หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566

สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566

กลับหน้าหลัก
12.02.2567 | จำนวนผู้เข้าชม 197

สถานการณ์นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566

สถานการณ์การนำเข้า

การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2566 มีมูลค่า 13,567.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 18.90 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยนำเข้าสินค้าหลักอย่างทองคำฯ ในสัดส่วนร้อยละ 58.38 ปรับตัวลงร้อยละ 29.43 สินค้ารองลงมาอย่างเพชรนั้น ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพชรเจียระไน ซึ่งลดลงร้อยละ 24.08 ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องประดับแท้เป็นสินค้านำเข้าในลำดับที่ 3 เติบโตได้ร้อยละ 33.05 โดยร้อยละ 75 เป็นการนำเข้าเครื่องประดับทองที่มีมูลค่าสูงขึ้น ร้อยละ 42.20 และเครื่องประดับเงิน สินค้ารองลงมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.48 สำหรับสินค้าอันดับ 4 คือ พลอยสี มีสินค้าหลัก คือ พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 53.64 และร้อยละ 46.09 ตามลำดับ

ตารางที่ 1 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.83 เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีมูลค่า 15,063.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 14,636.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.14 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 8,658.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.40 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนธันวาคม 2566 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 21.43 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566

ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2565 และปี 2566

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบปี 2566 คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 40.85 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.51 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 2,029.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (World Gold Council) โดยราคาทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน อีกทั้งยังทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยปัจจัยที่ส่งผล ได้แก่ สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส และความเชื่อมั่นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ระดับสูงสุดแล้วและมีแนวโน้มว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในกลางปี 2567 รวมทั้งการอ่อนค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นปัจจัยจูงใจต่อการเข้าซื้อทองคำเช่นเดียวกับกองทุนทองคำ SPDR ที่ซื้อทองคำสุทธิต่อเนื่องจากเดือนก่อนอีก 0.58 ตัน

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 30.64 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.81 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง ซึ่งขยายตัวได้ร้อยละ 24.72 มาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิตาลี ซึ่งเป็นตลาดอันดับที่ 2-5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 184.11, ร้อยละ 23.12, ร้อยละ 13.19 และร้อยละ 49.45 ตามลำดับ มีเพียงสหรัฐอเมริกา ตลาดอันดับ 1 ที่ลดลงร้อยละ 8.71 ส่วนเครื่องประดับเงิน ปรับตัวลงร้อยละ 6.63 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตลาดอันดับที่ 1-2 และ 4-5 ได้ลดลงร้อยละ 15.61, ร้อยละ 10.53, ร้อยละ 21.63 และร้อยละ 16.23 ตามลำดับ ส่วนอินเดีย ตลาดในอันดับ 3 ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 114.91 การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม หดตัวลงร้อยละ 4.92 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดใน 3 อันดับแรก อย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ได้ลดลงร้อยละ 4.50, ร้อยละ 13.13 และ ร้อยละ 32.64 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกงและสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 4 และ 5 ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 145.14 และร้อยละ 15.89 ตามลำดับ 

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 13.76 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 70.47 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.12 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ตลาดทั้ง 5 อันดับแรกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 296.34, ร้อยละ 17.70, ร้อยละ 23.38, ร้อยละ 36.44 และร้อยละ 4.01 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 97.19 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญใน 5 อันดับแรก อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี ได้สูงขึ้นร้อยละ 390.28, ร้อยละ 30.37, ร้อยละ 350.08, ร้อยละ 55.79 และร้อยละ 244.46 ตามลำดับ

เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 8.92 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 26.71 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ปรับตัวลงร้อยละ 26.73 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับที่ 2-4 อย่างเบลเยียม อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ได้ลดลงร้อยละ 19.47, ร้อยละ 77.54, และร้อยละ 48.17 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 และ 5 อย่างฮ่องกงและอิสราเอล ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 50.78 และร้อยละ 28.29 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.08 หดตัวลดลงร้อยละ 3.02 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง ฝรั่งเศส และลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 2-4 ได้ลดลงร้อยละ 3.17, ร้อยละ 10.48 และร้อยละ 51.01 ตามลำดับ ส่วนตลาดอันดับ 1 และ 5 อย่างสหรัฐอเมริกาและเบลเยียม ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 13.83 และร้อยละ 244.54 ตามลำดับ

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2565 และปี 2566

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบปี 2566 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง อิตาลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเบลเยียม ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1, 7, 8 และ 10 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 136.21, ร้อยละ 27.04, ร้อยละ 7.93 และร้อยละ 1.02 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ตลาดอันดับที่ 2-6 และ 9 ลดลงร้อยละ 11.06, ร้อยละ 43.44, ร้อยละ 10.55, 1.83, ร้อยละ 5.04 และร้อยละ 27.12 ตามลำดับ 

การส่งออกไป ฮ่องกง ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาทั้งเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอย เนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 296.34, ร้อยละ 50.78, ร้อยละ 184.11, ร้อยละ 390.28 และ ร้อยละ 8.91 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียม ลดลงร้อยละ 3.17

