หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / ทิศทางการจัดหา (sourcing) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของสหรัฐอเมริกา ในปี 2566

ทิศทางการจัดหา (sourcing) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของสหรัฐอเมริกา ในปี 2566

กลับหน้าหลัก
01.08.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 328

ทิศทางการจัดหา (sourcing) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของสหรัฐอเมริกา ในปี 2566

คุณ Ed Gribbin ประธาน SPESA ได้ให้สัมภาษณ์ในระหว่างการจัดงานแสดงสินค้า Texprocess Americas 2023 เกี่ยวกับการจัดหา (sourcing) สินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันและคาดการณ์อนาคต และการตระหนักถึงการจัดหาในประเทศอื่น ๆ ทั้งจีน เวียดนาม อินเดีย และอเมริกากลาง 

Ed Gribbin shares his thoughts on US apparel sourcing both today and in the future as well as what to be aware of when sourcing from China, Vietnam, India and Central America. Credit: Just Style

คุณ Ed Gribbin หนึ่งในคณะกรรมการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากหลากหลายคณะ อาทิ คณะกรรมการบริหารของสภาเสื้อผ้านานาชาติ (International Apparel Federation) และคณะกรรมการนโยบายการค้าของสมาคมเสื้อผ้าและรองเท้าของสหรัฐฯ (Board and Trade Policy Committee of the American Apparel and Footwear Association) อีกทั้งยังเป็นนายกสมาคมซัพพลายเออร์ของสหรัฐฯ (Sewn Products Equipment & Suppliers of the Americas หรือ SPESA) เป็นต้น

ทิศทางของนโยบายนำเข้า-ส่งออกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในสหรัฐเมริกา

คุณ Gribbin เชื่อว่า สหรัฐฯ มีนโยบายการค้าที่แข็งแกร่ง แต่อาจถูกกระทบจากการที่ไม่เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership: TPP ซึ่งความตกลงดังกล่าวจะทำให้สหรัฐฯ มีพันธมิตรธุรกิจทางการค้าที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และจะยังเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญในการจำกัดความสามารถของจีนต่อการควบคุมตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มีกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) โดยสหรัฐฯ มีบุคลากรที่มีศักยภาพระดับสูงในการทำหน้าที่ดำเนินการเจรจา เพื่อให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกมีโอกาสมากขึ้นในการจัดหาจากเอเซียที่มีพันธมิตรที่มีความรับผิดชอบ 

คุณ Gribbin อธิบายเพิ่มเติมว่า แบรนด์และผู้ค้าปลีกสหรัฐฯ กำลังใช้ประโยชน์จากข้อตกลงสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (US-Mexico-Canada Agreement หรือ USMCA) (เดิมชื่อข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement หรือ NAFTA) ที่มีเงื่อนไขใหม่ ๆ เพื่อให้มีความโปร่งใสและการปกป้อง และอาจต้องมีการทบทวนปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกากลาง (Dominican Republic-Central America-United States Free Trade Agreement หรือ CAFTA-DR) ด้วยหลักการเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม คุณ Gribbin ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมาก และการค้าไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรกของสภาคองเกรสของสหรัฐฯ หรือของประธานาธิบดี Biden ในปัจจุบัน และไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรกของรัฐบาลของประธานาธิบดี Trump ด้วย ดังนั้น จึงต้องดูกันต่อไปว่าจะมีการทบทวนข้อตกลงในอนาคตหรือไม่ 

ขณะเดียวกัน ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งและเหตุผลที่ข้อตกลง CAFTA-DR ไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรก เพราะเป็นข้อตกลงที่ทำให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกสหรัฐฯ มีความสามารถจำกัด ส่วนหนึ่งจากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่กำหนดให้เส้นด้ายและผ้าผืนทั้งหมดต้องจัดหาโดยประเทศสมาชิก (Yarn Forward rule of origin) คือ สหรัฐฯ หรือในภูมิภาค CAFTA-DR ซึ่งภูมิภาคดังกล่าวมีความสามารถจำกัดในการผลิตเส้นด้ายและผ้าผืน จึงต้องพึ่งเส้นด้ายจากสหรัฐฯ เป็นอย่างสูงในบางกรณี ซึ่งก็เป็นการดี แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านความหลากหลาย  ซึ่งความจริงแล้ว ประเภทผ้าผืนที่ผลิตได้ในจีน ไม่สามารถผลิตได้ในภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่จะปรับปรุงข้อตกลง CAFTA-DR แต่ต้องให้สภาคองเกรสผลักดัน

