หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม ปี 2560

สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม ปี 2560

กลับหน้าหลัก
14.07.2560 | จำนวนผู้เข้าชม 991

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2560มีมูลค่าลดลงร้อยละ 22.63 (ร้อยละ 23.92 ในหน่วยของเงินบาท) จากเดิมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ที่มีมูลค่า 6,713.33 ล้านเหรียญสหรัฐ (238,261.73 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 5,194.32 ล้านเหรียญสหรัฐ (181,275.86 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.57 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าส่งออกไม่รวมทองคำฯ พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,922.14 ล้านเหรียญสหรัฐ (101,796.46 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 0.56 (ร้อยละ 2.22 ในหน่วยของเงินบาท)
 

แผนภาพตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในเดือนมกราคม – พฤษภาคมปี 2560


 

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ คือทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูปในสัดส่วนร้อยละ 43.74 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวมและมีมูลค่าลดลงร้อยละ 39.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 เนื่องมาจากการส่งออกที่ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหากพิจารณามูลค่าการส่งออกในเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวพบว่าหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 41.67 สอดคล้องกับราคาทองคำในเดือนดังกล่าวที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,245 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ (http://www.kitco.com) เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินสกุลเหรียญสหรัฐ จากกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน ประกอบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดีดตัวสูงขึ้นและนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งในฝรั่งเศส หลังจากที่นายเอมมานูเอล มาครอง ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยลง ทั้งนี้ การส่งออกทองคำฯ ที่ลดลงนั้น สอดคล้องกับรายงานของสภาทองคำโลก (WGC) ที่รายงานว่า ความต้องการทองคำทั่วโลกในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 18 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
 

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.77ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม ปรับตัวลดลงร้อยละ0.99โดยการส่งออก เครื่องประดับทองมีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.15อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ตลาดหลักใน 2 อันดับแรกได้ลดลงร้อยละ 9.75 และร้อยละ 11.71 ตามลำดับ เครื่องประดับเงินเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 12.12จากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเยอรมนี และฮ่องกง ตลาดในอันดับ 2 และ 3 ที่มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 4.09 และ 1.01 เท่า ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอันดับ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 8.62เครื่องประดับแพลทินัมปรับตัวลดลงร้อยละ 42.40 เนื่องจากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตลาดหลักใน 2 อันดับแรกที่ครองส่วนแบ่งรวมกันกว่าร้อยละ 65 ได้ลดลงร้อยละ 24.69 และร้อยละ 60.29 ตามลำดับ
 

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 12.80 มีมูลค่าลดลงร้อยลง 6.37 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยมีเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ซึ่งยังคงหดตัวลดลงต่อเนื่องร้อยละ 6.51 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง เบลเยียม และอินเดีย ตลาดหลักใน 3 อันดับแรก ที่ต่างปรับตัวลดลงร้อยละ 5.61, ร้อยละ 4.60 และร้อยละ 18.54 ตามลำดับ
 

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ในสัดส่วนร้อยละ 9.94 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย และขยายตัวได้ร้อยละ 7.31 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต)เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.95 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 3 อันดับแรกอย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 29.62, ร้อยละ 17.22 และร้อยละ 5.02 ตามลำดับ อีกทั้งตลาดอินเดีย และจีน ซึ่งอยู่ในอันดับ 4 และ 5 ก็เติบโตได้สูงกว่า 1.41 เท่า และร้อยละ 20.96 ตามลำดับส่วนการส่งออกพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องร้อยละ 10.04 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกงสหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดหลักใน 3 อันดับแรก ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.72, ร้อยละ 16.56 และร้อยละ 10.85 ตามลำดับ
 

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.46 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.48 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญในอันดับ 2 อย่างสหรัฐอเมริกา ได้ลดลงมากถึงร้อยละ 35.42 แม้ว่าการส่งออกไปยังลิกเตนสไตน์ ตลาดในอันดับ 1 จะขยายตัวได้ร้อยละ 27.54 ก็ตาม

(โดยมีรายละเอียดตามแนบ)
 

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

30 มิถุนายน 2560
 

 

*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”   

git, นำเข้า-ส่งออก, นำเข้าส่งออกอัญมณี, พฤษภาคม, 2560, สถานการณ์ , อัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรม