พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง
1 ทศวรรษจากจุดเริ่มต้นในห้องเก็บของเล็ก ๆ กับทีมงานไม่กี่คน ด้วยทัศนคติที่ว่า หากจะทำอะไรสักอย่างให้ได้ดีต้องมีความมุมานะ อุตสาหะ และแพสชั่น ปัจจุบันอาซาว่าเติบโต แตกไลน์ธุรกิจออกมาหลายแบรนด์ นอกจากแบรนด์ Asava แล้วก็มี Asv, Uniform by Asava, White Asava และร้านอาหาร Sava All Day Dining
อะไรที่ทำให้ทายาทดีลเลอร์รถยนต์เจ้าใหญ่หันเหเข้าสู่วงการแฟชั่น “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพาท่านผู้อ่านไปล้วงลึกถึงตัวตน ทัศนคติ และวิธีคิดในแบบฉบับ หมู อาซาว่า ที่น่าทำความรู้จักอย่างยิ่ง
หมูเล่าว่าเขาสนใจแฟชั่นตั้งแต่อายุ 13-14 ปี ด้วยความที่โตมาในครอบครัวนักธุรกิจ การเลือกเรียนแฟชั่นอาจจะดูสุดโต่งจนเกินไป นิเทศศาสตร์จึงเป็นทางเลือกที่อยู่ตรงกลางระหว่างศิลปะและธุรกิจ
“คำว่าแฟชั่นไทยในสมัยก่อน คือ ห้องเสื้อ ตัวเนื้ออุตสาหกรรมจริง ๆ ยังไม่มี เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่โตมาจากครอบครัวนักธุรกิจจะมองว่า เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง เหมือนอาชีพดาราสมัยก่อนที่ถูกมองว่าเป็นการเต้นกินรำกิน เรารู้อยู่แล้วว่าเราไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะฝันได้แบบนั้น”
หลังเรียนจบนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว เขาเรียนต่อปริญญาโทบริหารธุรกิจที่ Claremont Graduate School of Management สหรัฐอเมริกา ตามสูตรลูกนักธุรกิจ หลังจากจบ MBA จึงเลือกเรียนต่อด้านการออกแบบแฟชั่นที่ School of Fashion, Parsons School of Design ทันทีหลังเรียนจบเขาใช้ชีวิตในฐานะคนทำงานแฟชั่นกว่า 10 ปีในนิวยอร์ก กระทั่งถูกครอบครัวเรียกตัวกลับเพื่อสานต่อกิจการที่บ้าน
“พอเริ่มกลับมาทำธุรกิจที่บ้านได้ 1-2 ปีก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ชอบทำตรงนี้ มาอยู่ในมือเรากลัวจะเจ๊งซะก่อน เลยบอกพ่อแม่ไปว่าให้คนอื่นทำเถอะ ที่บ้านทำกันมา 50 ปีแล้ว ถ้ามาอยู่ในมือคนที่ทำไม่เต็มที่มันก็ไม่แฟร์กับครอบครัว”
การออกมาตั้งต้นทำงานด้านแฟชั่นด้วยตัวเองที่ชอบเป็นแพสชั่นของตัวเอง ซึ่งอาซาว่าก็ถือเป็นการทำธุรกิจประเภทหนึ่ง เมื่อถามว่าการเติบโตมาจากครอบครัวนักธุรกิจมีส่วนในการหล่อหลอมความเป็น “หมู อาซาว่า” อย่างไร เขาเล่าว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอนอยู่เสมอ คือ ให้เป็นตัวของตัวเอง และซื่อตรงต่อทัศนคติของตัวเอง ด้วยความที่ทั้งพ่อและแม่เป็นคนขยัน ทำงานตลอดเวลา ปัจจุบันคุณพ่ออายุ 90 กว่าแล้ว แต่ก็ยังเข้าออฟฟิศเป็นประจำ ฉะนั้น สิ่งที่พวกท่านสอนอาจไม่ได้เป็นการมานั่งสอนอย่างเอาจริงเอาจัง แต่เป็นการทำให้เห็นและซึมซับไปเองมากกว่า
การหันหลังให้ธุรกิจที่บ้าน ออกมาเริ่มต้นธุรกิจที่แตกต่างกันสิ้นเชิง หมูบอกว่าไม่มีความกดดันว่าจะต้องประสบความสำเร็จเพื่อพิสูจน์ตัวเอง คิดเพียงว่าจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ควรจะเป็น
“ถามว่ากดดันมั้ยที่ต้องพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็น มันอาจจะมีลึก ๆ ในใจ แต่ผมเติบโตมาในมุมมองที่ว่าผมควรจะทำได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเป็น ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับใครเลย และไม่ต้องพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็น ผมว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นมาว่าเราจะต้องพิสูจน์ให้คนนั้นคนนี้เห็น มันไม่มีใครจับตาดูเราอยู่หรอก ทุกคนก็ดำเนินชีวิตของเขาไป มีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละที่มานั่งคิดว่าฉันจะต้องเก่งกว่าคนนั้นคนนี้ ความชนะกับความแพ้มันอยู่ในใจเรา เราต้องรู้ตัวเสมอว่าเราคือผู้ชนะในใจตัวเองหรือยัง
