หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / กลยุทธ์สิ่งทอของสหภาพยุโรปจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างไร

กลยุทธ์สิ่งทอของสหภาพยุโรปจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างไร

กลับหน้าหลัก
31.05.2567 | จำนวนผู้เข้าชม 188

กลยุทธ์สิ่งทอของสหภาพยุโรปจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างไร

วิสัยทัศน์ 2030 สำหรับสิ่งทอ (2030 Vision for Textiles) ของคณะกรรมาธิการยุโรป หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยไม่คำนึงถึงการสามารถนำไปรีไซเคิลได้ จะไม่สามารถจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป ในอีก 6 ปีข้างหน้า

ในระหว่างการสัมมนาออนไลน์เมื่อเร็วๆ นี้ Karolina D’Cunha รองหัวหน้าฝ่าย From Waste to Resources Unit (DG ENV) ของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาการออกแบบของผลิตภัณฑ์ 

ที่มาภาพ: Shutterstock

กลยุทธ์สำหรับสิ่งทอที่ยั่งยืนและหมุนเวียน (Strategy for Sustainable and Circular Textiles) ของสหภาพยุโรปได้กำหนดแผน รวมทั้งการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอทั้งหมดที่จำหน่ายในสหภาพยุโร สามารถใช้งานได้นานขึ้น นำไปรีไซเคิลได้ ผลิตด้วยเส้นใยรีไซเคิลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปราศจากสารอันตรายและผลิตโดยเคารพต่อสิทธิพลเมืองและต่อสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2030

ในระหว่างการสัมมนาออนไลน์ จัดโดย ITMA ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มออนไลน์ที่จัดหาสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม Marie-Hélène Pradines หัวหน้าฝ่าย Tourism and Textiles Unit (DG GROW) ของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า กฎระเบียบดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะให้สิ่งทอทั้งหมดมีการออกแบบที่ยึดโยงกับทรัพยากรธรรมชาติ (eco-design) ตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงการผลิต ความยั่งยืน และการหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นหลักคิดนำทาง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยไม่คำนึงถึงการสามารถนำไปรีไซเคิลได้ จะไม่สามารถจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป หลังปี 2030

คุณ Karolina D’Cunha รองหัวหน้าฝ่าย From Waste to Resources Unit (DG ENV) ของคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการออกแบบของผลิตภัณฑ์ เพราะจากมุมมองของการจัดการขยะ วัสดุมีพิษใด ๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอ จะเกิดปัญหาเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานและหากไม่ได้รับการออกแบบสำหรับการรีไซเคิลก็จะประสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะ จึงควรแก้ไขปัญหาการออกแบบในขั้นตอนนี้เลย ผ่านทางกฎระเบียบใหม่ ๆ เกี่ยวกับ eco-design ของผลิตภัณฑ์

ข้อกำหนด Waste Framework Directive ของสหภาพยุโรป ยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกจัดให้มีฐานข้อมูลของบริษัททั้งหมดที่ผลิตผลิตภัณฑ์ในตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ผลิตดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ “การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต” และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจัดการขยะจากสิ่งทอ ทั้งนี้ หากผลิตภัณฑ์นำไปใช้ได้ใหม่ หรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น ค่าธรรมเนียมก็จะลดลง ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทแฟชั่นมุ่งไปสู่แบบจำลองของการหมุนเวียน

อีกหนึ่งความกังวลของวิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ เรื่องของขยะสิ่งทอที่ใช้แล้ว และถูกส่งออกไปยังประเทศนอกสหภาพยุโรป ซึ่งบ่อยครั้งจะจบลงที่ขยะฝังกลบ คุณ D’Cunha กล่าวว่า ค่าธรรมเนียมจากโครงการการขยายความรับผิดชอบ จะนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบการขนส่งออกนอกประเทศ ว่าเป็นขยะหรือไม่ อย่างไรก็ตาม คุณ D’Cunha ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อกำหนดสำหรับการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ยังห่างไกลจากการบังคับใช้ โดยประเทศสมาชิกมีเวลา 18 เดือนที่จะดำเนินการ จึงยังพอมีเวลาที่จะเตรียมผลิตภัณฑ์ให้พร้อมสำหรับข้อกำหนดใหม่ดังกล่าว

คุณ Alessandra Moser ที่ปรึกษาด้านนโยบายของ Alessandra Moretti สมาชิกรัฐสภายุโรป ชี้ให้เห็นว่า กฎระเบียบปี 2030 จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล โดยเชื่อมั่นว่า กลยุทธ์สิ่งทอจะนำอุตสาหกรรมแฟชั่นไปสู่ความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และสร้างความสมดุลระหว่างบทบาททางเศรษฐกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ คุณ Moser เสริมว่า หนังสือเดินทางของสินค้าดิจิทัล หรือ Digital Product Passports (การนำเสนอสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ทางกายภาพในรูปแบบดิจิทัลที่บันทึกวงจรชีวิตทั้งหมดตั้งแต่เริ่มการผลิต ไปจนถึงการกำจัด เช่นเดียวกับหนังสือเดินทางของบุคคลที่ระบุแหล่งที่มา) ก็อาจมีบทบาทสำคัญเช่นกันในการส่งเสริมการหมุนเวียน เพราะจะให้ข้อมูลผู้บริโภคเกี่ยวกับกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ และมีการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลหรือไม่ ทั้งนี้ กฎระเบียบดังกล่าวจะเปลี่ยนวิธีดำเนินการของอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ และแสดงให้เห็นวิธีจัดการวัฏจักรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมเมื่อหมดอายุการใช้งาน

คุณ Pradines เน้นว่า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำ ในส่วนของการออกแบบที่ยึดโยงกับธรรมชาติ ไม่ควรได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายในตลาดสหภาพยุโรป

คุณ Moser กล่าวว่า กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับขยะดังกล่าว จะครอบคลุมสินค้าผู้บริโภคที่ขายไม่ได้ รวมทั้งเสื้อผ้าด้วย โดยข้อห้ามเกี่ยวกับการทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ขายไม่ได้ จะมีผลบังคับใช้ภายในเวลา 24 เดือน ซึ่งยังเร็วเกินไปกว่าที่จะทราบว่า แนวปฏิบัติของกฎระเบียบดังกล่าวจะเป็นอย่างไร แต่ขณะนี้ ทราบว่าคณะกรรมาธิการยุโรปได้ขอให้ศูนย์วิจัยร่วม (Joint Research Centre) ของคณะกรรมาธิการฯ ทำการศึกษาเพื่อเตรียมการเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับสิ่งทอดังกล่าว ซึ่งการประเมินผลกระทบและการมอบหมายงานจะตามมา พร้อมรายละเอียดเพิ่มเติม

-------------------------------------

Source: JustStyle.com 

Photo credit: Shutterstock

ภาวะสิ่งทอ, EU, textile, strategy, fashion, industry, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'67