สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2567
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2567 ลดลงร้อยละ 8.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 5,392.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 4,915.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.21 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 3,025.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 13.39 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนเมษายน 2567 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 26.10 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566 และปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดใน 4 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนร้อยละ 38.45 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งมีมูลค่าลดลงร้อยละ 30.61 ซึ่งราคาทองคำโดยเฉลี่ยในตลาดโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ระดับ 2,335.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) เป็นผลจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงและแรงหนุน จากการเข้าซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงหลังตัวเลขจีดีพี ไตรมาสแรกปี 2567 ของสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.6 ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ร้อยละ 2.4 รวมไปถึงธนาคารกลางหลายประเทศเข้าซื้อทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองต่อเนื่อง จากเหตุความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ 2,431 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ทั้งยังมีโอกาสที่ราคายังไปต่อได้อีกในอนาคต รวมทั้งภาพรวมของกองทุนทองคำ SPDR เดือนเมษายน ซื้อสุทธิ 2.04 ตัน
เครื่องประดับแท้เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 31.06 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.42 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.76 มาจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับที่ 1-4 อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อิตาลี และกาตาร์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 38.97, ร้อยละ 14.73, ร้อยละ 5.37 และร้อยละ 28.51 ตามลำดับ มีเพียงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 5 ลดลงร้อยละ 2.88 ส่วนเครื่องประดับเงิน ขยายตัวได้ร้อยละ 27.37 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดใน 4 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย และ สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.67, ร้อยละ 27.16, ร้อยละ 292.44 และร้อยละ 3.44 ตามลำดับ ส่วนออสเตรเลีย ตลาดอันดับ 5 ลดลงร้อยละ 2.01 การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม หดตัวลงร้อยละ 41.91 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอันดับ 1 และ 4 อย่างญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ลดลงร้อยละ 11.89 และร้อยละ 8.48 ตามลำดับ ส่วนฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดอันดับ 2-3 และ 5 ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 154.85, ร้อยละ 8.40 และร้อยละ 198.56 ตามลำดับ
พลอยสีเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 15.01 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.60 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.99 สืบเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1-2 และ 4-5 อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.78, ร้อยละ 17.70, ร้อยละ 7.76 และร้อยละ 8.60 มีเพียงอิตาลีตลาดในอันดับ 3 ที่ลดลงร้อยละ 13.48 ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตได้ร้อยละ 23.73 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ตลาดในอันดับ 1-2 และ 4 ได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.11, ร้อยละ 23.64 และร้อยละ 54.08 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 3 และ 5 อย่างสวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี หดตัวร้อยละ 1.09 และร้อยละ 0.15 ตามลำดับ
เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.92 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.30 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ขยายตัวได้ร้อยละ 11.72 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 1-2 และ 4 อย่างฮ่องกง อินเดีย และอิสราเอล ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.68, ร้อยละ 75.34 และร้อยละ 14.92 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังเบลเยียมและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับที่ 3 และ 5 ปรับตัวลงร้อยละ 5.98 และร้อยละ 44.52 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.10 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.83 มาจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเบลเยียม ตลาดสำคัญอันดับ 1-3 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.67, ร้อยละ 26.92 และ ร้อยละ 1,873.90 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอันดับ 4-5 ได้แก่ ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ลดลงร้อยละ 1.12 และร้อยละ 6 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้า ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566 และปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2567 ขยายตัวได้ร้อยละ 13.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี เบลเยียม อิตาลีสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น ล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.20, ร้อยละ 11.91, ร้อยละ 90.33, ร้อยละ 16.62, ร้อยละ 69.43, ร้อยละ 2.31, ร้อยละ 2.13, ร้อยละ 26.54 และร้อยละ 5.99 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดอันดับที่ 8 ลดลงร้อยละ 19.93
มูลค่าการส่งออกไปยัง ฮ่องกง ที่ขยายตัวได้นั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการเพิ่มขึ้น ได้แก่ พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพชรเจียระไน เครื่องประดับทองและเครื่องประดับเทียม ต่างขยายตัวได้ ร้อยละ 8.78, ร้อยละ 43.11, ร้อยละ 25.68, ร้อยละ 38.97 และร้อยละ 26.92 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา เติบโตได้ดีนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ที่มีสัดส่วนรวมกันสูงถึงร้อยละ 64) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.73 และร้อยละ 14.67 ตามลำดับ รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน สินค้าสำคัญถัดมาก็เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 17.70 และร้อยละ 23.64 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 44.52
