หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม ปี 2567

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม ปี 2567

กลับหน้าหลัก
08.03.2567 | จำนวนผู้เข้าชม 226

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม ปี 2567

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในเดือนมกราคม ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.09 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 ที่มีมูลค่า 732.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 1,166.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.15 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 696.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 21.53

 ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในเดือนมกราคม ปี 2566 และปี 2567

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในเดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าส่งออกในอันดับแรก ด้วยสัดส่วนร้อยละ 40.23 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 194.17 โดยราคาทองคำในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 2,034 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยราคาทองคำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ LBMA ได้วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักสามประการที่จะผลักดันราคาทองคำในปีนี้ คือ นโยบายทางการเงินของสหรัฐอเมริกา นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ และพฤติกรรมการลงทุน ยังเป็นปัจจัยเกี่ยวข้องที่ต้องติดตาม ซึ่งคาดการณ์ว่า ราคาทองคำมีโอกาสเพิ่มขึ้นทำสถิติที่ในช่วงระดับราคา 2,100-2,405 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปีนี้ 

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 30.89 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.92 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง เติบโตได้ร้อยละ 30.18 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับ อย่างสหรัฐอเมริกา อิตาลีกาตาร์ สหราชอาณาจักร และฮ่องกง ได้สูงขึ้นร้อยละ 15.58, ร้อยละ 7.97, ร้อยละ 909.29, ร้อยละ 21.68 และ 61.07 ตามลำดับ การส่งออกเครื่องประดับเงิน ขยายตัวได้ร้อยละ 35.99 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตลาดสำคัญใน 5 อันดับแรก ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.65, ร้อยละ 39.38, ร้อยละ 29.205.95, ร้อยละ 5.65 และร้อยละ 19.57 ตามลำดับ การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม ปรับตัวขึ้นร้อยละ 6.70 มาจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 และ 3 อย่างญี่ปุ่น และฮ่องกง ได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 และร้อยละ 66.09 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ ตลาดในอันดับ 2 และ 4-5 ลดลงร้อยละ 11.30, ร้อยละ 20.51 และร้อยละ 15.92 ตามลำดับ

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 15.32 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.84 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.10 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และเบลเยียม ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1 และ 3-4 ได้สูงขึ้นร้อยละ 9.86, ร้อยละ 8.22 และร้อยละ 3,548.59 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 2 และ 5 ทั้งอิตาลีและฝรั่งเศส ลดลงร้อยละ 27.48 และร้อยละ 15.43 ตามลำดับ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.25 มาจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับที่ 1 และ 2 อย่างสหรัฐอเมริกาและอิตาลีได้สูงขึ้นร้อยละ 40.37 และร้อยละ 51.02 ตามลำดับ ส่วนฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 0.61, ร้อยละ 24.67 และร้อยละ 35.60 ตามลำดับ

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.87 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.72 โดยมีเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ซึ่งมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 5.93 อันเนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกงและอิสราเอล ตลาดในอันดับ 1 และ 5 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 98 และร้อยละ 27.37 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดอันดับ 2-4 อย่างอินเดีย เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา หดตัวลงร้อยละ 19.90, ร้อยละ 6.67 และ ร้อยละ 46.94 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.10 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.12 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม และจีน ตลาดสำคัญในอันดับ 1-3 และ 5 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.07, ร้อยละ 12.88, ร้อยละ 5,686.21 และร้อยละ 235.23 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับที่ 4 อย่างฝรั่งเศส ลดลงร้อยละ 5.12 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมกราคมปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.53 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ใน 9 อันดับแรก ทั้งสหรัฐอเมริกา อิตาลีฮ่องกง เยอรมนี อินเดีย เบลเยียม สหราชอาณาจักร กาตาร์ และญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.71, ร้อยละ 0.42, ร้อยละ 62.17, ร้อยละ 21.97, ร้อยละ 66.18, ร้อยละ 82.11, ร้อยละ 8.04, ร้อยละ 903.39 และร้อยละ 17.29 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับที่ 10 อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.65

ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในเดือนมกราคม ปี 2566 และปี 2567

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้เพิ่มขึ้น ทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 9.86, ร้อยละ 40.37, ร้อยละ 15.58 และร้อยละ 7.65 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 46.94

