หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2567

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2567

กลับหน้าหลัก
11.07.2567 | จำนวนผู้เข้าชม 200

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2567

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2567 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 6,433.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 6,324.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.25 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 3,851.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11.24 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนพฤษภาคม 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.35 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567

 ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2567

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 5 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.09 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 16.79 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2,352.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ราคาทองคำตลาดโลกได้ปัจจัยหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่า รวมถึงการชะลอตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ นับแต่เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของ สหรัฐจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.3 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนสัญญาณทางเทคนิคของราคาทองคำยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น เช่นเดียวกับกองทุนทองคำ SPDR ที่ยังคงซื้อทองคำสุทธิติดต่อกันนับแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นมา

เครื่องประดับแท้เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 30.62 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.87 โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ เครื่องประดับทอง ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.48 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อิตาลี และกาตาร์ และซึ่งเป็นตลาดอันดับที่ 1-3 และ 5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.74, ร้อยละ 38.55, ร้อยละ 3.09 และร้อยละ 27.42 ตามลำดับ มีเพียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับ 4 ลดลงร้อยละ 1.85 ส่วนเครื่องประดับเงิน ขยายตัวได้ร้อยละ 24.51 เนื่องจากการส่งออก ไปยังตลาดอันดับที่ 1-4 อย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และสหราชอาณาจักร ได้สูงขึ้นร้อยละ 18.54, ร้อยละ 21.87, ร้อยละ 191.98 และร้อยละ 6.58 ตามลำดับ ส่วนออสเตรเลีย ตลาดอันดับ 5 หดตัวลงร้อยละ 8.23 การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม ปรับตัวลดลงร้อยละ 40.46 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 1 และ 4 ได้ลดลงร้อยละ 4.72 และร้อยละ 8.66 ตามลำดับ ส่วนการ ส่งออกไปยังตลาดอันดับ 2, 3 และ 5 ทั้งฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.05, ร้อยละ 11.31 และ ร้อยละ 426.29 ตามลำดับ

พลอยสีเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วน ร้อยละ 15.25 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.74 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และ มรกต) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 จากการส่งออกไปยังตลาดใน 4 อันดับแรก อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์และ ฝรั่งเศส ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.89, ร้อยละ 2.67, ร้อยละ 9.03 และร้อยละ 8.61 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 5.90 เป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1-2 และ 4-5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 17.06, ร้อยละ 1.01, ร้อยละ 30.82 และร้อยละ 15.34 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์นั้น ลดลงร้อยละ 3.40

เพชร  เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 9.50 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เติบโตได้ร้อยละ 11.99 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.72 มาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง อินเดีย และอิสราเอล ตลาดสำคัญอันดับที่ 1-2 และ 5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 22.81, ร้อยละ 81.43 และร้อยละ 12.05 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 3 และ 4 ทั้ง เบลเยียมและสหรัฐอเมริกา ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.16 และร้อยละ 31.18 ตามลำดับ ทั้งนี้นับตั้งแต่สหรัฐและยุโรปออก มาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซียหลายระลอก รวมทั้งการห้ามนำเข้า ซื้อขาย หรือโอนเพชรธรรมชาติและเพชรสังเคราะห์ที่มีถิ่นกำเนิดหรือส่งออกจากรัสเซีย ทำให้มูลค่าการส่งออกเพชรที่เคยสูงเป็นลำดับ 3 ตกลงมาตามหลังพลอยสีตั้งแต่ปีก่อนหน้า

เครื่องประดับเทียม  เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.03 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.93 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1-3 อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเบลเยียม ได้สูงขึ้นร้อยละ 34.56, ร้อยละ 28.60 และร้อยละ 839.51 ตามลำดับ ส่วนฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 4 และ 5 ลดลงร้อยละ 1.43 และร้อยละ 9.45 ตามลำดับ  

ตารางที่ 2  มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2566 และปี 2567

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2567 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สหราชอาณาจักร อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1-8 และ 10 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.84, ร้อยละ 8.41, ร้อยละ 80.64, ร้อยละ 14.96, ร้อยละ 15.26, ร้อยละ 57.68, ร้อยละ 2.36, ร้อยละ 0.10 และร้อยละ 5.31 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 9 ลดลงร้อยละ 16.74 ตามลำดับ

การส่งออกไป ฮ่องกง ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 16.89, ร้อยละ 22.81, ร้อยละ 38.55 และร้อยละ 17.06 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน ลดลงร้อยละ 3.68

