นิล อัญมณีแห่งรัตติกาล
อัญมณีสีดำสนิทดุจท้องฟ้ายามรัตติกาล แต่แฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์ และให้ความรู้สึกลึกลับชวนค้นหา นามว่า “นิล” มีความเกี่ยวโยงกับอารยธรรมและความเชื่อของมนุษย์มายาวนานกว่า 4,000 ปี แล้วที่ชาวอียิปต์ได้นำเอานิลมาทำเป็นเครื่องประดับและแกะสลักเป็นเครื่องใช้สอยต่างๆ ในราชสำนัก
ชาวกรีกมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับการถือกำเนิดของนิลเอาไว้ว่า วีนัส เทพีแห่งความงาม ได้ใช้ลูกศรของ คิวปิดตกแต่งเล็บของนางให้สวยงาม ซึ่งผงเศษเล็บของนางได้ตกลงสู่พื้นโลก และได้กลายสภาพเป็นอัญมณีสีดำสนิทที่เรารู้จักและกำลังกล่าวถึงกันอยู่ในขณะนี้
ประเทศไทยถือเป็นแหล่งวัตถุดิบนิลคุณภาพดีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง และด้วยความที่นิลเป็นเพื่อนแร่ของทับทิมและไพลิน มันจึงถูกพบมากในเขตจังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี และตราด ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยเป็นแหล่งทับทิมและไพลินที่สำคัญลำดับต้นๆ ของโลก
นิลกับความเชื่อ
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เรานั้นไม่ว่าจะชนชาติใด ล้วนมีความเชื่อในพลังอำนาจของอัญมณีชนิดต่างๆ ว่ามีคุณสมบัติในทางมงคล นิลก็เช่นกัน เชื่อกันว่ามันมีพลังแห่งการปกป้องที่สามารถช่วยให้ผู้ครอบครองแคล้วคลาดจากอำนาจมืด มนต์ดำ อุบัติเหตุ และอันตรายต่างๆ ด้วยเหตุนี้นักรบในสมัยโบราณจึงมักพกนิลไว้ติดตัวเพื่อเป็นเครื่องรางในยามออกศึกสงคราม ทั้งยังเชื่อกันว่านิลเป็นอัญมณีที่จะช่วยเสริมสร้างอำนาจบารมี นำมาซึ่งความโชคดี ความร่ำรวย และยศศักดิ์ให้แก่ผู้สวมใส่ และยังเป็นอัญมณีประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันเสาร์
นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่านิลมีพลังบำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคกระเพาะอาหาร และโรคกระดูกและข้อ เป็นต้น ไม่เพียงแต่การรักษาทางร่างกายเท่านั้น แต่มันยังช่วยบำบัดรักษาการป่วยทางจิตใจได้อีกด้วย ด้วยสีดำเป็นสีที่แสดงออกถึงความเข้มแข็ง นิลจึงช่วยสร้างพลังงานด้านบวกให้ผู้ที่มีความรู้สึกท้อแท้ ขาดความมั่นใจในตัวเอง ให้กลับมามีกำลังใจและความกล้าหาญเพิ่มมากขึ้น
ในวัฒนธรรมของชาวอินเดียได้นำนิลมาตกแต่งบนสร้อยมงคลสูตรสำหรับมอบให้เจ้าสาวในวันแต่งงาน ด้วยมีความเชื่อว่านิลเป็นอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจวิเศษแห่งเทพที่จะช่วยปกป้องคู่สมรสให้รอดพ้นจากดวงตาปีศาจ และมีชีวิตคู่ที่ยืนยาวอีกด้วย
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2562
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