ส่วนการส่งออกไป อินเดีย ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 39) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.34 รวมถึงสินค้าสำคัญรองลงมาทั้งเครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ล้วนปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 292.44, ร้อยละ 10.01 และร้อยละ 20.06 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกอัญมณีสังเคราะห์ หดตัวลงร้อยละ 34.04
การส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลัก (ในสัดส่วน ร้อยละ 77) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.16 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเทียม ล้วนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23 และร้อยละ 2.87 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกพลอย เนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 37 และร้อยละ 7.50 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งสูงขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ อย่างพลอยเนื้อแข็งและ เนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียมได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกเพียงเล็กน้อย รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเครื่องประดับทอง ก็เติบโตสูงขึ้นถึงร้อยละ 70.35
ขณะที่การส่งออกไปยัง อิตาลี ที่เติบโตได้นั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนร้อยละ 59) ได้สูงขึ้นร้อยละ 5.37 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่าง เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับเทียม ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.03 และร้อยละ 88.75 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ที่ขยายตัวได้เป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับเงินและเพชรเจียระไน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.44 และร้อยละ 133.17 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 1.43, ร้อยละ 29.74 และร้อยละ 5.48 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเติบโตได้นั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง และสินค้าลำดับรองมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.24 และร้อยละ 8.60 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนลดลงร้อยละ 1.09
การส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญทั้งเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.84, ร้อยละ 4.53 และ ร้อยละ 12.89 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 16.04 และร้อยละ 15.74 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่หดตัวลงนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนถึงร้อยละ 67) รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 2.88, ร้อยละ 57.11 และร้อยละ 28.13 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนยังเติบโตได้ร้อยละ 38.79
แผนภาพที่ 1 แผนภาพแสดงตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2567
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนปีนี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.83 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.39 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่า การส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.66 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าที่สามารถขยายตัวได้ของไทยคือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเพชรเจียระไน
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีการเปิดเผยตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จีดีพีไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวร้อยละ 1.6 ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ร้อยละ 2.4 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภค สร้างความกังวลต่อแนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ขณะที่สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป รายงานการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เท่ากับที่ประมาณการณ์ไว้ แต่อัตราขยายตัวยังต่ำการฟื้นตัวจึงต้องใช้ ระยะเวลานาน ขณะที่มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ได้มีการนำมาใช้ระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีสหรัฐฯ-จีน รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังตึงเครียด โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งนี้ สถานการณ์ส่งออกใน 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า หลายประเทศมีดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ตลาดส่งออกที่สำคัญส่วนใหญ่จึงกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับสัญญาณการ ขยายตัวของภาคการผลิตโลก แต่เป็นปัจจัยระยะสั้นที่อาจผันผวนได้จากภาพรวมสถานการณ์โลกที่ยังคงไม่แน่นอน
ในปัจจุบัน การทำการตลาดด้วยสื่อดิจิทัลถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การที่จะประสบความสำเร็จและได้รับประโยชน์สูงสุดนั้น ผู้ประกอบการต้องไม่ละเลยการ Connect ซึ่งหมายถึงการเชื่อมโยงช่องทางการค้าปลีกและการค้าออนไลน์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ราบรื่นและไร้รอยต่อสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงานจากทุกช่องทางออนไลน์เข้าด้วยกัน จะส่งผลให้สามารถวิเคราะห์แนวทางเพื่อนำมาใช้ในการทำตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนช่วยให้ สามารถเข้าถึงและสร้างการรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุดและการจัดการ Contrast ของกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกันทั้ง รสนิยม กำลังซื้อ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างครอบคลุม โดยการพัฒนาไลน์ผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายเพื่อรองรับความหลากหลายของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับบริบททางสังคมใน ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566 และปี 2567
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มิถุนายน 2567
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”