ขณะที่การส่งออกไป อิตาลี ที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและสินค้ารองลงมาอย่างพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ซึ่งสามารถขยายตัวร้อยละ 7.97, ร้อยละ 51.02 และร้อยละ 169.91 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งเจียระไนและเครื่องประดับเงิน ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.48 และร้อยละ 3.45 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยัง ฮ่องกง ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน รวมทั้งสินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับทองและพลอยเนื้อแข็งเจียระไนได้สูงขึ้นร้อยละ 98, ร้อยละ 61.07 และร้อยละ 8.22 ตามลำดับ ส่วนสินค้าอย่างพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนและเครื่องประดับเงิน มีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.61 และร้อยละ 18.38 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไป เยอรมนี ที่กลับมาเติบโตได้นั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าหลักครองสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.38 รวมทั้งพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนและเครื่องประดับเทียมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.99 และร้อยละ 39.21 ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่ลดลง คือ เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับทอง หดตัวลงร้อย ละ 30.70 และร้อยละ 0.56 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง อินเดีย ที่ขยายตัวได้อันเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินรวมทั้งสินค้ารองลงมาอย่างเครื่องประดับชุบโลหะมีค่า ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 49 สามารถส่งออกได้สูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีการส่งออกน้อย ส่วนสินค้าที่หดตัวลง คือ อัญมณีสังเคราะห์และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน

การส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไนได้สูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีเพียงเล็กน้อย รวมทั้งสินค้าลำดับถัดมาอย่างเครื่องประดับเทียมและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่วนสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 6.67

มูลค่าการส่งออกไป สหราชอาณาจักร ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 82) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนได้สูงขึ้นร้อยละ 21.68, ร้อยละ 5.65 และร้อยละ 19.53 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียมและพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 35.63, ร้อยละ 12.47 และร้อยละ 66.50 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยัง กาตาร์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลัก คือ เครื่องประดับทอง (ที่มี สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 99.88) ได้สูงขึ้นจากที่มีการส่งออกเพียงเล็กน้อยในปีก่อนหน้า

การส่งออกไป ญี่ปุ่น ซึ่งสามารถเติบโตได้นั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัมและเครื่องประดับเงิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.74, ร้อยละ 2.92 และร้อยละ 57.42 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 0.99 และร้อยละ 35.60 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีมูลค่าลดลงนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 63.48 ส่วนเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.30, ร้อยละ 52.77, ร้อยละ 246.14 และร้อยละ 272.70 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 1 แผนภาพแสดงตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมกราคม ปี 2567

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในเดือนมกราคม ปี 2567 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.09 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ ขยายตัวร้อยละ 21.53 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.38 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 สำหรับสินค้าที่ยังเติบโตได้ดีของไทย คือ เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมในปี 2567 นั้น แม้หลายประเทศอาจเริ่มฟื้นตัวกลับมา แต่เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ยังอาจต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายประการ ทั้งนโยบายการเงินที่ตึงตัวนานกว่าที่คาด สงครามอิสราเอลและฮามาสอาจขยายวงและมีประเทศผู้นำในภูมิภาคเข้ามาร่วม การเลือกตั้งสำคัญที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้เกิดการแบ่งขั้วและกระทบห่วงโซ่การผลิต ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

สถานการณ์ส่งออกในเดือนแรกของปี 2567 พบว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสามารถกลับมาขยายตัวได้ในหลายตลาด จากฐานของปีก่อนที่ไม่สูงนักและหลายประเทศเริ่มมีกำลังซื้อเข้ามารับช่วงเทศกาลต้นปี แม้ว่าจะเริ่มต้นได้ดีในปีนี้ แต่ผู้ประกอบการต้องไม่ลืมการโฟกัสในเรื่องสินค้ารักษ์โลกและที่มาสินค้าที่โปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะไม่เพียงแต่ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจแต่หลายประเทศเริ่มมีมาตรการตรวจสอบและกฎระเบียบเข้ามาควบคุม เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญต่อช่องทางออนไลน์ที่ไม่เพียงต้องใช้งานง่าย สะดวก มีความน่าสนใจและเลือกแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้บริโภคแล้ว ยังต้องมีการผนวกลูกเล่นจากเอไอเพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกับลูกค้าที่กำลังให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้ด้วย เพราะการทำตลาดไม่ใช่แค่การผสานทั้งออนไลน์และการขายหน้าร้านอีกแล้ว แต่ต้องสามารถยกระดับประสบการณ์ทางการตลาดไปอีกขั้น เราจึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและก้าวไปข้างหน้าได้

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในเดือนมกราคม ปี 2566 และปี 2567

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มีนาคม 2567


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2567, สะสม 1 เดือน, มกราคม-มกราคม, GIT Information Center