เราไม่ได้เกิดมาเพื่อแข่งขันกับใคร ทุกคนเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตของตัวเองให้มีความสุขตามอัตภาพ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องประสบความสำเร็จเพื่อให้พ่อแม่เห็น แต่ผมพยายามทำงานหนักเพื่อให้พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วง วันหนึ่งเมื่อเขาจากโลกนี้ไปเขาจะรู้ว่าเราอยู่ได้ อยู่ได้อย่างที่เขาคิดว่าเราไม่ลำบาก การทำให้พ่อแม่หมดห่วงมันเป็นอานิสงส์ใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ นั่นคือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากกว่า”
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ภาพของอาซาว่าที่คนภายนอกเห็นดูเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่หมูบอกกับเราว่า อาซาว่าก็เคยมีช่วงวิกฤตถึงขั้นเหลือเสื้อผ้าในสต๊อกราวหมื่นตัวเลยทีเดียว ณ ตอนนั้นเขากลับมานั่งทบทวนกับตัวเองว่าอะไรคือปัญหา และจะทำอย่างไรเพื่อคลี่คลาย
สิ่งเหล่านี้ เมื่อกลับมานั่งทบทวนดูเขาพบว่า สิ่งที่อาซาว่าขาดหายไปคือจิตวิญญาณของแบรนด์ การที่สินค้าจะอยู่ในตลาดและครองใจลูกค้าได้ต้องมีการสร้างตัวตนที่แตกต่างและมีความเฉพาะตัวของแบรนด์ ถ้าขาดตรงนี้ไปคนก็ไม่รู้จัก ความมั่นคงในจิตวิญญาณจึงเป็นสิ่งสำคัญของคนสร้างแบรนด์
“สิ่งหนึ่งอาจจะเพราะเราไม่ได้มองหัวใจของธุรกิจอย่างจริง ๆ จัง ๆ เรามองด้วยยอดขายด้วยกระแสของตลาด มันทำให้เราขาดสติปัญญา เลยกลับมานั่งคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้เสื้อผ้าของเรากลับไปมีตัวตนและจิตวิญญาณ มีคุณค่ากับตัวเราและผู้บริโภคอย่างแท้จริง ก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำได้”
จนถึงตอนนี้นับได้ว่า อาซาว่าเป็นแบรนด์ไทยอันดับต้น ๆ ของประเทศที่ได้รับความไว้วางใจจากเหล่าเซเลบ ดารา และคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ธุรกิจที่กำลังโตวันโตคืนเช่นนี้ แต่หมูกลับมองถึงโอกาสและอนาคตของแบรนด์อย่างค่อยเป็นค่อยไป การเติบโตของบริษัทเป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่กระเสือกกระสน ทุกคนที่ทำงานร่วมกัน มองเห็นคุณค่าและศรัทธาในสิ่งเดียวกัน ธุรกิจก็จะไปได้เรื่อย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติโดยที่ไม่ได้บีบคั้นมากเกินไป ส่วนการวางแผนต้องมีอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับตัวเขาคือการใช้สัญชาตญาณ
“สิ่งที่จะกำหนดตัวตนและความสุขของผมก็คือ สัญชาตญาณ ผมใช้สิ่งนี้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอด ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ว่าพอใจในสิ่งที่ทำ และไม่ได้ทำให้ใครลำบาก อย่างน้อยที่สุดพนักงานของเรามีกินมีใช้มีความสุขและเขาก็แฮปปี้กับองค์กร ผมว่าความเจริญเติบโตในปริมาณแบบนี้มันค่อนข้างน่าพอใจ”
จากคนที่เติบโตมาจากครอบครัวนักธุรกิจ มาทำธุรกิจของตัวเอง และประสบความสำเร็จ เราได้ถามถึงมุมมองต่อกระแสที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนผันตัวสู่การเป็นเจ้านายตัวเอง และคำแนะนำสำหรับคนที่คิดจะเข้าสู่คำว่า “เป็นเจ้านายตัวเอง”
