หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / มาตรฐาน ‘หนัง’ กับการผลิตที่ยั่งยืน

มาตรฐาน ‘หนัง’ กับการผลิตที่ยั่งยืน

กลับหน้าหลัก
30.07.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 472

มาตรฐาน ‘หนัง’ กับการผลิตที่ยั่งยืน

จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจต่าง ๆ ก็หันไปยังหนังที่ยั่งยืนที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบ ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความตระหนักมากกว่าสมัยก่อน และคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าแบรนด์ที่ตนซื้อ จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีจริยธรรมและความโปร่งใส ผลก็คือ อุตสาหกรรมเครื่องหนังต้องปรับตัว และเนื่องจากหนังเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่มีความสำคัญมากที่สุดในอุตสาหกรรมรองเท้า ดังนั้น การที่จะทราบว่าหนังหรือรองเท้าผลิตอย่างยั่งยืนหรือไม่ ก็คือ การมีใบรับรอง ดังตัวอย่างมาตรฐานและการให้ใบรับรอง ต่อไปนี้:

มาตรฐานเครื่องหนัง โดย Oeko-Tex ให้การรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ และปกป้องผู้บริโภค แต่ไม่ใช่มาตรฐานสิ่งแวดล้อมหรือสังคมในห่วงโซ่การผลิต

“Naturleder IVN certified” ให้การรับรองมาตรฐานของสมาคม International Association of the Natural Textile Industry (IVN) ซึ่งนับว่าเป็นใบรับรองที่เข้มงวดที่สุดสำหรับหนังที่ยั่งยืน ประกอบด้วย การรับรองทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิต จากวัตถุดิบไปจนถึงการจำหน่ายและการใช้หนังสำเร็จรูป (ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์หนังสำเร็จรูป) ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวส่วนใหญ่รู้จักในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน

คณะทำงานด้านหนัง Leather Working Group หรือ LWG ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ให้การรับรองบริษัทไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ จึงเกี่ยวข้องกับผู้เล่นหลายรายในอุตสาหกรรม การค้า สถาบัน และ NGOs แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภค ทั้งนี้ จำนวนสมาชิกเพิ่มจาก 160 องค์กรในปี 2017 เป็น 1,300 องค์กรในปัจจุบัน สมาชิกที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Adidas และ Zalando

Cads (Cooperation for Assured Defined Standards for Footwear and Leather Goods Products e.V.) ริเริ่มโดยภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี ตั้งอยู่ในสถาบัน German Footwear Institute (DSI) ที่เมือง Offenbach ก่อตั้งเมื่อปี 2008 เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และกำหนดขั้นต่ำการใช้สารที่เป็นอันตราย ปัจจุบัน มีสมาชิก 76 ราย ที่มีชื่อเสียง เช่น ANWR, Sabu, Birkenstock, Görtz, Gabor, C&A, Deichmann, Ricosta, Picard, Lloyd และ Lowa เนื่องจากองค์กรดังกล่าวไม่ได้ออกใบรับรอง จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม Cads มีผลงานมากมาย เช่น ในปี 2015 Cads ได้ตีพิมพ์คู่มือสำหรับผู้ผลิตหนังเป็นครั้งแรกเพื่อให้หลีกเลี่ยงการเกิด chromium VI ซึ่งเป็นสารอันตราย และได้นำไปแปลในหลายภาษา กลายมาเป็นมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของการแบ่งปันข้อมูล นอกจากนี้  Cads ยังได้ตีพิมพ์รายชื่อ Restricted Substances List (RSL) ซึ่งพัฒนาและปรับปรุงให้ทันสมัยทุกปี เพื่อขจัดหรือลดสารอันตรายจากกระบวนการผลิต ซึ่งบ่อยครั้ง ข้อจำกัดของ Cads เข้มงวดกว่าข้อกำหนดของกฎหมายและกฎระเบียบ REACH (Registration, Evaluation, Authorisation and Restriction of Chemicals) ของสหภาพยุโรป และปัจจุบัน Cads ขยายไปยังมาตรฐานทางสังคม การปกป้องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน และความตระหนักของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ฉลาก Terracare ของเยอรมนี การแปรรูปหนังนับว่ามีความสกปรกเป็นพิเศษ ซึ่งคือเหตุผลที่ทำไมปัจจุบันโรงงานฟอกหนังส่วนใหญ่จึงตั้งอยู่ในประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ เป็นเวลา 15 ปีมาแล้ว ที่ฉลาก Terracare เป็นเครื่องหมายของหนังที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ความยั่งยืนเริ่มจากแหล่งกำเนิดของหนังสัตว์ Terracare จึงทำงานกับโรงฆ่าสัตว์เยอรมันเท่านั้น เพราะมีการตรวจสอบที่ดี ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย และใช้เวลาน้อยเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อไม่ให้สัตว์ต้องทรมาน และเพื่อไม่ให้หนังสัตว์เสียหายระหว่างขนส่งไปยังโรงฟอกหนัง Terracare จะนำความเย็นมาใช้

