หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / หน้ากากทองคำ กับการเปิดตำนานคำสาปฟาโรห์

หน้ากากทองคำ กับการเปิดตำนานคำสาปฟาโรห์

กลับหน้าหลัก
07.10.2562 | จำนวนผู้เข้าชม 20165

หน้ากากทองคำ กับการเปิดตำนานคำสาปฟาโรห์

ในบรรดารายชื่อฟาโรห์แห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ ชื่อของฟาโรห์ ‘ตุตันคาเมน’ ดูจะเป็นที่รู้จักและคุ้นหูมากที่สุด ความมีชื่อเสียงของฟาโรห์ตุตันคาเมนนั้นมิได้มาจากการที่พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่แต่อย่างใด หากแต่การค้นพบสุสานและมัมมี่ของพระองค์พร้อมกับสมบัติทรัพย์ศฤงคารต่างๆ จำนวนกว่า 5,000 ชิ้น ซึ่งมีอายุมากกว่า 3,000 ปี ในสภาพสมบูรณ์ยิ่งกว่าของฟาโรห์องค์ไหนๆ ต่างหากที่ทำให้พระนามนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

แต่หากจะกล่าวว่า ฟาโรห์ตุตันคาเมน คือกษัตริย์หนุ่มน้อยผู้อาภัพก็คงจะไม่ผิดนัก ด้วยพระองค์เป็นผู้มีความผิดปกติทางด้านร่างกาย ทั้งยังถูกริดรอนชีวิตวัยเด็กด้วยการที่ต้องขึ้นครองราชย์ตั้งแต่มีพระชนมายุได้เพียง 8 ชันษา แต่กลับต้องสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันในวัยเพียง 18 ชันษา สุสานของพระองค์จึงถูกสร้างขึ้นอย่างเรียบง่ายและมีขนาดไม่ใหญ่นัก เป็นเหตุให้ในราว 200 ปี ให้หลัง คนงานก่อสร้างสุสานของฟาโรห์รามเสสที่ 6 เข้าใจผิดคิดว่าบริเวณนั้นเป็นสุสานของคนธรรมดา จึงได้ทำการก่อสร้างสุสานของฟาโรห์รามเสสที่ 6 ทับลงบนสุสานนี้ และนี่เองจึงเป็นเหตุให้สุสาน มัมมี่ และสมบัติของฟาโรห์ตุตันคาเมนยังคงความสมบูรณ์และรอดพ้นจากน้ำมือของเหล่าโจรปล้นสุสาน จนกระทั่งถูกค้นพบ ณ หุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings) โดยนายโฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) นักมนุษยวิทยาชาวอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 1922

ภายในสุสานที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ และของมีค่าต่างๆ นี้ ร่างของฟาโรห์ตุตันคาเมนได้นอนหลับไหลอยู่ภายในหีบพระศพจำนวน 3 ชั้น โดย 2 ชั้นแรก เป็นหีบทำจากไม้เนื้อแข็งฉาบทองคำ ขณะที่

หีบชั้นในสุดทำจากทองคำแท้และตกแต่งด้วยอัญมณีมงคลต่างๆ ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ อย่างเช่น 

เทอร์ควอยซ์ และลาพิส ลาซูรี นอกจากนี้ ยังมีหน้ากากทองคำรูปพระพักต์ฟาโรห์หนุ่ม ที่มีน้ำหนักราว 11 กิโลกรัม ครอบอยู่อีกชั้นหนึ่ง  

 

หน้ากากทองคำของฟาโรห์ตุตันคาเมน ทำจากทองคำแท้ตกแต่งด้วยอัญมณี เช่น เทอร์ควอยซ์ และลาพิส ลาซูรี
ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์
ภาพโดย: Pinterest

ทอง! ทอง! ทอง! ดูเหมือนว่าอาณาจักรอียิปต์โบราณจะมั่งคั่งและคลั่งไคล้ “ทองคำ” มากเสียจนถูกนำมาใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนของสุสานสายตาก็จับต้องกับประกายอร่ามเรืองรองของโลหะมีค่าชนิดนี้ไปเสียทั้งนั้น ซึ่งนอกจากเป็นเครื่องประดับพระเกียรติยศของฟาโรห์แล้ว ยังมีความเชื่อที่ว่าทองคำจะช่วยคงสภาพร่างไร้วิญญาณของฟาโรห์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดเพื่อรอการกลับมายังร่างเดิมตามคติความเชื่อของชาวไอยคุปต์โบราณอีกด้วย