ขณะที่การส่งออกไปยัง อิตาลี ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง และสินค้าสำคัญรองมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้สูงขึ้นร้อยละ 49.45, ร้อยละ 4.01, ร้อยละ 244.46 และร้อยละ 65.02 ตามลำดับ 

สำหรับการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ขยายตัวได้นั้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.19, ร้อยละ 163.84, ร้อยละ 15.21 และร้อยละ 73.53 ส่วนเพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 7.38

ส่วนการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้ารองหลายรายการอย่างเครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เติบโตได้ร้อยละ 244.54, ร้อยละ 20.60 และร้อยละ 93.61 ตามลำดับ มีเพียงเพชรเจียระไนสินค้าหลักที่ลดลงร้อยละ 19.47

สำหรับการส่งออกไป สหรัฐอเมริกา ซึ่งหดตัวลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 68) ได้ลดลงร้อยละ 8.71 และร้อยละ 15.61 ตามลำดับ อีกทั้งสินค้าสำคัญลำดับถัดมาอย่างเพชรเจียระไนก็ลดลงร้อยละ 48.17 ส่วนการส่งออกพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ยังเติบโตได้ดีร้อยละ 17.70 และร้อยละ 30.37 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง อินเดีย ที่ปรับตัวลดลงนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไนที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 27 ได้ลดลงร้อยละ 77.54 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 17.19 และร้อยละ 12.50 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงินและอัญมณีสังเคราะห์ ยังขยายตัวได้ร้อยละ 114.91 และร้อยละ 24.96 ตามลำดับ 

ส่วนการส่งออกไป เยอรมนี มีมูลค่าลดลงนั้น เนื่องมาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักใน สัดส่วนร้อยละ 73) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับทอง ได้ลดลงร้อยละ 10.53, ร้อยละ 11.26 และร้อยละ 17.86 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.50 

ขณะที่การส่งออกไป สหราชอาณาจักร ซึ่งลดลงนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 21.63, ร้อยละ 9.37 และร้อยละ 18.50 ตามลำดับ ส่วนสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองยังเติบโตได้ร้อยละ 23.12

การส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าลดลงนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนและ เครื่องประดับเทียม ได้ลดลงร้อยละ 29.81 และร้อยละ 4.57 ตามลำดับ ส่วนสินค้าสำคัญอื่น ๆ อย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทองยังเติบโตได

สำหรับการส่งออกไป สิงคโปร์ ซึ่งหดตัวลง อันเป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับแพลทินัม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 13.13, ร้อยละ 78.89 และร้อยละ 94.67 ตามลำดับ มีเพียงสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองที่ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.43

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2566 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.83 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.40 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.20 มีรายละเอียดดังตารางที่ 4 โดยสินค้าของไทยที่เติบโตได้ดีคือ เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2566 นั้น การเติบโตทั่วโลกยังซบเซา มีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ระดับร้อยละ 3 จากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน และสหราชอาณาจักร ขณะที่ตลาดเกิดใหม่หลายแห่งได้รับผลกระทบเงินทุนไหลออกและปัญหาทางเศรษฐกิจชะลอตัว รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส ล้วนสร้างผลกระทบให้เกิดปัญหาราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นสวนทางกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอลง ซึ่งหลายปัจจัยยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปี 2567

สถานการณ์ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา การส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของยอดซื้อในช่วงเทศกาลในไตรมาสแรกของปี ทั้งยังมีการจัดงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับในหลายประเทศสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดซื้อ มีการซื้อเครื่องประดับเพื่อถือครองไว้เก็งกำไรเพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริโภคในช่วงเทศกาลปลายปีและค่าเงินบาทอ่อนค่ามาช่วยกระตุ้นยอดซื้อ

ส่วนในปี 2567 นั้น อาจเป็นอีกปีที่ยังคลุมเครือมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสขึ้นอยู่กับเราว่าพร้อมหรือไม่ ด้วยการนำแนวทาง 3 พร้อม คือ พร้อม 1 พร้อมเปลี่ยนเป็นสินค้ารักษ์โลก เพราะกระแสสินค้าที่มีที่มาโปร่งใสตรวจสอบได้ลดการเกิดก๊าซคาร์บอนเป็นแนวทางที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การสร้างกระบวนการผลิตที่ตอบโจทย์หรือการใช้วัตถุดิบที่ตอบโจทย์อย่างเพชรสังเคราะห์จะสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้บริโภคกลุ่มนี้ พร้อม 2 พร้อมใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่มาต่อยอดในการผลิต ทั้ง 3D printing เทคโนโลยี บล็อกเชน และเอไอที่สามารถลดต้นทุนการผลิตทั้งยังสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้ด้วย และพร้อม 3 พร้อมในการขยายไปยังตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่จะสร้างโอกาสในการขายสินค้าด้วยฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ได้ผู้ประกอบการที่ประยุกต์ใช้สิ่งเหล่านี้ได้อย่างผสมกลมกลืนย่อมอยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสเติบโตไปข้างหน้าได้

ตารางที่ 4 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม ปี 2565 และปี 2566

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

กุมภาพันธ์ 2567


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การนำเข้า, การส่งออก, Import, Export, ปี 2566, สะสม 12 เดือน, มกราคม-ธันวาคม, GIT Information Center