หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / Mycelium (ไมซีเลียม) เส้นใยจากเห็ดรา

Mycelium (ไมซีเลียม) เส้นใยจากเห็ดรา

กลับหน้าหลัก
03.08.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 1928

Mycelium (ไมซีเลียม) เส้นใยจากเห็ดรา

ในการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา แบรนด์รองเท้าและเครื่องหนังในต่างประเทศส่วนใหญ่มีการเลือกใช้วัสดุดั้งเดิม เช่น โพลิเอสเทอร์ ขนสัตว์ และหนัง เพื่อผลิตรองเท้าและเครื่องประดับ ซึ่งการออกแบบห่วงโซ่อุปทานและกลยุทธ์การผลิตของแบรนด์ต่าง ๆ ก็ยึดวัสดุดังกล่าว แต่ในปัจจุบันแบรนด์รองเท้าและเครื่องหนังชั้นนำของโลกต่างได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการออกแบบและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการรักษ์โลกของผู้บริโภคที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

Hermès collaborated with MycoWorks to make a new edition of its classic Victoria bag using Sylvania, a form of mycelium fabric. Hermès.

ในปี พ.ศ.2564 (ปี 2021) Hermès แบรนด์ลักชัวรี่เจ้าของกระเป๋า Birkin ได้ร่วมกับบริษัท MycoWorks บริษัทสตาร์ทอัพของแคลิฟอร์เนียผลิตกระเป๋าถือคลาสสิค Victoria รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นทางเลือกเครื่องหนังใหม่ที่ใช้ Sylvania หรือผ้าทำจากเห็ด ‘mycelium’ เป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งแกร่งว่า การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังกำลังจะตามมา ซึ่งแบรนด์อื่น ๆ ก็กำลังเปลี่ยนวิธีการผลิตและใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนทางสังคมมากขึ้นตามมา

หรือแบรนด์อุปกรณ์กีฬาอย่าง Adidas มุ่งมั่นที่จะงดการใช้โพลิเอสเทอร์บริสุทธิ์และใช้ทรัพยากรที่รีไซเคิลสำหรับเป็นวัสดุทดแทนและต้องการลดปัญหามลพิษพลาสติก จึงนำขยะพลาสติกมาแปรสภาพเป็นวัสดุสำหรับผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าออกกำลังกายที่มีคุณภาพดีไม่ต่างจากการใช้พลาสติกใหม่ นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมขยะพลาสติกในท้องทะเลและอวนจับปลาน้ำลึกที่ผิดกฎหมายมารีไซเคิลพัฒนาเป็นเส้นด้ายนำมาถักทอเป็นส่วนบน (upper) ของรองเท้ามากกว่าล้านคู่และต่อยอดความสำเร็จสู่การผลิตเสื้อผ้าและชุดออกกำลังกายจากเศษพลาสติกที่ถูกทิ้งมารีไซเคิลเพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก

หรือบริษัทเครื่องแต่งกายกลางแจ้ง Timberland ของสหรัฐฯ ก็มุ่งมั่นที่จะใช้ฝ้าย หนัง และขนสัตว์ จากระบบฟาร์มเกษตรกรรมฟื้นฟู  โดยเน้นการจัดการที่ดินที่มีความรับผิดชอบและผลนิเวศเชิงบวก  เช่นเดียวกับแบรนด์อื่น ๆ ที่ต่างก็หันไปใช้ทางเลือกแทนที่จะใช้หนังสัตว์บริสุทธ์ เช่น แบรนด์ Ganni ของเดนมาร์กจะทยอยเลิกใช้วัสดุดังกล่าวเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินท์ทั้งหมด 

การพัฒนาวัสดุและขบวนการใหม่ ๆ กำลังดำเนินไปด้วยดีจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและพันธมิตรระหว่างแบรนด์และผู้คิดค้นนวัตกรรมซึ่งเดิมเป็นไปอย่างช้า  อย่างไรก็ตาม ก็มีความท้าทายที่สำคัญ เช่น การแข่งขันเพื่อให้ได้ขนาดการผลิตที่เพียงพอ ทั้งนี้  ผู้คิดค้นนวัตกรรมวัสดุและผู้ปลูกเห็ด mycelium ต้องใช้เงินทุนเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ซึ่งแบรนด์ต่าง ๆ สามารถสนับสนุนได้โดยการลงทุนหรือการแสดงความมุ่งมั่นที่จะซื้อในระยะยาว ทั้งนี้ ต้องใช้เงินหลายพันล้านเหรียญฯ สำหรับเงินทุนและนวัตกรรมเพื่อให้ได้ขนาดของอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้วัสดุทางเลือกสามารถแข่งขันได้จากระบบที่ออกแบบให้ธุรกิจมีการเติบโตและทำกำไรสูงสุด มากกว่าการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

Ecovative

Ecovative originally developed its mycelium technology for packaging and food, and only recently pivoted towards making imitation hide (pictured above). Ecovative.

