หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมกราคม 2568

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมกราคม 2568

กลับหน้าหลัก
03.03.2568 | จำนวนผู้เข้าชม 306

ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมกราคม 2568 

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 489.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 311.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.1 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 178.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 545.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 335.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 210.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 โดยภาพรวมดุลการค้าขาดดุล คิดเป็นมูลค่า 55.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก 

เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์และเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ที่ร้อยละ 4.9 และ 8.7 ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้ายและผ้าผืน ลดลงร้อยละ 1.5 และ 2.5 โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) พบว่า มีเพียงผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9

ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนมกราคม 2568 

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 88.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดปากีสถาน สหรัฐอเมริกา และจีนในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0, 7.6 และ 19.1 ตามลำดับ 

ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนมกราคม 2568 

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 40.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 8.7 ขณะที่การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดจีนและเวียดนามในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 และ 76.2

ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนมกราคม 2568 

การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 78.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ปรับตัวลดลง ได้แก่ การส่งออกไปยังตลาดเวียดนามและกัมพูชา ลดลงร้อยละ 18.6 และ 7.4 ขณะที่การส่งออกผ้าผืนของไทยไปยังตลาดบังกลาเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.9

ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนมกราคม 2568 

การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 178.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นและเบลเยียม ลดลงร้อยละ 11.3 และ 21.2 

ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก

เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นตลอด Supply chain ของอุตสาหกรรม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) และเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY)

ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนมกราคม 2568 

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 139.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเส้นด้ายเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8 และ 37.3 แต่นำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 4.2

ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนมกราคม 2568 

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 195.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6, 9.1 และ 63.9 ตามลำดับ     

ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนมกราคม 2568 

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมกราคม 2568 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 159.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และกัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2, 38.3 และ 132.1 ตามลำดับ 

ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการส่งออกในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้

การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ในภาพรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดปากีสถาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.1 แต่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและจีนในเดือนนี้ ลดลงร้อยละ 10.4 และ 22.1

การส่งออกเส้นด้ายในภาพรวม ลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นและจีน ลดลงร้อยละ 4.2 และ 4.4 แต่การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดเวียดนามในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 

สำหรับการส่งออกผ้าผืนในภาพรวม ลดลงร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนามและบังกลาเทศ ลดลงร้อยละ 19.6 และ 1.1 แต่การส่งออกผ้าผืนของไทยไปตลาดกัมพูชาในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3

และการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม ทรงตัวหรือลดลงร้อยละ 0.03 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 6.2 แต่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นและเบลเยียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 และ 20.5 

ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)

และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมกราคม 2568 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการนำเข้าในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้ 

การนำเข้าเส้นด้ายในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) โดยนำเข้าเส้นด้ายเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.2, 26.1 และ 18.0 ตามลำดับ

การนำเข้าผ้าผืนในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7, 59.8 และ 60.3 ตามลำดับ 

และการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และกัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4, 72.4 และ 12.1 ตามลำดับ 

ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนมกราคม 2568

สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนมกราคม 2568 มีมูลค่า 489.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกในเดือนดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย พบว่า ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง ยังคงส่งผลบวกต่อการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในเดือนนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศสหรัฐฯ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการค้าโลกที่เกิดขึ้น

สรุปการส่งออกในเดือนนี้ (เดือนมกราคม 2568) พบว่า มูลค่าการส่งออกรวมของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย มีมูลค่า 489.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ขณะที่การนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 545.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 19.3 ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลเป็นเดือนแรก ข้อกังวลสำคัญ คือ มูลค่าการนำเข้าที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นตลอด Supply chain ของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกที่เกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการส่งออกสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของไทยปรับตัวลดลง และอาจส่งผลให้ภาพรวมการค้าเกิดการขาดดุลสำหรับอุตสาหกรรมในปีนี้

-----------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง : 

        ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

-----------------------------------------

จัดทำและเรียบเรียงโดย 

ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) 

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

3 มีนาคม 2568

 

ภาวะสิ่งทอ, รายงานวิเคราะห์, อุตสาหกรรม, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, Import, Export, Textile, Clothing, ปี 2568, เดือนมกราคม, สะสม, 1 เดือน, เดือนมกราคม-มกราคม, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'68