ทั้งนี้ องค์กรต่าง ๆ ได้พยายามล็อบบี้สภาคองเกรสเป็นประจำ ในประเด็นเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมของตน แต่ความพยายามในการทำให้สภาคองเกรสสนใจเรื่องการค้าเป็นสิ่งที่ยากมากเป็นอย่างมาก 

ตามความเห็นของ คุณ Gribbin สิ่งที่สำคัญจริง ๆ คือ กฎหมาย African Growth and Opportunity Act: AGOA (กฎหมายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือประเทศแถบ sub-Sahara ของอัฟริกาในการเพิ่มการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ) และ Haitian Hemisphere Opportunity through Partnership Encouragement (Hope) Act  (กฎหมายของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือประเทศเฮติในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ) ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สภาคองเกรสจะต้องเร่งดำเนินการ มิฉะนั้น แบรนด์และผู้ค้าปลีกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศดังกล่าว อาจเสียผลประโยชน์ภายในเวลาปีครึ่งหรือสองปีข้างหน้า

ในกรณีของแอฟริกา กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เชื่อมั่นว่า กฎหมายดังกล่าวสามารถต่ออายุได้อีกภายในเดือนสิงหาคม ซึ่งจะทำให้บริษัทต่าง ๆ มีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นในการลงทุนตามข้อตกลงของ AGOA

ขณะเดียวกัน เขตการค้าเสรีของเฮติที่เมือง Codevi จ้างแรงงานเฮติหลายหมื่นคน ซึ่งช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจน ในขณะที่อนุญาตให้มีการนำเข้าปลอดภาษี โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ yarn forwarding

เฮติเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด เพราะสามารถช่วยได้ทั้งแบรนด์และผู้ค้าปลีกของสหรัฐฯ และชาวเฮติ ดังนั้น การทำให้มีการลงนามในกฎหมาย HOPE อีกครั้งหนึ่ง จะกระตุ้นให้แบรนด์และผู้ค้าปลีกไปลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก

เทรนด์การจัดหาเสื้อผ้าล่าสุดของสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลง CAFTA-DR 

ภายใต้ข้อตกลง CAFTA-DR  รายการ short supply ถูกเพิ่มเข้ามา เพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้ทดแทนเมื่อขาดแคลนผ้าผืนบางชนิดในภูมิภาคดังกล่าว (short supply คือ รายการผ้าผืนที่ไม่มีในเชิงพาณิชย์ภายในประเทศคู่ภาคี และสามารถใช้วัสดุที่มาจากประเทศนอกข้อตกลงได้ ในการผลิตเสื้อผ้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยปลอดภาษี) ทั้งนี้ภายในสองปี ผ้าผืน 150 ชนิดได้รับการอนุมัติให้อยู่ในรายการ short supply แต่หลังจากนั้น ก็แทบไม่มีกิจกรรมใด ๆ บริษัทต่าง ๆ พยายามให้มีการเพิ่มผ้าผืนเข้าไปในรายการดังกล่าว แต่ก็ปราศจากผลเนื่องจากกลไก short supply ไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิผลในการเพิ่มความยืดหยุ่นของผ้าผืนและเส้นด้ายในภูมิภาคดังกล่าวนั่นเอง

ผลกระทบของกฎ Yarn Forwarding 

กฎ yarn forwarding มีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้ผู้คนจัดหาองค์ประกอบทุกอย่าง (เส้นด้าย ผ้าผืน การย้อมสี การตกแต่งสำเร็จ การถักและการทอ) ในภูมิภาค และเพื่อเพิ่มการลงทุนในภูมิภาค แต่ปัญหาก็คือ ภูมิภาคดังกล่าวไม่มีความสามารถในการผลิตที่หลากหลาย และอาจไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในหลายเรื่อง 

