อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของศรีลังกาจับมือกันเพื่อพัฒนาระบบ QR code แบบครบวงจร
ผู้ผลิตเสื้อผ้าของศรีลังกา ร่วมมือกับ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) และองค์กรมาตรฐานสากลสำหรับธุรกิจ (GS1) เพื่อนำร่องใช้ระบบฉลาก QR code แบบเดียวทั่วทั้งประเทศบนเสื้อผ้า ระบบนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
Central to this initiative is the implementation of a single QR code that holds information on the tracking and tracing of the entire supply chain.
Credit: Shutterstock
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของศรีลังกา มุ่งมั่นที่จะยกระดับการติดตามที่มาของสินค้า (traceability) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และผลักดันให้มีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสากล โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) - คาดว่าจะให้การสนับสนุนด้านการเงินและโครงสร้างพื้นฐาน มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) - จะช่วยกำหนดแนวทางการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและเชื่อถือได้ และองค์กรมาตรฐานสากลสำหรับธุรกิจ (GS1) - มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรหัสประจำสินค้า (barcode) คาดว่าจะเข้ามาช่วยพัฒนาระบบติดตามสินค้าด้วย QR code ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ประกอบด้วย ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในที่มาของเสื้อผ้าที่ซื้อ ช่วยให้ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพให้กับห่วงโซ่อุปทาน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของศรีลังกา
ทั้งนี้ ความสำคัญของโครงการดังกล่าว คือ การนำร่องใช้ ระบบ QR code แบบเดียว ซึ่งจะมีข้อมูลครอบคลุมการติดตามและตรวจสอบ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โดยข้อมูลภายใน QR code ประกอบด้วย
1. รายละเอียดเกี่ยวกับแบรนด์ ตรงกับที่ระบุไว้
2. ห่วงโซ่อุปทาน ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
3. รายละเอียดของสินค้า รวมถึงชื่อรุ่น หมายเลขสินค้า วัสดุที่ใช้ และข้อมูลขนาด
4. วัสดุที่ใช้ ระบุชนิดของวัสดุที่ใช้ผลิตเสื้อผ้า
5. คำแนะนำในการดูแลรักษา วิธีการซัก อบ รีด ที่ถูกต้อง
6. ข้อมูลด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม
7. แนวทางการรีไซเคิล วิธีการกำจัดเสื้อผ้าอย่างถูกวิธีหลังหมดอายุการใช้งาน
การติดตามความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG: Environment, Social, และ Governance) ผ่านระบบ QR code นี้ ช่วยลดความซับซ้อนในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้การรายงานข้อมูลมีความแม่นยำมากขึ้น และยังช่วยให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายในแต่ละพื้นที่ได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของศรีลังกา กำลังตอบรับกระแสเรียกร้องด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอย่างแข็งขัน เนื่องจากประเทศทางตะวันตกต่างกำหนดกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับความยั่งยืน
และสาเหตุที่อุตสาหกรรมสิ่งทอศรีลังกาตอบรับกระแสเรียกร้องเรื่องการติดตามความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทานนั้น เนื่องจากแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบทางกฎหมายของตลาดส่งออกหลัก ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ
โดยในเวทีการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ครั้งที่ 28 (COP28) และ World Economic Forum ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของศรีลังกาในการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและการผลิตอย่างรับผิดชอบเช่นกัน
โครงการติดตามห่วงโซ่อุปทานด้วยระบบ QR code นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายศรีลังกา เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าคู่แข่ง ผู้ผลิตผ้า แบรนด์ และร้านค้าปลีกได้ร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย (stakeholders) ทั้งผู้ผลิต ผู้ผลิตผ้า แบรนด์ และร้านค้าปลีกต่างกำลังร่วมมือกันอย่างแข็งขันในการปรับแต่งต้นแบบระบบ QR code และวางแผนกลยุทธ์เพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ประเด็นสำคัญที่มุ่งเน้นอยู่ขณะนี้ คือ การส่งเสริมให้มีการนำระบบ QR code ไปใช้แพร่หลายทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนให้แบรนด์ต่าง ๆ ปฏิบัติตามมาตรฐาน ระบบ QR code ควรถูกออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งานสำหรับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถแสดงข้อมูลที่ถูกต้องตามมาตรฐานความยั่งยืน และการเปิดเผยข้อมูลตาม ISSB ระบบควรสนับสนุนให้แบรนด์เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามกรอบที่กำหนดโดยคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนระหว่างประเทศ หรือ International Sustainability Standards Board: ISSB
เพื่อขยายผลของโครงการติดตามห่วงโซ่อุปทานด้วยระบบ QR Code นี้ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของศรีลังกายังอยู่ระหว่างการหาแนวทางใหม่ ๆ โดยมุ่งเน้นที่การ "เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้" ตัวอย่างแนวทางที่เป็นไปได้ เช่น การสร้างฐานข้อมูลกลาง เพื่อรวบรวมและจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน ฐานข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้ผลิต แบรนด์ และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันได้ง่าย และการร่วมมือกับองค์กรภายนอกเพื่อเข้าถึงข้อมูลด้านความยั่งยืนที่เชื่อถือได้ ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรหรือหน่วยงานภาครัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
โดยสรุปอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของศรีลังกากำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เน้นความยั่งยืนผ่านการร่วมมือกันใช้ระบบ QR code ติดตามห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งถือเป็นความริเริ่มที่สำคัญและน่าจับตามอง
-------------------------------------
Source: JustStyle.com
Photo credit: Shutterstock