มูลค่าการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 63) ได้สูงขึ้นร้อยละ 11.74 และร้อยละ 18.54 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.67 และร้อยละ 1.01 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 31.18

ส่วนการส่งออกไป อินเดีย ซึ่งเติบโตได้นั้น เป็นผลจาก การส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ที่มีสัดส่วนราว ร้อยละ 39) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.43 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่าง เครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 191.98, ร้อยละ 13.63 และร้อยละ 15.34 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์ หดตัวลงร้อยละ 46.89 

สำหรับการส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่ขยายตัวได้นั้น จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนร้อยละ 77) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับทอง ได้สูงขึ้นร้อยละ 21.87, ร้อยละ 8.23 และร้อยละ 5.13 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 32.02 และร้อยละ 11.03 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน และสินค้ารองมาอย่างเครื่องประดับทอง ได้สูงขึ้นร้อยละ 9.03 และร้อยละ 58.85 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 3.40, ร้อยละ 9.45 และร้อยละ 34.91 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 839.51, ร้อยละ 1,226.85, ร้อยละ 83.78 และร้อยละ 49.88 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 9.16

การส่งออกไป สหราชอาณาจักร ที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงิน และเพชรเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 6.58 และร้อยละ 196.47 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 3.38, ร้อยละ 15.30, ร้อยละ 31.41 และร้อยละ 0.78 ตามลำดับ 

ส่วนการส่งออกไปยัง อิตาลี เติบโตขึ้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 58) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.09 รวมทั้งเครื่องประดับเงิน และเพชรเจียระไน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.46 และร้อยละ 149.55 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลง

ขณะที่การส่งออกไป ญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง และสินค้า รองลงมาอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.14, ร้อยละ 8.68 และ ร้อยละ 11.09 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2567

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.70 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.24 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.51 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าของไทยที่เติบโตได้ดีคือ เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2566 และปี 2567

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น เมื่อพิจารณาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของโลก (PMI) เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น อยู่ที่ระดับ 50.3 แม้จะยังอยู่ในระดับใกล้เคียง 50 แต่เมื่อพิจารณาในระยะข้างหน้า ภาคการผลิตของโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดฝั่งยุโรปเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อหลายประเทศในยุโรปลดลง ทำให้ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.75 ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังค่อนข้างฟื้นตัวช้ากว่า โดยคาดว่าในปีนี้เฟดอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1-2 ครั้ง จากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจต่อไป ทั้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง และรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง เช่นเดียวกับสงครามการค้าที่มีการนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ตอบโต้ ระหว่างกันของสหรัฐฯ-จีน ซึ่งกระทบต่อการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์ในรอบ 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกยังเพิ่มขึ้นได้จากหลายปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อย่างการบริโภคในยุโรปที่ฟื้นตัวขึ้นในหลายประเทศ การถือครองทองคำและเครื่องประดับทองเพื่อเก็งกำไร รวมทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นปัจจัยส่งเสริม

ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้พัฒนามาสู่ยุคของ Gen AI ที่เพิ่มความสามารถจากเอไอแบบเดิม ทำให้มีหลายบริษัทนำมาใช้ในหลายรูปแบบที่ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยังช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ทั้งการสร้างเนื้อหา วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ทำนายแนวโน้มตลาด ตอบคำถามลูกค้าอัตโนมัติแล้ว ภาคธุรกิจยังมีการนำมาใช้ทำ Content Marketing ตั้งแต่การวางแผน การคิดคอนเทนต์ ไปจนถึงการช่วยผลิตคอนเทนต์ทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ คลิปวิดีโอที่รวดเร็วมากขึ้น เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ทำ ให้เกิด Content จำนวนมากปรากฎขึ้นในแต่ละวัน ดังนั้น ปริมาณจึงไม่ใช่คำตอบจากการใช้Gen AI ผลิตเนื้อหา แต่ต้องโฟกัสที่การสร้างด้วยปริมาณน้อยแต่มากด้วยเนื้อหาและสื่อถึงตัวตนที่ต้องการเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดข้อแตกต่างแม้จะใช้เอไอเหมือนกัน ฉะนั้น การนำเอไอมาใช้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่อีกแล้ว แต่การใช้อย่างเข้าใจและต่อยอดได้ตรงจุดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เนื้อหามีคุณภาพที่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใดก็ตาม 

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

กรกฎาคม 2567


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

 

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2567, สะสม 5 เดือน, มกราคม-พฤษภาคม, GIT Information Center