ความหวังก็คือ จะมีผู้ลงทุนในอเมริกากลาง ถึงแม้จะยังไม่มีการลงทุนที่เร็วพอ แต่ก็เริ่มมีการสัญญาณถึงทิศทางการลงทุน ความหวังในอนาคตก็คือ กฎ yarn forwarding จะยังคงกระตุ้นให้มีการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าว 

คุณ Gribbin ยอมรับว่า หลายคนในอุตสาหกรรมต้องการระงับการใช้กฎ yarn forwarding เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อเพิ่มการจ้างงานอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีผลประโยชน์เป็นจำนวนมากในอุตสาหกรรมสิ่งทอและองค์กรสิ่งทอแห่งชาติของสหรัฐฯ ที่จะล็อบบี้อย่างแข่งขันเพื่อต่อต้านการระงับดังกล่าว

โดยมองว่า องค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวทำถูกแล้วที่จะปกป้องสมาชิกของตน แต่หากมองในภาพใหญ่ จะเป็นการหยุดผู้อพยพเข้าประเทศ และเพิ่มเสถียรภาพในอเมริกากลาง และหากสหรัฐฯ มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมยืนยันว่าสาขาสิ่งทอสามารถช่วยแก้ปัญหาได้                

ตัวอย่างที่สำคัญ คือ ‘เวียดนาม’ ที่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสร้างความร่ำรวยโดยการส่งออก และเพิ่มการจ้างงาน จากแต่เดิมที่มีจำนวนน้อยกว่า 1 ล้านคน เป็นมากกว่า 5 ล้านคน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากอุปสรรคถูกยกเลิก อเมริกากลางก็จะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันในระยะเวลาอันสั้น และเชื่อว่า จะค่อย ๆ มีการจ้างงาน 1 แสนคน แต่จะไม่แก้ปัญหาในวงกว้างเร็วพอ สำหรับผู้ผลิตในอเมริกากลาง กฎ yarn forwarding อาจถูกมองว่าไม่ยุติธรรม เพราะผู้ผลิตสามารถส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้โดยปลอดภาษี แต่ต้องซื้อผ้าผืนจากสหรัฐฯ หรือจากภูมิภาค 

คุณ Gribbin เน้นว่า ผู้ผลิตต้องการความยืดหยุ่นอย่างสูง เพื่อให้ได้คำสั่งซื้อที่ดีที่สุด พร้อมได้เปรียบเทียบ กฎ yarn forwarding ว่าเป็นเสมือนการใส่กุญแจมือผู้ผลิตในอเมริกากลาง และอาจนำไปสู่การที่ผู้ผลิตดังกล่าว บอกว่าไม่มีความสามารถในการผลิตตามคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะเมื่อกฎ yarn forwarding ไม่ใช้กับคำสั่งซื้อที่ทำกับสหภาพยุโรป

ผลกระทบของการทำธุรกิจของจีนกับเวียดนาม บังกลาเทศ และอินเดีย 

‘เวียดนาม’ เป็นประเทศสำหรับจัดหาเสื้อผ้าที่ดี โดยคุณ Gribbin วิเคราะห์ว่า การที่ผู้ผลิตจีนไปลงทุนในเวียดนาม ทำให้สิ่งทอมีโอกาสมากขึ้น รวมทั้งการลงทุนโดยรัฐบาลเวียดนามเองด้วย เวียดนามจึงอาจเป็นจีนแห่งที่สอง เพียงแต่เวียดนามมีประชากรเพียงร้อยละ 15 ของประชากรจีน

ในมุมของการผลิต ‘จีน’ ยังคงต้องการออกจากธุรกิจเสื้อผ้า และต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะนำความร่ำรวยมาสู่ประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตาม จีนมีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งทอมากที่สุดในโลกในบางสาขา และกำลังมองไปที่อื่นที่มีพลวัตที่น่าสนใจ เช่น การลงทุนในบังกลาเทศและอินเดีย   

ในส่วนของ ‘อินเดีย’ มีความต้องการที่จะเป็นประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้ามากขึ้น โดยปัจจุบันจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ แต่ก็กำลังเตรียมตัวสำหรับโอกาสการส่งออกมากขึ้น 