หมูให้ความเห็นและคำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจว่า คนส่วนใหญ่อยากทำธุรกิจแต่ไม่ได้อยากลำบาก และหลายคนคิดว่าการออกมาเป็นเจ้านายตัวเองสบายกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือน ในความเป็นจริงการเป็นเจ้าของธุรกิจสบายน้อยกว่า งานหนักกว่า เพราะการทำอะไรโดยไม่มีแบบแผน ไม่มีใครบังคับต้องใช้ความมุ่งมั่น วินัย และความเพียรมหาศาล
“เราควรจะรู้ว่าอะไรคือจุดแกร่งของเรา บางคนทำงานรับเงินเดือนแล้วประสบความสำเร็จ สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ก็มีเยอะแยะ บางคนที่บอกไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน เพราะว่ารักสบาย ผมจะบอกให้ว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจสบายน้อยกว่า งานหนักกว่า การจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองโดยไม่มีแพลตฟอร์ม ไม่มีใครบังคับ ต้องใช้ความมุ่งมั่น ต้องใช้วินัยและความเพียรมหาศาล
คนที่พูดว่าฉันไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน 99% เป็นพวกขี้เกียจ ไม่อยากอยู่ในแบบแผน ไม่อยากตื่นเช้า ไม่อยากทำงาน คนพวกนี้อยู่ที่ไหนก็ไม่ประสบผลสำเร็จ โลกนี้ไม่ใช่โลกของคนขี้บ่น ไม่ใช่โลกของคนขาดความมุมานะ เพราะฉะนั้น คนที่ประกอบไปด้วยความมุ่งมั่น วินัย และความเพียร ไม่ว่าคุณจะรับเงินเดือน รับราชการ ทำงานจิตอาสา เจ้าของธุรกิจ คุณจะประสบความสำเร็จทั้งนั้น เพียงแต่ว่าคุณมองตัวเองว่าอยากจะบริหารจัดการกับความเสี่ยงมากแค่ไหน การทำธุรกิจของตัวเองมันมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง มีความกดดันสูงตามขึ้นมา คุณพร้อมที่จะรับความกดดันเหล่านั้นไหม
คนที่เกิดหลังปี 2000 เกิดมาพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ เกิดมาในช่วงที่ทุกอย่างเจริญรุ่งเรือง มีแพลตฟอร์มการสื่อสาร มีอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างเริ่มต้นง่าย แต่คนอื่นก็เริ่มต้นได้ง่ายเหมือนกัน ทุกคนเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ทุกคนก็ไปได้ง่าย ๆ เหมือนกัน เพราะมันไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่ให้คนอื่น ๆ เข้ามาในสิ่งที่เราทำ คนที่จะกระเด้งเหนือชาวบ้านออกมาได้มันต้องมี extraordinary ต้องมี
สิ่งที่มนุษย์คนอื่นไม่มี ถ้าคุณทำงานเท่าคนอื่น ตื่นสายเท่าคนอื่น ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่คุณทำเท่ากับทุกคน คุณคิดว่าคุณจะเจริญกว่าคนอื่นหรอ มันเป็นไปไม่ได้ ตรรกะในการใช้ชีวิตมันอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว คนที่ขยันกว่าเท่านั้นคือคนที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ พระพุทธเจ้าสอนไว้จะ 3 พันปีแล้วนะ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ยังไงก็ประสบความสำเร็จ”
เวลาเพียงชั่วโมงเศษ ๆ ในการพูดคุยกับหมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา สิ่งที่ได้พบเห็นเต็มไปด้วยมุมมองและทัศนคติที่เฉียบขาด หนักแน่นในตัวตน และไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง เราเชื่อว่าก้าวต่อไปของอาซาว่าจะสามารถข้ามขีดจำกัดและพัฒนาไปได้ไกลอย่างที่เขาตั้งเป้าไว้แน่นอน
ที่มา : https://www.prachachat.net/d-life/news-209248