หน้าแรก / THTI Activities / สศอ.ร่วมกับ สถาบันฯสิ่งทอ เผยผลสำเร็จการพัฒนาวัสดุสิ่งทอเชิงเทคนิค พร้อมเปิดตัว 10 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสิ่งทอทางการแพทย์ เฟส 3

สศอ.ร่วมกับ สถาบันฯสิ่งทอ เผยผลสำเร็จการพัฒนาวัสดุสิ่งทอเชิงเทคนิค พร้อมเปิดตัว 10 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสิ่งทอทางการแพทย์ เฟส 3

27.07.2565 | จำนวนผู้เข้าชม 755

26 กรกฎาคม 2565 ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ โครงการพัฒนาต้นแบบวัสดุเชิงเทคนิคเพื่อการรองรับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (New S-Curve) ปี 2565 โดยมี คุณกฤษณา รวยอาจิณ ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ คุณสมศักดิ์ ศรีสุภรวาณิชย์  นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมทอผ้า คุณอัมรินทร์ ศรีสุภรวาณิชย์ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย คุณพงศ์สันต์ เลิศศิริพาณิชย์ เลขาธิการสหพันธ์ฯ คุณอุษณกร ปัญญาวชิร รองเลขาธิการสหพันธ์ฯ คุณสุธี โฆษิตวงศ์สกุล รองเลขาธิการสหพันธ์ฯ คุณสุดา ยังให้ผล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม สถาบันฯสิ่งทอ และผู้ประกอบการ เข้าร่วม ณ ห้อง Cotton โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ พร้อมเผยแพร่ผ่านระบบซูม 

----------

โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยผลสำเร็จการพัฒนาวัสดุสิ่งทอเชิงเทคนิค พร้อมพัฒนา 10 ต้นแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์ปี 2565  ดันสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ คาดสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ไม่น้อยกว่า 20
% ขยายศักยภาพพร้อมรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรไทยสู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบวัสดุเชิงเทคนิคเพื่อการรองรับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (New S-Curve)"ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยในภูมิภาคอาเซียน และก้าวไปสู่“อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร” จึงได้ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เร่งสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแบบเดิม ยกระดับไปสู่การผลิตกลุ่มสินค้าที่มีสมบัติพิเศษ สินค้าที่ใช้งานในเชิงเทคนิค หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องสาขาอื่น เนื่องจากเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และมีโอกาสเติบโตได้ดี โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิค (Technical Textiles) มีหลายกลุ่ม เช่น สิ่งทอยานยนต์ สิ่งทอทางการกีฬา สิ่งทอเพื่อการก่อสร้าง และสิ่งทอทางการแพทย์ เป็นต้น จากความสำคัญดังกล่าวประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)  ทำให้กระแสโลกด้าน Health and Wellness มีการขยายตัวภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) ทำให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคในกลุ่มสิ่งทอทางการแพทย์ หรือ “Medical Textiles” เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนจากมูลค่าตลาด Medical Textiles ของโลกที่มีมูลค่าประมาณ 24,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 ขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 4.75 ตั้งแต่ปี 2559 และมีแนวโน้มการเติบโตร้อยละ 4.5 ต่อปี ในช่วงปี 2564 – 2571

โดย สศอ. และสถาบันฯสิ่งทอ ได้เร่งดำเนินกิจกรรมให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ให้สามารถพัฒนาการผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสิ่งทอทางการแพทย์ และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยสรุปในปี 2563-2564 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสิ่งทอทางการแพทย์ จำนวน 22 ผลิตภัณฑ์ เช่น ชุด PPE Level 2 ชุดสครับของแพทย์ห้องฉุกเฉิน หน้ากากผ้าชนิด anti-bacteria หน้ากากผ้ากรองฝุ่น ถุงเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และได้ขยายไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น ชุดพยาบาลกันไวรัส ถุงเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ส่งทอป้องกันที่นอน เก้าอี้วีลแชร์ เป็นต้น สำหรับปี 2565 หรือ เฟสที่ 3 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสิ่งทอทางการแพทย์ จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกล่าวว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีบทบาทและภารกิจในการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในทุกมิติให้สามารถเติบโตได้ สำหรับกิจกรรมดังกล่าว ได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เน้นพัฒนานวัตกรรมวัสดุสิ่งทอเชิงเทคนิค และนำเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างโอกาสสิ่งทอทางการแพทย์ พร้อมผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ สำหรับผลสำเร็จในปี 2565 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสิ่งทอทางการแพทย์ จำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย

