หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2566

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2566

กลับหน้าหลัก
18.12.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 165

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2566

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2566 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่า 13,626.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่12,705.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.37 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 7,391.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 9.05 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 41.82 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566

 ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดใน 10 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.82 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งลดลงร้อยละ 22.41 ขณะที่ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในตลาดโลกลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,913.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) โดยราคาทองคำยังคงลดลง เนื่องมาจากการแข็งค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 10 เดือน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 17 ปีรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่คงอยู่ในระดับสูง จึงมีส่วนลดความน่าสนใจในการลงทุนทองคำลง ขณะที่กองทุนทองคำ SPDR ยังขายทองคำสุทธิต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 29.66 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.76 โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ เครื่องประดับทอง ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.42 จากการส่งออกไปยังตลาดอันดับที่ 2-5 อย่างฮ่องกง สหราชอาณาจักร อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 229.24, ร้อยละ 21.47, ร้อยละ 51.09 และร้อยละ 9.05 ตามลำดับ มีเพียงตลาดอันดับ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ลดลงร้อยละ 10.25 ส่วนเครื่องประดับเงิน ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.89 เนื่องมาจาก การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตลาดในอันดับ 1-2 และ 4-5 ลดลงร้อยละ 17.80, ร้อยละ 15.72, ร้อยละ 24.27 และร้อยละ 11.89 ตามลำดับ ส่วนอินเดียที่เป็นตลาดอันดับ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.85 การ ส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม ขยายตัวร้อยละ 1.15 มาจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 4 และ 5 ทั้งฮ่องกงและสหราชอาณาจักร เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 169.07 และร้อยละ 17.45 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1-3 อย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 11.04, ร้อยละ 5.21 และร้อยละ 31.16 ตามลำดับ

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 มีสัดส่วนร้อยละ 14.20 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.14 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 79.78 เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ตลาดทั้ง 5 อันดับแรก ล้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 445.91, ร้อยละ 19.42, ร้อยละ 19.65, ร้อยละ 52.67 และร้อยละ 8.43 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ยังเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 96.71 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ 5 อันดับแรก ทั้งฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ได้สูงขึ้นร้อยละ 449.65, ร้อยละ 43.37, ร้อยละ 56.66, ร้อยละ 233.22 และร้อยละ 237.23 ตามลำดับ 

เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 8.75 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย หดตัวลงร้อยละ 26.85 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ลดลงร้อยละ 26.85 เนื่องจากการส่งออกไปยังเบลเยียม อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดสำคัญอันดับที่2-4 ได้ลดลงร้อยละ 20.28, ร้อยละ 79.52 ร้อยละ 45.38 และร้อยละ 6.04 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 อย่างฮ่องกง ยังขยายตัวได้ร้อยละ 80.94

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.98 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.93 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 2-4 อย่างฮ่องกง ฝรั่งเศส และลิกเตนสไตน์ ได้ลดลงร้อยละ 5.61, ร้อยละ 11.38 และร้อยละ 49.99 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอเมริกาและเบลเยียม ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 และ 5 เติบโตได้ร้อยละ 8.81 และร้อยละ 159.54 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 10 เดือนแรกของปี 2566 นั้น มี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยสามารถส่งออกไปยังฮ่องกง อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 1, 7 และ 9 ได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 185.11, ร้อยละ 37.56 และร้อยละ 6.30 ตามลำดับ ส่วนสหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และเบลเยียม ตลาดอันดับที่ 2-6, 8 และ 10 ลดลงร้อยละ 11.44, ร้อยละ 51.77, ร้อยละ 15.41, ร้อยละ 4.62, ร้อยละ 8.16, ร้อยละ 30.90 และร้อยละ 2.95 ตามลำดับ

 ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้า ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การส่งออกไป ฮ่องกง มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้นั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 445.91, ร้อยละ 80.94, ร้อยละ 229.24, ร้อยละ 449.65 และร้อยละ 28.58 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียม ลดลงร้อยละ 5.61 

ส่วนการส่งออกไปยัง อิตาลี ซึ่งขยายตัวได้นั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองและสินค้าสำคัญรองมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.09, ร้อยละ 8.43, ร้อยละ 237.23 และร้อยละ 68.31 ตามลำดับ 