Ricosta บริษัทผลิตรองเท้าเด็กของเยอรมนี เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ใช้หนังของ Terracare ในการผลิต และยังเป็นสมาชิกของ Cads และเป็นบริษัทผลิตรองเท้าเด็กรายแรกของโลกที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากฉลาก Blue Angel ซึ่งเป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่สูงสำหรับการผลิตและการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสังคม นอกจากนี้ Ricosta ยังได้จัดตั้งระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 1997 และผลิตผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในโรงงานของบริษัทฯ ในยุโรป โดยหนังส่วนใหญ่มาจากเยอรมนีและอิตาลี จึงสามารถควบคุมห่วงโซ่คุณค่าได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับรองเท้าเด็ก

LWG Leather Manufacturer Audit Protocol (LMAP) ทำการประเมินโรงงานผลิตหนังมากว่า 15 ปี  โดยพิจารณาจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต และเพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลิตหนังที่มีความยั่งยืน ทั้งนี้ มาตรฐานการประเมินของ LWG ประกอบด้วยหลายส่วนของการผลิตหนัง เช่น การใช้น้ำ การใช้พลังงาน การจัดการสารเคมี การทิ้งขยะมูลฝอย การบำบัดน้ำเสีย และการจัดการการปล่อยอากาศเสียและเสียง  มาตรฐานดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นมาตรฐานรวมเพื่อประเมินองค์ประกอบทั้งหมดของแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ( Environment, Social responsibility, and Governance หรือ ESG) เมื่อเร็วๆ นี้ LWG ได้เพิ่มข้อกำหนดสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับและการประเมินด้านสังคม โดยการออกข้อกำหนดใหม่ หรือ Protocol 7 ในปี 2021 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของความโปร่งใสภายในห่วงโซ่อุปทาน

โดยสรุป หนังเป็นหนึ่งในวัสดุที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยรองเท้าหนังคู่ที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุประมาณ 3,500 ปีก่อนคริสตกาล ในขณะที่วิธีการผลิตอาจพัฒนาเมื่อเวลาผ่านไป และขนาดของการผลิตก็เพิ่มขึ้น แต่ความสำคัญในชีวิตประจำวันก็ยังเหมือนเดิม นอกจากทรัพยากรแล้ว ความคงทนและอายุการใช้งานของวัสดุก็มีความสำคัญ หนังคุณภาพดีเป็นวัสดุสำคัญในรองเท้า ผลิตภัณฑ์หนัง เฟอร์นิเจอร์ และยานยนต์ ทั้งนี้ ความเหมาะสมในการใช้งาน คุณภาพและความคงทนของผลิตภัณฑ์เครื่องหนังเป็นปัจจัยสำคัญเมื่อพิจารณาถึงชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพราะผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานนาน จะช่วยให้ผู้ที่ตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณผลิตภัณฑ์ที่ใช้และนำกลับมาใช้ใหม่หลายครั้ง

ความยั่งยืนจะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมการผลิตรองเท้าในอนาคต  ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาท้าทาย เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การขาดแคลนทรัพยากร ปัญหาขยะในทะเล จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้นำอุตสาหกรรม ซึ่งรวมอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ที่จะต้องผนวกทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของตนเอง และในเวลาเดียวกัน จะส่งผลให้มีกำไร และสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคด้วย

-------------------------------------------------

ที่มา (ข้อมูลและภาพ) : https://fashionunited.uk/ 

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

กฎระเบียบเครื่องหนัง, อุตสาหกรรม, เครื่องหนังรองเท้า, มาตรฐาน, ความยั่งยืน, การผลิต, หนัง, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66