที่มีจริยธรรมไว้ 10 อันดับ ดังนี้
Tiffany & Co. แบรนด์ชั้นนำด้านจริยธรรม
Tiffany & Co. นับเป็นแบรนด์เครื่องประดับชื่อดังที่ดำเนินการด้านจริยธรรมและความโปร่งใสมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน สามารถย้อนไปได้ถึงปี 1995 ในการผลักดันไม่ให้มีการสร้างเหมืองทองใน Yellowstone National Park นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่สำคัญในการผลักดันเรื่องจริยธรรมและความโปร่งใส เช่น ปี 1999 เป็นผู้นำในการผลักดันให้สหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมใน Kimberley Process Certification Scheme (KPCS) ปี 2002 ก่อตั้ง Laurelton Diamonds Inc. เพื่อตรวจสอบคุณภาพเพชรและควบคุมห่วงโซ่อุปทานของเพชรที่จะนำมาผลิตเครื่องประดับให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เป็นหุ้นส่วนด้วย ปี 2004 ยกเลิกการขายเครื่องประดับที่ทำจากปะการังและหินปะการัง รวมทั้งชักชวนให้แบรนด์อื่นๆ ทำเช่นเดียวกันด้วย ปี 2005 เป็นผู้นำแบรนด์แรกที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทองคำที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ปี 2015 ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ ในการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0 ภายในปี 2050 และล่าสุดในเดือนตุลาคม ปี 2020 ทำโครงการ Diamond Craft Journey สำหรับลูกค้าที่ซื้อเพชรขนาดตั้งแต่ 0.8 กะรัตขึ้นไป และลงทะเบียนข้อมูล จะได้รับรายละเอียดการเดินทางของเพชรตั้งแต่แหล่งกำเนิดเพชร สถานที่เจียระไน การคัดเกรด ตรวจสอบคุณภาพ กระทั่งมาเป็นเครื่องประดับสู่มือลูกค้าภายในกล่องสัญลักษณ์ของแบรนด์ที่ผลิตด้วยกระดาษจากแหล่งผลิตที่ใส่ใจความยั่งยืนภายใต้สัญลักษณ์ FSC (มาตรฐานด้านการจัดการป่าไม้และปลูกไม้ทดแทนที่นำไปใช้ในการผลิต) รวมทั้งมีการใช้วัสดุรีไซเคิลอีกด้วย
ที่มา : https://www.tiffany.com
SOKO แบรนด์ทางเลือกเพื่อชุมชน
นอกเหนือจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่กล่าวมาแล้ว ยังมีแบรนด์เครื่องประดับที่น่าสนใจอย่าง SOKO ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 2013 เพื่อต้องการช่วยเหลือกลุ่มช่างฝีมือเครื่องประดับในเคนยาที่มีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก ได้รับค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพเนื่องจากตลาดในประเทศมีขนาดเล็กและไม่สามารถเข้าถึงผู้ซื้อในตลาดโลกได้ SOKO จึงเข้าไปช่วยเหลือด้วยการใช้ Virtual Factory แอปพลิเคชั่นมือถือ สนับสนุนการทำตลาด ดูแลคำสั่งซื้อและการจ่ายเงิน ซึ่งช่วยให้ช่างฝีมือเหล่านี้เชื่อมโยงกับลูกค้าทั่วโลก โดยการผลิตเครื่องประดับของ SOKO จะใช้ช่างฝีมือชาวเคนยาที่มีทักษะงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างสรรค์งานเครื่องประดับที่สวยงามด้วยดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น วัตถุดิบหลักที่ใช้อย่างทองเหลืองก็มีการเลือกใช้ทองเหลืองรีไซเคิลกว่า 90% ของการผลิต ด้านการผลิตและแรงงาน มีทีมงานลงพื้นที่เพื่อควบคุมการผลิตและฝึกอบรม รวมทั้งคำนึงชั่วโมงทำงานและการใช้แรงงานเด็ก ตามคำแนะนำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ด้วย นอกจากนี้ แบรนด์ยังคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่ลดการใช้พลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม ให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนในเคนยาให้เข้มแข็งผ่านการสร้างสรรค์งานฝีมือที่มีคุณภาพสูงและมีเกียรติ เพื่อบรรลุจุดหมายร่วมกัน
ภาพจาก https://shopsoko.com/
สำหรับในประเทศไทยนั้น มีกรณีตัวอย่างบริษัท KWAHM SUMPAN CO. LTD เป็นบริษัทผลิตเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งมีดีไซน์ที่หลากหลายมากกว่า 3,000 รูปแบบ รวมทั้งการผลิตเครื่องประดับสำหรับเด็ก โดยเป็นสมาชิกของ RJC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 รวมทั้งยังผ่านการตรวจสอบด้านจริยธรรมทางการค้า Sedex Members Ethical Trade Audit (SMETA) อีกด้วย
