การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 มีมูลค่าลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.47 (ร้อยละ 10.32 ในหน่วยของเงินบาท) หรือมีมูลค่า 5,163.00 ล้านเหรียญสหรัฐ (162,348.17 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ที่มีมูลค่า 5,187.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (181,023.71 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.96 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย โดยมูลค่าการส่งออกที่ลดลงมาจากการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปในสัดส่วนราวร้อยละ 39ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 10.96 เมื่อหักทองคำออก การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 3,139.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (98,712.10 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7.71 (ลดลงร้อยละ 2.79 ในหน่วยของเงินบาท)
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญพบว่า
สินค้าสำเร็จรูปเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับแพลทินัมเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.61 และร้อยละ 0.12 ตามลำดับส่วนเครื่องประดับเงิน หดตัวลงร้อยละ 2.04
สินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนขยายตัวได้ร้อยละ 7.35, ร้อยละ 7.55และร้อยละ 4.34ตามลำดับ
ตลาด/ภูมิภาคสำคัญในการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ)ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 ได้แก่ ฮ่องกง ตลาดหลักที่มีสัดส่วนสูงสุดราวร้อยละ 26 หากแต่ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.63 เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 1.62 และร้อยละ 0.42 ตามลำดับ ตลาดหลักลำดับถัดมาคือสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เติบโตได้ร้อยละ 11.52 และร้อยละ 9.50 ตามลำดับเนื่องมาจากผู้บริโภคของทั้ง 2 ตลาดมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ ปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ดี จึงทำให้มีความต้องบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้นส่วนสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินหดตัวลงเล็กน้อยโดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสหภาพยุโรปเป็นเครื่องประดับเงิน รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง ที่ยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นเครื่องประดับทอง และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเพชรเจียระไน ก็ต่างมีมูลค่าเติบโตสูงขึ้น
ส่วนตลาดที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งมีมูลค่าเติบโตร้อยละ 15.32 ส่วนหนึ่งมาจากความนิยมสินค้าฝีมือของคนไทย และอีกส่วนหนึ่งมาจากหลายประเทศหันมานำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงมากขึ้นจากเดิมที่นำเข้าผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งผลให้ไทยส่งออกเครื่องประดับทองไปยังกาตาร์ อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และตุรกี ตลาดในอันดับ 2, 4, 5 และ 6 ได้สูงขึ้น และส่งออกเพชรเจียระไนไปยังอิสราเอล ตลาดอันดับ 3 ของไทยในภูมิภาคนี้ได้เพิ่มขึ้นด้วยในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคนี้ลดลงต่อเนื่อง ที่แม้ว่าสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองจะยังเติบโตได้ หากแต่สินค้าสำคัญอื่นอย่างเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไนกลับปรับตัวลดลงมาก
สำหรับการส่งออกไปยังอินเดีย ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 35.48 ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจของอินเดียที่เติบโตดี โดยรัฐบาลอินเดียคาดว่าในปีงบประมาณ 2561 นี้อินเดียจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 7.0-7.5 นับว่าเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตมากที่สุดในโลก ส่งผลให้ชาวอินเดียมีความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มมากขึ้น โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังอินเดียเป็นเพชรเจียระไนที่ขยายตัวได้สูงถึงราวร้อยละ 46
ส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่ยังเติบโตได้นั้น น่าจะมาจากความนิยมสินค้าเครื่องประดับเงินไทย ด้วยเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีความประณีตสวยงาม และราคาเหมาะสม จึงมีผลทำให้ไทยส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถานได้เพิ่มสูงขึ้นมาก
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กรกฎาคม 2561
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