หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / ปักหมุดตุรเคีย : โอกาสและความท้าทายสู่ความสำเร็จในธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

ปักหมุดตุรเคีย : โอกาสและความท้าทายสู่ความสำเร็จในธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

กลับหน้าหลัก
20.07.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 271

ปักหมุดตุรเคีย : โอกาสและความท้าทายสู่ความสำเร็จในธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

มีการคาดการณ์ว่า ‘ตุรเคีย’ จะส่งออกสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแตะที่ระดับ 40 พันล้านเหรียญฯ แต่เนื่องด้วยปัจจัยด้านลบทั้งจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่ทะยานเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ตุรเคียจะยังอยู่ในตำแหน่งที่สามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจในด้านแหล่งวัตถุดิบได้หรือไม่ 

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุรเคียได้รับอานิสงค์จากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อจากยุโรปพุ่งสูง โดยในปัจจุบันตุรเคียนับเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากจีน สหภาพยุโรป เวียดนาม และบังกลาเทศ โดยมีมูลค่าส่งออก 21.2 พันล้านเหรียญฯ อุตสาหกรรมดังกล่าวใช้โอกาสในการย้ายฐานการผลิตกลับมาใกล้ประเทศของตน (nearshoring) โดยการลงทุนในเทคโนโลยีและเครื่องจักร เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนและอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายที่จะส่งมอบสินค้าตามใบสั่งซื้อในเวลาที่เร็วมากกว่าการส่งมอบจากเอเชีย นอกจากนี้ ซัพพลายเออร์ตุรกียังมีความน่าสนใจมาก จากการบูรณาการในแนวตั้งของห่วงโซ่อุปทานเสื้อผ้าในประเทศเป็นสำคัญ 

การบูรณาการในแนวตั้ง – กุญแจสำคัญของตุรเคีย 

คุณ Cem Altan ผู้ก่อตั้งบริษัท Aycem Textiles และประธาน International Apparel Federation (IAF) กล่าวว่า ตุรเคียอยู่ในตำแหน่งพิเศษหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งหรือประเทศผู้ผลิตเสื้อผ้ารายอื่น ๆ เนื่องจากตุรเคียมีการปลูกฝ้ายเอง เพื่อปั่นเป็นเส้นด้ายและถักทอเป็นผ้าผืน และตุรเคียยังเป็นประเทศผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีความสามารถในการผลิตเส้นใยฝ้ายสำหรับผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จุดแข็งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความเร็ว (speed) เพราะทำให้สามารถตอบสนองต่อคำสั่งซื้อของลูกค้าได้เร็วขึ้น และผลิตสินค้าที่หลากหลายได้มากขึ้น โดยในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุรเคีย มีการเชื่อมโยงกับทุกขั้นตอนการผลิตอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นภาพมุมสูงของการดำเนินการทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนงาน

ขณะเดียวกัน โรงงานในเครือของบริษัทฯ มีการตรวจสอบย้อนกลับและมีการลงทุนในด้านการออกแบบและการผลิตด้วยระบบดิจิทัล เพื่อประหยัดเวลาและเพิ่มผลิตภาพ บริษัทฯ ได้ลงทุนในด้านการออกแบบเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น ไปพร้อม ๆ กับการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้มีข้อได้เปรียบสำหรับอุตสาหกรรมดังกล่าวในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการส่งออกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.-20 ต่อปี

ในมุมมองของคุณ Elif Sahinler ผู้จัดการทั่วไปของ Bozkurt ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของ Kipas Holding กล่าวว่า การมีกระบวนการผลิตที่ครบทุกขั้นภายในเครือของบริษัทฯ ทำให้เป็นจุดแข็งในการดึงดูดสำหรับผู้ซื้อจากต่างชาติ ทั้งนี้ แบรนด์ดังกล่าวมีโรงงานผลิต 2 แห่งในเมืองอิสตันบุล และโรงงานอีกหนึ่งแห่งในอียิปต์ ซึ่งบริษัทฯ ได้จัดทำโชว์รูมแสดงทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิต อาทิ แผนกผ้าผืนและแผนกเสื้อผ้า จึงทำให้ลูกค้าสามารถเลือกดูแบบต่าง ๆ ได้ และหากต้องการเปลี่ยนผ้าก็สามารถทำได้ทันที โดยวิธีดังกล่าวทำให้ลูกค้าสามารถเห็นรายละเอียดทุกขั้นตอนการผลิต เข้าถึงได้ง่าย และส่งมอบสินค้าได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นหัวใจหลักที่สำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน

ชัยชนะของความยั่งยืน

ผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุรเคียให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเป็นสำคัญ เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคและลูกค้าต่างให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในประเทศตุรเคียต่างให้ความสำคัญและมีการลงทุนเพื่อให้สอดรับในประเด็นดังกล่าว