คุณรัตน์ติพร นุชประไพ ผู้จัดการสำนักงานของบริษัท KWAHM SUMPAN CO. LTD ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทมีกลุ่มลูกค้าเดิมที่ทำธุรกิจกันมายาวนานด้วยความมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับมีผลจากแล็บยืนยันในความปลอดภัย มีการเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่โปร่งใสเป็นที่ยอมรับตามที่ลูกค้าร้องขอ โดยในทุกขั้นตอนมีระบบควบคุมคุณภาพที่เป็นมาตรฐานรวมถึงการบรรจุและจัดส่งสินค้าที่เน้นความปลอดภัยเพื่อให้สามารถส่งถึงมือลูกค้าทั่วโลกได้อย่างถูกต้องและตรวจสอบได้
ที่มา : https://www.ks925jewelry.com/
และกรณีบริษัท Natasha Creations Co., Ltd. ซึ่งรับจ้างผลิตเครื่องประดับทองคุณภาพสูงตั้งแต่ 10-18 กะรัต ประดับด้วยเพชรหรืออัญมณีมีค่าอื่นๆ เป็นสมาชิกของ RJC เมื่อเดือนเมษายน 2015 โดยคุณนำโชค อุนทรีจันทร์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท Natasha Creations Co., Ltd. กล่าวว่า บริษัทมีมาตรฐานด้านจรรยาบรรณที่ดีต่อลูกค้าในการรักษาความลับทางการค้า มีการตั้งมาตรฐานด้านจริยธรรมและความโปร่งใส โดยมีการตรวจสอบมาตรฐานผ่าน Audit ของลูกค้าเป็นประจำทุกปี รวมทั้งผ่านการตรวจสอบสารปนเปื้อนอย่างตะกั่วในเครื่องประดับ ซึ่งลูกค้าในสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ด้วยความมีมาตรฐานนี้ทำให้มีลูกค้าทั้งจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : https://www.natasha-creations.com/
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กลายเป็นกระแสที่สร้างความตื่นตัวในเรื่องจริยธรรมและความยั่งยืนที่เกิดขึ้นทั่วโลก อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเองก็มีการตอบสนองและสร้างมาตรฐานด้านธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น ดังที่เราได้เห็นหลายองค์กรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและยกระดับการค้าตลอดจนกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม และไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น CIBJO, Ethical Metalsmith, Fair Jewelry Action, Fairmined, Fairtrade, Responsible Jewellery Council (RJC) และ Natural Diamond Council (NDC) ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างมาตรฐานและให้ความรู้ในการสร้างจริยธรรมและความโปร่งใสให้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้เครื่องประดับที่มีจริยธรรมและความยั่งยืนจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคและจะกลายเป็นกระแสหลักที่มาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่นอกจากดีต่อใจแล้วยังรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมด้วย
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
--------------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง:
1. Survey: Consumer sentiment on sustainability in fashion. Retrieved November 23, 2020. from https://www.mckinsey.com/industries/retail/our-insights/
2. http://hdr.undp.org/sites/default/files/reports/257/hdr_1996_en_complete_nostats.pdf
3. What Is Sustainable And Ethical Jewelry?. Retrieved November 20, 2020. https://www.sustainablejungle.com/sustainable-fashion/sustainable-and-ethical-jewelrynuary-2021/
4. THE 2020 CONSCIOUS JEWELRY TRENDS REPORT. Retrieved November 16, 2020. from
https://exjewel.com/insight-the-2020-conscious-jewelry-report/
5. https://www.tiffany.com/sustainability/
6. https://shopsoko.com/