สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-ธันวาคม 2567
สถานการณ์นำเข้า
การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2567 มีมูลค่า 21,492.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.43 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยนำเข้าสินค้าหลักอย่างทองคำฯ ในสัดส่วนร้อยละ 71.52 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 94.12 สินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับแท้ เติบโตได้ร้อยละ 10.65 โดยร้อยละ 69 เป็นการนำเข้าเครื่องประดับทองที่มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 2.27 และเครื่องประดับเงิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.54 สำหรับสินค้าอันดับ 4 คือ พลอยสี มีสินค้าหลัก คือ พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 10.64 และร้อยละ 5.46 ตามลำดับ เช่นเดียวกับโลหะเงิน สินค้าอันดับที่ 5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.32 ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้า ลดลง ได้แก่ เพชร ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพชรเจียระไน ซึ่งลดลงร้อยละ 13.11
ทั้งนี้ สินค้านำเข้าส่วนใหญ่ราวร้อยละ 89 ประกอบด้วยทองคำฯ เพชร พลอยสี โลหะเงิน และอัญมณีสังเคราะห์ อยู่ในหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ ซึ่งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้นเพชร
ตารางที่ 1 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2567
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.49 เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีมูลค่า 14,636.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 18,367.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็น สินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.11 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 9,609.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10.99 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.62 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2567
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566 และปี 2567
ที่มา: กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบปี 2567 คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.68 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม โดยรวมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.48 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยของตลาดโลกในเดือนธันวาคมปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 2,644.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยราคาทองคำปรับตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ปรับตัวสูงขึ้นใกล้ระดับสูงสุดนับในรอบเกือบ 8 เดือน รวมทั้งในช่วงปลายปีทองคำมักเคลื่อนไหว ไม่มากนักจากการชะลอการซื้อขายเพื่อเตรียมตัวเฉลิมฉลองในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ขณะที่กองทุนทองคำ SPDR เทขายทองคำสุทธิในเดือนธันวาคม 6.03 ตัน
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 26.40 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.11 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.91 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอิตาลี ซึ่งเป็นตลาดอันดับที่ 1-2 และ 4 ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.91, ร้อยละ 9.94 และร้อยละ 6.59 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 3 และ 5 อย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลงร้อยละ 11.48 และร้อยละ 2.23 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.22 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดทั้ง 5 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.89, ร้อยละ 11.41, ร้อยละ 76.38, ร้อยละ 0.21 และร้อยละ 2.21 ตามลำดับ การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม เติบโตได้ร้อยละ 24 เป็นผล จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และอินเดีย ตลาด อันดับที่ 1, 3 และ 5 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 166.98, ร้อยละ 64.42 และร้อยละ 9,600.33 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดใน อันดับ 2 และ 4 อย่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์หดตัวลงร้อยละ 0.64 และร้อยละ 72.67 ตามลำดับ
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วน ร้อยละ 11.40 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ โดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.99 โดยสินค้าส่งออกหลักใน หมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.64 จากการส่งออกไปยังฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา ตลาดใน 2 อันดับแรก ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.16 และร้อยละ 5.69 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 3-5 อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ปรับตัวลงร้อยละ 15.65, ร้อยละ 0.06 และร้อยละ 9.02 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 5.35 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ตลาดสำคัญในอันดับ 3 และ 4 ได้ ลดลงร้อยละ 20.12 และร้อยละ 34.18 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 1-2 และ 5 อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ยังขยายตัวได้ร้อยละ 0.35, ร้อยละ 6.08 และร้อยละ 9.28 ตามลำดับ
เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 6.58 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.35 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ปรับตัวลงร้อยละ 7.53 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง เบลเยียม อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ตลาดสำคัญอันดับที่ 1, 3-5 ได้ลดลงร้อยละ 7.96, ร้อยละ 20.28, ร้อยละ 5.35 และร้อยละ 26.30 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 2 อย่างอินเดีย ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 11.50
แพลทินัม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.86 เติบโตได้สูงถึงร้อยละ 4,497.57 จากการส่งออกไปยังอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดในอันดับ 1 เพิ่มขึ้นจากที่ไม่เคยส่งออกในปีก่อนหน้า รวมทั้งญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ตลาดอันดับ 2-3 ได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.71 และร้อยละ 30.51 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 4-5 อย่างเยอรมนีและเวียดนาม หดตัวลงร้อยละ 82.88 และร้อยละ 47.86 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา อินเดียปรับลดภาษีนำเข้าแพลทินัมลงจากร้อยละ 15.4 เหลือร้อยละ 6.4 เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ทำให้มีการนำเข้าแพลทินัมเพิ่มขึ้น โดยมากกว่าร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CEPA ระหว่างกัน