คุณ Ismail Kolunsağ กรรมการบริษัทของ IHKIB and Cross Jeans เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 1939 ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย 3 แห่ง ทั้งในตุรเคียและอียิปต์ และบริษัทฯ ได้ก็ได้ลงทุนในประเด็นด้านความยั่งยืนมาหลายปีแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการรีไซเคิลน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่อีกครั้ง โดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการควบคุมทุกขั้นตอนการผลิตภายในโรงงาน ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสำหรับคนงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคนงานไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีในกระบวนการผลิต อีกทั้งบริษัทฯ ได้ใช้มาตรการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อิงกับหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets Initiative หรือ SBTi) ซึ่งเป็นระบบที่ลูกค้าของบริษัทฯ สามารถใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภคได้

มาตรการด้านความยั่งยืน ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน แต่การดำเนินธุรกิจบนมาตรการดังกล่าวยังคงมีต้นทุนค่าใช้จ่ายอยู่ในเกณฑ์สูง เช่น ผ้าผืนที่ทำจากฝ้ายออร์แกนนิคยังมีราคาอยู่ในเกณฑ์สูงหากเปรียบเทียบกับผ้าผืนที่ทำจากฝ้ายทั่วไป อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ลงทุนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืน พร้อมกับได้ตระหนักว่า ฝ้ายรีไซเคิลก็มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และได้ลงทุนติดตั้งระบบรีไซเคิลฝ้ายภายในโรงงาน เพราะขณะนี้ตลาดมีความต้องการสูงมาก ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของบริการ หากซัพพลายเออร์ต้องการทำงานกับแบรนด์ใหญ่หรือร้านที่มีสาขาหลายแห่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ผ้าผืนเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การรีไซเคิลนำ้ทิ้งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ การประหยัดพลังงาน และสารเคมีให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน 

สำหรับโรงงานของบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นเพื่อสร้างความยั่งยืนพร้อมได้รับการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เช่น  OCS, RCS, BCI และ SEDEX ซึ่งทั้งหมดมาพร้อมกับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและบริษัทฯ ก็แบกรับต้นทุนดังกล่าวอยู่ เนื่องจากลูกค้าจะคิดคำนวณราคาที่จะติดต่อซื้อขายไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะต่อรองราคาเพื่อขยับเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ คาดหวังว่า การมุ่งสู่มาตรการนี้จะสามารถดึงดูดลูกค้าได้ตรงตามเป้าหมายที่หวังไว้

ในขณะเดียวกัน Altan ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงภาคการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุรเคียว่า การรับภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตเพื่อความยั่งยืน อาจทำให้อยู่ต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้ ธุรกิจต้องมีความยั่งยืนในระยะยาว ซัพพลายเออร์ลงทุนเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นสำหรับการผลิต เพื่อให้คนงานมีความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมไม่ถูกกระทบ เพราะต่างทราบว่า การลงทุนจะก่อให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืน แต่ความยั่งยืนมีค่าใช้จ่าย ที่ต้องจ่ายโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน 

ในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากจากกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ ๆ มากมายโดยประเทศผู้นำเข้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากทั่วโลก ซึ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้สามารถจำหน่ายได้ในประเทศผู้นำเข้าดังกล่าวได้ ประเด็นที่สำคัญ คือ กฎหมาย Green Deal Legislation ของสหภาพยุโรป ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน ภายในปี 2030 และ 2050 อุตสาหกรรมทั้งหมดต้องลงทุนในห่วงโซ่อุปทานสีเขียวและยั่งยืน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีราคาและต้องใช้เงินทุนอยู่ในเกณฑ์สูง ปัญหาก็คือ ซัพพลายเออร์หลายรายต่างไม่มีเงินมากพอ ดังนั้น จึงต้องการเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและสหภาพยุโรปเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว 

ค่าแรงที่พุ่งสูงในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุรเคีย

Sahinler แห่ง Bozkurt กล่าวว่า ไม่มี “ความจงรักภักดี (Loyalty)” เพราะเมื่อมีปัญหา ผู้ซื้อก็จะยกเลิกการซื้อทันที ซึ่งเป็นเหตุผลที่จีนครองการส่งออกเสื้อผ้าทั่วโลกมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ 

คุณ Altan อธิบายว่า คนงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุรกี มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 950 เหรียญฯ บวกสวัสดิการ อีกทั้งค่าเงิน Lira ของตุรเคียที่แข็งขึ้น และต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เป็นปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนของผู้ผลิตเสื้อผ้า ที่มีผลต่อคำสั่งซื้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 และต้นปี 2023  

ขณะท่ีเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูงขึ้นไปทั่วโลกแต่สำหรับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย พบว่า ถึงแม้ต้นทุนราคาพลังงาน วัตถุดิบและค่าแรงจะพุ่งสูงขึ้น แต่ลูกค้าก็ยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามยังคงต้องการลดค่าใช้จ่ายน้อยลงด้วยซ้ำ