เครื่องประดับศีรษะตกแต่งอัญมณี (ซ้าย) และเครื่องประดับทองรูปนกเหยี่ยว (ขวา) ของฟาโรห์ตุตันคาเมน
ภาพจาก: Discovery Times Square (http://www.discoverytsx.com/exhibitions/kingtut)

ภายหลังจากที่นายคาร์เตอร์และทีมงานได้พบกับขุมทรัพย์อันมีค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ทรัพย์สมบัติและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของฟาโรห์หนุ่มก็ได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากสุสานไปไว้ยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ แต่ท่ามกลางความปิติยินดีนั้น เหล่านักสำรวจไม่ได้ให้ความสนใจกับข้อความที่นักบวชในสมัยโบราณจารึกไว้ภายในสุสาน ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “มรณะจักโบยบินมาสังหารผู้บังอาจรบกวนสันติสุขแห่งองค์ฟาโรห์” 

จากนั้นไม่นานมรณกรรมปริศนาก็ได้คืบคลานมาสู่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขุดพบสุสานของยุวกษัตริย์พระองค์นี้ เริ่มจาก ลอร์ดคาร์นาร์วอน (Lord Carnarvon) ผู้สนับสนุนเงินทุนให้แก่นายคาร์เตอร์ได้เสียชีวิตลงอย่างกระทันหันภายในห้องพักของโรงแรมในกรุงไคโร ว่ากันว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาอาการป่วยที่เกิดจากโดนยุงกัดที่แก้มซ้าย แต่ที่น่าประหลาดใจคือมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมนก็มีรอยยุงกัดที่บริเวณเดียวกัน และภายในเวลา 6 ปี หลังจากที่สุสานถูกเปิดออก ทีมงานผู้ร่วมขุดสุสานได้ทยอยเสียชีวิตไปถึง 12 คน ทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับอาถรรพ์คำสาปมรณะยิ่งเพิ่มความน่ากลัวขึ้นเป็นทวีคูณ

แม้ว่าจะมีการพิสูจน์แล้วว่าอาถรรพ์คำสาปฟาโรห์เป็นเพียงเรื่องอุปโลกน์ที่เล่าต่อๆ กันมาเท่านั้น จะด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันเหล่าโจรปล้นสุสานหรืออะไรก็ตาม แต่ยังคงมีผู้คนจำนวนมากที่หวาดกลัวและเชื่อในเรื่องของ

คำสาปและอาถรรพ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวที่เกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณยังคงอยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างไม่เคยตกยุคสมัย 

ปัจจุบันทรัพย์สมบัติทั้งหมดกว่า 5,000 ชิ้น ของฟาโรห์ตุตันคาเมน ถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ในกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางเข้าชมสมบัติล้ำค่าเหล่านี้กันอย่างล้นหลาม

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

กันยายน 2562

--------------------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง:

1) ตุตันคาเมน กับโลงพระศพและหน้ากากทองคำ ความเชื่อแห่งการเก็บรักษาพระศพด้วยทองคำ. สมาคมค้าทองคำ. (26 ธันวาคม 2557). สืบค้นจาก https://www.goldtraders.or.th/ArticleView.aspx?gp=2&id=772.

2) Tutankhamun. Ancient Egypt Online. สืบค้นจาก http://www.ancient-egypt-online.com/king-tut.html.

3) ทองคำ โลหะล้ำค่าของชาวอียิปต์โบราณ. Gypzyworld. (27 มีนาคม 2561). สืบค้นจาก http://www.gypzyworld.com/article/view/1033.

4) ความเชื่อเรื่องทองคำ. Patchara Personal Library. สืบค้นจาก http://www.patchra.net/minerals/jewelry/goldbelief.php

*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

ภาวะอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, เครื่องประดับ, หน้ากากทองคำ, ทองคำ, ฟาโรห์, คำสาป, ตุตันคาเมน