บริษัท Ecovative ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2550 (ปี 2007) ใช้ mycelium มากว่า 10 ปีแล้ว และเพิ่งเริ่มหันมาผลิตหนังเทียมเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งในการวิจัยและพัฒนาบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากบริษัทลงทุน เช่น Viling Global Investors และ Senator Investment Group ทั้งนี้ ฟาร์มแนวตั้งแห่งใหม่ของ Ecovative มีกำลังการผลิต 3 ล้านตารางฟุตต่อปี โดยใช้ที่ดินเพียง 1 เอเคอร์ ที่ออกแบบเพื่อผลิตวัสดุดังกล่าวเป็นแผ่นใหญ่โดยปราศจากวัสดุเคลือบที่ทำจากปิโตรเลียม นอกจากนี้ ยังก่อตั้งสหกรณ์แห่งใหม่ที่เน้นอุตสาหกรรมแฟชั่นและคาดว่าจะกระตุ้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สมาชิกร่วมก่อตั้งคือ PVH Crop. และ Bestseller ที่สามารถเข้าถึงหนังเทียมทำจาก mycelium ของ Ecovative ได้โดยตรง โดยแลกกับความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การกระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเป็นหัวใจของการเติบโต แต่ก็ต้องตระหนักเรื่องความคุ้มค่าของความยั่งยืนของวัสดุด้วย ปัจจุบัน Ecovative ยังไม่ได้ทำการประเมินวงจรชีวิตที่สมบูรณ์สำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทและขณะเดียวกันก็ต้องผลิตให้ได้ตามขนาดของอุตสาหกรรม

MycoWorks

MycoWorks บริษัทวัสดุชีวภาพของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี พ.ศ.2556 (ปี 2013) เป็นผู้ผลิตกระเป๋าถือทำจาก mycelium ของแบรนด์ Hermès สามารถระดมเงินทุนได้ 125 ล้านหรียญสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี พ.ศ.2565 (ปี 2022) รวมกับเงินทุนเดิมจากแบรนด์แฟชั่นอีกหลายราย ซึ่งเงินทุนดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ สร้างโรงงานที่ผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์และอุปทานไม่ตรงกันเพราะยังมีแบรนด์แฟชั่นบางรายที่ยังไม่มั่นใจทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น mycelium ของ MycoWorks บางแบรนด์จึงจะรอจนกว่าบริษัทจะสามารถผลิตวัสดุดังกล่าวในเชิงอุตสาหกรรมได้ เช่น Lupa แบรนด์สินค้าเครื่องหนังต้องรอ 2 ปีกว่าจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำจาก mycelium ของ MycoWorks ได้ 

Bolt Threads

บริษัทด้านวัสดุศาสตร์ Bolt Threads ผลิตวัสดุทำจาก mycelium ชื่อ ‘Mylo’ ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากพืช แต่ก็ยังใช้วัสดุเทียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสม่ำเสมอ ทั้งนี้ Bolt Threads ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2552 (ปี 2009) และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Mylo เมื่อปี พ.ศ.2561 (ปี 2018) โรงงานแห่งใหม่มีกำหนดเดินเครื่องปลายปี พ.ศ.2565 (ปี 2022) โดยแบรนด์อย่าง Stella McCartney, Lululemon และ Ganni เคยทดลองวัสดุ mycelium ของบริษัทฯ โดยผลิตกระเป๋าถือ ถุงใส่ชุดกีฬา และกระเป๋าสตางค์

-------------------------------------------------

ที่มา (ข้อมูลและภาพ) : BOF: The Business of Fashion, Case Study, Fashion’s Race for New Materials

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

เทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องหนัง, อุตสาหกรรม, เครื่องหนัง, Mycelium, ไมซีเลียม, เส้นใย, เห็ดรา, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66