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566 และปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบปี 2567 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.99 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยัง ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี เบลเยียม อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1-4, 6-7 และ 10 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.69, ร้อยละ 14.51, ร้อยละ 118.04, ร้อยละ 9.63, ร้อยละ 16.25, ร้อยละ 2.34 และร้อยละ 5.40 ตามลำดับ ส่วนสหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดอันดับที่ 5 และ 8-9 ลดลงร้อยละ 5.37, ร้อยละ 0.30 และร้อยละ 7.77 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยัง ฮ่องกง ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 13.16, ร้อยละ 9.94 และร้อยละ 0.35 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเทียม ลดลงร้อยละ 7.96 และร้อยละ 0.66 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไป สหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวได้มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ที่มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 68 ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.91 และร้อยละ 18.89 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ก็เติบโตได้ร้อยละ 5.69 และร้อยละ 6.08 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 26.30
ขณะที่การส่งออกไปยัง อินเดีย เติบโตสูงขึ้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างแพลทินัม ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 41 เพิ่มขึ้นจากที่ไม่เคยมีการส่งออกในปีก่อนหน้า (เนื่องจากตั้งแต่กรกฎาคมปีที่ผ่านมา อินเดียปรับลดภาษีนำเข้าแพลทินัมลงจากร้อยละ 15.4 เหลือร้อยละ 6.4) รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเครื่องประดับเงิน เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 76.38, ร้อยละ 11.50, ร้อยละ 9.95 และร้อยละ 9.28 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ ลดลงร้อยละ 57.59
สำหรับการส่งออกไป เยอรมนี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนร้อยละ 74) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.41 และร้อยละ 36.72 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 5.60, ร้อยละ 8.52 และร้อยละ 33.44 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้ารองหลายรายการอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.80, ร้อยละ 159.68, ร้อยละ 8.16 และ ร้อยละ 42.96 ตามลำดับ มีเพียงเพชรเจียระไนสินค้าหลักที่ลดลงร้อยละ 20.28
การส่งออกไป อิตาลี มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับทอง (ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนร้อยละ 59) รวมทั้งสินค้าสำคัญเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.70 และร้อยละ 17.01 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 9.02 และร้อยละ 25.25 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ที่ขยายตัวได้ เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับทอง เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.69, ร้อยละ 31.76 และร้อยละ 7.19 ตามลำดับ ขณะที่เครื่องประดับแพลทินัมลดลงร้อยละ 0.64
การส่งออกไป สหราชอาณาจักร ซึ่งลดลงนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 11.48, ร้อยละ 3.38, ร้อยละ 39.53 และร้อยละ 25.38 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงินและเพชรเจียระไน ยังขยายตัวได้ร้อยละ 0.21 และร้อยละ 153.34 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หดตัวลงจากการส่งออกเครื่องประดับทองและเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 2.23 และร้อยละ 34.90 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 10.41 และร้อยละ 34.83 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งปรับตัวลดลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน และเพชรเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 15.65, ร้อยละ 20.12 และร้อยละ 11.50 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 16.81
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยใน เดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.49 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.99 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.25 มีรายละเอียดดังตารางที่ 4 โดยสินค้าของไทยที่เติบโตได้ดี คือ เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและ เนื้ออ่อนเจียระไน
ตารางที่ 4 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566 และปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2567 นั้น มีการฟื้นตัวมากขึ้น แต่การเติบโตทั่วโลกฟื้นตัวยังไม่กระจายไปในทุกภูมิภาค จากการใช้นโยบายเพื่อลดระดับอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฟดที่ปรับลดดอกเบี้ยเชิงนโยบายตลอดปี 2567 จำนวน 3 ครั้ง มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.25-4.50 ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังเป็นกำลังสำคัญตลอดปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเติบโตของภาคบริการที่เข้มแข็ง ร่วมกับความ เชื่อมั่นผู้บริโภคทะยานสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ในยูโรโซนเศรษฐกิจยังเปราะบางมีการฟื้นตัวต่ำ และความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของสหภาพยุโรปเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จีนซึ่งได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอการบริโภคยังไม่ฟื้นตัว มีเพียงอินเดียซึ่งสามารถได้เติบโตได้ดี โดยคาดการณ์ว่า ปีงบประมาณ 2567/2568 จะเติบโตประมาณร้อยละ 6.5 ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส รวมทั้งนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเก็บภาษีนำเข้าประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ ในลำดับต้น ๆ และมาตรการตอบโต้ด้านต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ มองว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการค้าในระยะอันใกล้ หลายปัจจัยนี้จะมีผลต่อเนื่องและอาจเป็นกำแพงกีดกันการค้าโลกในปี 2568
ในช่วงที่ผ่านมานั้น อุตสาหกรรมค้าปลีกได้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล โดยพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแนวทางจากการขับเคลื่อนด้วยเทรนด์สำหรับคนจำนวนมากไปเป็นประสบการณ์ ส่วนบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยความมีเอกลักษณ์สำหรับแต่ละบุคคล หรือเปลี่ยนจากแบบกลุ่มขนาดใหญ่เป็นแบบกลุ่มย่อย โดยปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ทั้งการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า การตลาด และการทำธุรกิจในด้านต่าง ๆ ซึ่งรายงานจาก Deloitte เห็นว่า ในปี 2568 นี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลอาจเป็นปีแห่งการพัฒนาที่สำคัญของธุรกิจที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ธุรกิจยังคงต้องยึดเป้าหมาย 3 ประการ คือ การดึงดูดผู้บริโภค เชิงคุณค่า การปลดล็อคการเชื่อมโยงช่องทางแบบ Omnichannel และการสร้างประสิทธิภาพความเชี่ยวชาญ สำหรับตลาดแบบเฉพาะบุคคลมากให้ขึ้น
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มกราคม 2568
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”