Gribbin ชี้ว่า จีนได้ลงทุนในการผลิตสิ่งทอในแอฟริกา และเขาเชื่อว่า จีนกำลังมองอัฟริกาว่ามีศักยภาพในการตัดเย็บ ซึ่งจีนไม่ประสงค์ที่จะทำอีกต่อไป แต่จีนก็ยังต้องการควบคุมทิศทางของกำไร ซึ่งการเป็นเจ้าของโรงงานในอัฟริกาทำให้จีนสามารถควบคุมทิศทางของเงินได้

ขณะเดียวกัน การสอบกลับสำหรับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (chain of custody) มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในส่วนของความโปร่งใสของการจัดหาฝ้าย โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯ ปราบปรามสินค้าทุกชนิดที่มาจากเขตปกครองตนเองซินเจียงในจีน

คุณ Gribbin อธิบายว่า มีการอ้างว่าประชากรของเขตปกครองตนเองซินเจียง ถูกเคลื่อนย้ายไปทำงานในส่วนอื่น ๆ ของจีน ภายใต้สภาพแรงงานบังคับ ดังนั้น จึงไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เสื้อผ้าจากฝ้ายที่จัดหาจากจีน มาจากแหล่งที่ไม่ใช้แรงงานบังคับหรือไม่ หากมองในแง่ดี อุตสาหกรรมสหรัฐฯ จะไม่รู้สึกไม่สบายใจ หากซื้อจากซัพพลายเออร์จีนในเอธิโอเปีย แทนที่จะซื้อจากจีน ดังนั้น จึงอาจเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว

วิธีการปรับปรุงฐานการจัดหาของสหรัฐฯ 

คุณ Gribbin วิเคราะห์ว่า เกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือญี่ปุ่น ต่างเริ่มจากเป็นประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้า และตระหนักว่าสามารถมุ่งไปยังการออกแบบสิ่งทอ และจัดจ้างแรงงานจากภายนอกเพื่อผลิตเสื้อผ้า

พร้อมอธิบาย (เพิ่มเติม) ว่า ‘เกาหลีใต้’ ได้สร้างอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและซับซ้อนมาก โดยมีพื้นฐานของการออกแบบสิ่งทอและการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ พร้อมนี้เกาหลีใต้ลงทุนมากในเขต CAFTA-DR จาก Youngone Corporation ผู้ผลิตเสื้อผ้าสมรรถนะสูงที่เป็นเจ้าของโรงงานสองแห่งในนครลอสแอนเจลีส 

“สำหรับการผลิตเสื้อผ้าในสหรัฐฯ จะต้องมีการลงทุนมากขึ้น และจะได้ประโยชน์จากระบบหุ่นยนต์ที่ทันสมัยและสิ่งทออัจฉริยะ เพื่อให้มีข้อเสนอที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้า และราคาที่ถึงแม้จะสูงกว่า แต่ก็สมเหตุสมผลของเสื้อผ้าที่ผลิตในสหรัฐฯ” 

คุณ Gribbin เชื่อว่า สหรัฐฯ และภูมิภาคดังกล่าว จะต้อนรับนักลงทุนที่เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

โดยสรุป ทิศทางการจัดหาเสื้อผ้าของสหรัฐฯ ในปี 2566 และในอนาคตยังอยู่ในเกณฑ์บวก และเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบในสหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวและขยายการเติบโตได้ เนื่องจากจุดแข็งที่สำคัญของสหรัฐฯ คือ มีประชากรที่มีความยืดหยุ่น ในส่วนของผู้บริโภคและนักธุรกิจ สหรัฐฯ เป็นผู้นำโลกด้านนวัตกรรม ผู้บริโภคที่ชาญฉลาดและผู้ผลิตที่ชาญฉลาด ที่ทราบว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดได้อย่างไรและที่ไหนทั่วโลก

โดยเฉพาะเมื่อเดินรอบงานแสดงสินค้า Texprocess Americas 2023 คุณจะได้พบกับนวัตกรรมและการลงทุนมากมาย ซึ่งทำให้มั่นใจถึงความเชื่อมั่นในอนาคตสำหรับตลาดหลักของโลกอย่าง “สหรัฐอเมริกา”

-------------------------------------------------

ที่มา : www.just-style.com 

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ความเคลื่อนไหวสิ่งทอ, USA, sourcing, apparel, 2023, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66