หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2561

สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2561

กลับหน้าหลัก
14.11.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 1388

สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2561

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2561 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 13.84 (ร้อยละ 19.47 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 9,181.10 ล้านเหรียญสหรัฐ (292,928.91 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 10,655.49 ล้านเหรียญสหรัฐ (363,767.89 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.84 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำพบว่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,882.35 ล้านเหรียญสหรัฐ (187,872.70 ล้านบาท) มีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.64 (ลดลงร้อยละ 0.43 ในหน่วยของเงินบาท)

ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า

สินค้าสำเร็จรูป เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแพลทินัม เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 8.95,  ร้อยละ 4.60 และร้อยละ 1.16 ตามลำดับ

สินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.92, ร้อยละ 3.09 และร้อยละ 5.44 ตามลำดับ

ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2561 ได้แก่ ฮ่องกง หากแต่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.52 เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างอย่างเครื่องประดับเงิน ได้ลดลงมากถึงร้อยละ 40.92 ส่วนสินค้าที่ยังสามารถเติบโตได้ในตลาดนี้คือ เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 2.43, ร้อยละ 0.85, ร้อยละ 1.32 และร้อยละ 8.11 ตามลำดับ ตลาดหลักลำดับถัดมา คือ สหภาพยุโรป มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10.18 การส่งออกไปยังเยอรมนี ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 43 และเบลเยียม ตลาดในอันดับ 2 ได้สูงขึ้นร้อยละ 18.45 และร้อยละ 2.29 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังเยอรมนีเป็นเครื่องประดับเงิน ส่วนเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี ในขณะที่การส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 3 หดตัวลงเล็กน้อยร้อยละ 0.81 เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับเงินได้ลดลงร้อยละ 1.39 แม้ว่าสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองจะขยายตัวได้ร้อยละ 18.47 ก็ตาม

ตลาดหลักอีกหนึ่งตลาดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.71 เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลัก รวมถึงสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ที่ต่างเติบโตได้เป็นอย่างดี

สำหรับตลาดสำคัญอื่นๆ ที่สามารถขยายตัวได้ดี อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งมีอัตราการเติบโตร้อยละ 10.73 จากการส่งออกไปยังอิสราเอล และกาตาร์ ตลาดในอันดับที่ 2 และ 3 ของไทยในภูมิภาคนี้ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.06 และ 1.16 เท่า ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังอิสราเอลเป็นเพชรเจียระไน รองลงมาเป็นเพชรก้อน ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังกาตาร์เป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นเพชรเจียระไน ที่ล้วนขยายตัวได้สูงมาก ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดที่อยู่ในอันดับ 1 ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.60 เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนได้ลดลงมากถึงร้อยละ 54.03 ส่วนเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักเติบโตได้ไม่มากนักเพียงร้อยละ 9.78

ตลาดจีนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.09 เนื่องมาจากการส่งออกกว่าครึ่งหนึ่งเป็นสินค้าเครื่องประดับเงิน รองลงมาเป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับทอง ที่ต่างขยายตัวได้ร้อยละ 32.68, ร้อยละ 4.08 และร้อยละ 1.35 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยังอาเซียนแม้ว่าจะยังมีสัดส่วนการส่งออกน้อยอยู่แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตได้ดี หากแต่ผู้ประกอบการจะต้องพยายามรุกตลาดประเทศอาเซียนให้มากขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปยังอาเซียนได้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 6.14 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ และเวียดนาม ตลาดที่อยู่ในอันดับ 1 และ 3 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.43 และร้อยละ 31.76 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสิงคโปร์เป็นเครื่องประดับเทียม รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน สำหรับสินค้าส่งออกหลักไปยังเวียดนามเป็นอัญมณีสังเคราะห์ รองลงมาเป็นเพชรเจียระไน และโลหะเงิน ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี ส่วนการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 2 อย่างมาเลเซีย หดตัวลงร้อยละ 42.79 จากการส่งออกเครื่องประดับเงินซึ่งเป็นสินค้าหลัก และเครื่องประดับทอง สินค้าสำคัญลำดับถัดมาได้ลดน้อยลง ด้านการส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ยังคงมีมูลค่าขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 14.98 อันเป็นผลมาจากการส่งออกไปยังรัสเซีย ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดราวร้อยละ 87 โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกเครื่องประดับเงิน รองลงมาเป็นพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งขยายตัวได้ดี ส่วนคาซัคสถาน ตลาดในอันดับ 3 ก็เติบโตได้ร้อยละ 34.12 จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน สินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 83 และเครื่องประดับทอง สินค้าสำคัญรองลงมาได้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกไปยังยูเครน ซึ่งอยู่ในอันดับ 2 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 33.17 อันเป็นผลจากการส่งออกทั้งสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน และสินค้าสำคัญลำดับถัดมาอย่างเครื่องประดับทองได้ลดน้อยลงมาก

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

31 ตุลาคม 2561


*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2561, ม.ค.-ก.ย., สะสม 9 เดือน