1. ชุดบรรเทาอาการออฟฟิศซินโดรมด้วยรังสีฟาร์อินฟราเรดลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ พร้อมคุณสมบัติระบายเหงื่อ และอากาศได้ดี ผ้าแห้งเร็ว เนื้อผ้านุ่ม น้ำหนักเบา มีการยืดหยุ่นดี และยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย 
2. ผ้าคลุมผ่าตัด และผ้าห่อเครื่องมือแพทย์พัฒนาผ้า 2 ชั้น โดยด้านบนสามารถซึมซับของเหลวไว้ที่ผ้าและผ้าด้านล่างป้องกันการซึมผ่านของสารคัดหลั่ง เลือด เพื่อป้องกันการสัมผัสผู้ป่วยจากการผ่าตัด
3.ผ้าห่มน้ำหนักเบารักษาอุณหภูมิ โดยเส้นใยชนิดพิเศษมาเป็นไส้ของผ้าห่ม เพื่อรักษาอุณหภูมิให้กับผู้ป่วย และเพิ่มคุณสมบัติยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย และการต้านการลามไฟ
4. ถุงบรรจุศพมีความแข็งแรงสูง ต้านการซึมของเลือดและของเหลวจากร่างกาย ป้องกันการทะลุผ่านของไวรัสได้ตามมาตรฐาน ASTM F1671 และยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย
5.ชุดชั้นในสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม พัฒนาผ้าให้มีผิวสัมผัสนุ่ม ระบายอากาศดี มีความกระชับ ยืดหยุ่นดี ยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย รวมถึงการพัฒนาเต้านมเทียมจากวัสดุยางพาราแท้ เพื่อทดแทนส่วนเดิมที่ขาดหายไป สร้างความมั่นใจให้ผู้สวมใส่
6.แผ่นลดแรงกดทับด้วยผ้า 3มิติ สำหรับผู้ป่วยติดเตียงพัฒนาและออกแบบเพื่อกระจายแรงกดทับ ลดอาการที่เกิดจากแผลกดทับสำหรับผู้ป่วยติดเตียง พร้อมคุณสมบัติยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย
7. ผ้าห่อตัวทารกแรกคลอดต้านทานการสูญเสียความร้อน รักษาอุณหภูมิ และไม่ระคายเคืองต่อผิวเด็ก
8. ชุดสำหรับผู้ป่วยติดเตียงNano-Copper Plus ยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย ลดการติดเชื้อ พร้อมออกแบบให้เหมาะสำหรับสวมใส่ได้ง่าย สำหรับผู้ป่วยติดเตียง 
9.ผ้ายึดตัวผู้ป่วย ออกแบบให้สามารถยึดตัวผู้ป่วยได้มั่งคงแข็งแรง ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บจากการผูกรัด ไม่ขวางกระบวนการไหลเวียนของเลือด ไม่รัดแน่นจนก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการขับถ่ายและปอดติดเชื้อจากการสำลัก ไม่เกิดความเสียหายต่อผิว และความอยากอาหารลดลงที่เกิดจากการผูกรัดแบบเดิม พร้อมคุณสมบัติยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย และการลามไฟ
10.ผ้าปูรองเตียงกันสารคัดหลั่ง สำหรับห้องฉุกเฉิน คุณสมบัติยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย และต้านการซึมผ่านของสารคัดหลั่ง ของเหลว และเลือด

สรุปผลการดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2563-2565 ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบสิ่งทอทางการแพทย์ทั้งหมด จำนวน 32 ผลิตภัณฑ์ โดยบางผลิตภัณฑ์ได้มีการผลักดันสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้ไม่น้อยกว่า 20

สิ่งทอ,สิ่งทอทางแพทย์, สศอ, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