มูลค่าการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เติบโตได้ดีนั้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่าง เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.05, ร้อยละ 218.03 และร้อยละ 75.46 ส่วนเพชรเจียระไนและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 6.04 และร้อยละ 4.85 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไป สหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวลดลงนั้น จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 66) ได้ลดลงร้อยละ 10.25 และร้อยละ 17.80 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน ที่ลดลงร้อยละ 45.38 ส่วนการส่งออกพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ยังเติบโตได้ร้อยละ 19.42 และร้อยละ 43.37 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง อินเดีย ลดลง เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 29) ลดลงร้อยละ 79.52 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ลดลงร้อยละ 18.97 และร้อยละ 11.12 ตามลำดับ ส่วนอัญมณีสังเคราะห์และเครื่องประดับเงิน ยังเติบโตได้ร้อยละ 29.68 และร้อยละ 44.17 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไป เยอรมนี ซึ่งหดตัวลงนั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนร้อยละ 74) รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเครื่องประดับทอง ได้ลดลงร้อยละ 15.72, ร้อยละ 10.29 และร้อยละ 27.37 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.12

ขณะที่การส่งออกไป สหราชอาณาจักร มีมูลค่าลดลง เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงิน พลอย เนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 24.27, ร้อยละ 19.55 และร้อยละ 28.39 ตามลำดับ ส่วนสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง ยังขยายตัวได้ร้อยละ 21.47

การส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่ลดลงนั้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเทียม ที่ลดลงร้อยละ 34.96 และร้อยละ 3.44 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าสำคัญอื่น ๆ อย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง ยังเติบโตได้ดี 

มูลค่าการส่งออกไป สิงคโปร์ ซึ่งลดลงนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับแพลทินัม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 11.04, ร้อยละ 84.48, และร้อยละ 95.21 ตามลำดับ มีเพียงสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.43

สำหรับการส่งออกไปยัง เบลเยียม ที่ลดลงนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ที่มี สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 68) ได้ลดลงร้อยละ 20.28 ส่วนเครื่องประดับเทียมและเครื่องประดับทอง ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2566

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.76 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.05 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.41 มีรายละเอียด ดังตารางที่ 3 โดยสินค้าของไทยที่เติบโตได้ดีคือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน

 ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2565 และปี 2566

 ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกนั้น เริ่มขาดปัจจัยหนุนส่งที่สำคัญจากการที่เศรษฐกิจภาคบริการในหลายประเทศชั้นนำที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหนุนเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และยุโรป มีสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดหวังเพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อให้ลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับที่ควบคุมได้แม้จะกระทบต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD คาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ส่วนธนาคารกลางยุโรปน่าจะปรับลดในปี 2568 โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีการบริโภคของประชาชนที่ยังเข้มแข็ง สะท้อนจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลชอปปิงทั้ง Black Friday และ Cyber Monday ซึ่งทำสถิติยอดขายสูงสุดไปแล้ว ขณะที่ยุโรปยังขาดปัจจัยหนุนส่งที่สำคัญ และจีนยังประสบปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น จึงลดการใช้จ่ายและเก็บออมมากขึ้น ส่วนปัญหาการสู้รบระหว่างอิสราเอสและฮามาส หรือปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในแห่งอื่น ๆ ยัง อยู่ในวงจำกัดแต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากปัจจัยหนุนหลายประการ ทั้งการที่หลายประเทศสำคัญสามารถกลับมาจัดงานแสดงอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งมีคำสั่งซื้อเพื่อเตรียมรับการบริโภคจากเทศกาลใช้จ่ายปลายปี และค่าเงินบาทอ่อนค่าเป็นปัจจัยส่งเสริม นอกจากนี้ การขยายกลยุทธ์การตลาดด้วยการจับคู่สินค้า ด้วยการนำเทรนด์ที่กำลังเป็นกระแสหรือที่สามารถหลอมรวมเข้ากับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับก่อให้เกิดเป็นสินค้าในไลน์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น จะสามารถขยายฐานผู้บริโภคได้เพิ่มจากทั้งสองตลาด ตัวอย่างเช่น สินค้า Art Toy ที่ผสมเข้ากับความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ออกมาเป็นคอลเลกชันเฉพาะให้ทั้งสายมูเตลูและผู้ชื่นชอบ Art Toy ได้สะสมก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างเสริมความน่าสนใจให้สินค้าได้ ขณะที่การนำ Art Toy มา ผสมผสานเป็นเครื่องประดับชาร์มนั้น มีตัวอย่างที่น่าสนใจ อย่างแบรนด์ Ravipa ที่ประสบความสำเร็จ กระทั่งขึ้นชื่อ เครื่องประดับสายมูสุดปังที่ติดตลาด แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าเทรนด์ใหม่ ๆ ในปัจจุบันเกิดขึ้นตลอดเวลา เราจึงต้องเลือกจับคู่ให้เข้ากับสินค้าแต่ละแบบทั้ง Mass Market หรือ Unique Market และมีความฉับไวในการหาโอกาสเพื่อเพิ่มความน่าสนใจและฐานลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง

ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พฤศจิกายน 2566


*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2566, สะสม 10 เดือน, มกราคม-ตุลาคม, ตุลาคม 2566, GIT Information Center