แบรนด์ตุรกี – พึ่งจุดแข็งของท้องถิ่น 

จากความท้าทายต่าง ๆ ดังกล่าว คำถามก็คือ ‘ตุรเคียจะยังสามารถบรรลุเป้าหมายการส่งออกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มูลค่า 40 พันล้านเหรียญฯ ในอนาคตอันใกล้ได้หรือไม่’ ขณะเดียวกันพบว่า ปัจจุบันมีซัพพลายเออร์หลายรายหันไปสร้างแบรนด์เป็นของตัวเองเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจ และเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและการเป็นที่รู้จักของแบรนด์อื่น ๆ ในตลาดตุรเคีย

‘Join Us’ เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งมาแล้ว 4 ปี มีเว็บไซต์และธุรกิจเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจำหน่ายในประเทศตุรเคีย โดยขายให้กับผู้ค้าส่ง เช่น Gizia และ Beyman สำหรับตลาดภายในประเทศ โดยมีจุดแข็ง คือ บริษัทแม่มีโรงงานที่ป้อนสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลกมาแล้วกว่า 52 ปี เช่น Next, Urban Outfitters, M&S และ Ralph Lauren

คุณ Elif Bakluv ผู้จัดการทั่วไปของ Ugur Konfeksiyon ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Join Us กล่าวว่า บริษัทฯ มีข้อมูลเชิงลึกของตลาดและทราบถึงความเคลื่อนไหวของแบรนด์คู่แข่ง จึงใช้แบรนด์ดังกล่าวเพื่อผลิตคอลเลคชั่นของตนเองโดยชูประเด็นเรื่องความยั่งยืนและทำให้แบรนด์ของตุรเคียเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเนื่องจากมีโรงงานผลิตเป็นของตนเอง นับเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่สามารถผลิตสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงหากเปรียบเทียบกับบริษัทฯ อื่นในประเทศ

Anthropologie มีข้อตกลงที่จะวางจำหน่ายคอลเลคชั่นของ Join Us ในร้านของตนเช่นเดียวกับ New Look และถึงแม้แบรนด์ดังกล่าวยังใหม่ แต่ก็มีแผนที่จะขยายไปยังแผนกเสื้อผ้าเด็กและเสื้อผ้าบุรุษ และต้องการเปิด flagship store เพื่อให้ทั่วโลกได้รู้จักแบรนด์ดังกล่าวและรู้จักเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุรเคียที่มีคุณภาพในระดับพรีเมียม

Kolunsağ อธิบายเพิ่มเติมว่า ‘Cross Jeans’ เป็นแบรนด์ที่อยู่ในตลาดมากว่า 20-30 ปี จึงเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดขายและแสดงให้เห็นถึงทักษะและความเชี่ยวชาญของตน 

โอกาสในตลาดสหรัฐอเมริกา

หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของตุรเคีย คือ “โอกาสการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา” ทั้งนี้ ผู้ผลิตหลายราย เช่น Cross Jeans, Bozkurt และบริษัทผลิตเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่อย่าง Yesim Group ได้ตั้งโรงงานเพิ่มเติมในอียิปต์เพื่อใช้ประโยชน์จากการส่งออกที่ปลอดภาษีเข้าไปยังตลาดสหรัฐฯ

คุณ Altan อธิบายว่า ปัจจุบันตุรเคียเป็นซัพพลายเออร์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อยู่ในอันดับที่ 17 ของตลาดสหรัฐฯ แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการทำการค้ากับสหรัฐฯ คือ ภาษีนำเข้าร้อยละ 16 ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากฝ้ายและสินค้าที่ประกอบด้วยฝ้าย และภาษีเกือบร้อยละ 30 ที่เรียกเก็บจากวัสดุสังเคราะห์

บริษัทฯ มีความหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยกเลิกภาษีดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทฯ นำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากและต้องการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในการส่งกลับไปขายในตลาดสหรัฐฯ ที่ปลอดภาษี หรืออย่างน้อยในมูลค่าเดียวกัน และบริษัทฯ กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐอเมริกา เพราะนับเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องทำงานหนักในการแนะนำซัพพลายเออร์ตุรเคียให้กับแบรนด์ของสหรัฐฯ ให้เป็นที่รู้จัก

นอกจากนี้ คุณ Altan ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจัด webinars และงาน B2B แล้ว ซัพพลายเออร์ตุรเคียยังให้ความสนใจกับตลาดสหรัฐฯ และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถต่าง ๆ ความตกลงที่ทำกับองค์กรการค้าและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เช่น AAFA ก็มีขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงแบรนด์และผู้ค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ประกอบด้วย เพิ่มมูลค่าจาก 3 พันล้านเหรียญฯ เป็น 10 พันล้านเหรียญฯ ภายใน 10 ปี บริษัทฯ ต้องแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบ ซึ่งก็คือตุรเคียไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้าราคาถูก แต่เป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและคุ้มค่า อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นผลิตภัณฑ์ที่รักษ์สิ่งแวดล้อม (sustainable products)

ที่มา : www.just-style.com 

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ภาวะสิ่งทอ, Türkiye, Positioning, Apparel, Sourcing, Opportunities, Challenges, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66