สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2566
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2566 ลดลง ร้อยละ 15.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2565 ที่มีมูลค่า 7,589.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่6,432.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็น สินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.53 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการ ส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 3,461.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 5.24 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนพฤษภาคม 2566 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.16 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2565 และปี 2566
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดใน 5 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 46.19 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 30.91 เช่นเดียวกับราคาทองคำโดยเฉลี่ยในตลาดโลกที่ปรับตัวลงมาจากเดือนเมษายน มาอยู่ที่ระดับ 1,988.66 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) ซึ่งเป็นผลจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายรายการที่ประกาศออกมาในช่วงนี้ยังสะท้อนถึงการขยายตัว อย่างเช่นยอดค้าปลีก การผลิต ภาคอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่างเพิ่มขึ้น ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจึงแข็งค่าขึ้น ทำให้อุปสงค์ทองคำในตลาดโลกลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามเพราะส่งผลเชิงบวกต่อราคาทอง อย่างการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง เพื่อลดระดับอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งความเสี่ยงของธนาคารในสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อภาคการเงิน เนื่องจาก Moody's ปรับลดอันดับเครดิตธนาคารสหรัฐฯ 11 แห่ง ทำให้แนวโน้มราคาทองคำอาจยังปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 26.92 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 10.23 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับทอง ซึ่งเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 33.95 จากการส่งออกไปยังตลาดอันดับที่ 2-5 อย่างฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิตาลี และสิงคโปร์ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 141.72, ร้อยละ 35.26, ร้อยละ 65.88 และร้อยละ 602.26 ตามลำดับ มีเพียง สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดอันดับที่ 1 ที่ลดลงร้อยละ 2.61 ส่วนเครื่องประดับเงิน หดตัวลงร้อยละ 18.65 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร อินเดีย และออสเตรเลีย ตลาดทั้ง 5 อันดับแรก ได้ลดลงร้อยละ 18.66, ร้อยละ 16.39, ร้อยละ 41.42, ร้อยละ 6.46 และร้อยละ 17.61 ตามลำดับ การส่งออก เครื่องประดับแพลทินัม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.48 จากการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 และ 4-5 อย่างสิงคโปร์ฮ่องกง และอิตาลีได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.67, ร้อยละ 126.45 และร้อยละ 221.29 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดในอันดับ 2 และ 3 ลดลงร้อยละ 5.36 และร้อยละ 19.81 ตามลำดับ
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 13.38 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.85 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ขยายตัวได้ร้อยละ 80.83 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส ตลาดทั้ง 5 อันดับแรก ได้สูงขึ้นร้อยละ 436.03, ร้อยละ 26.08, ร้อยละ 12.63, ร้อยละ 24.76 และร้อยละ 43 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้นร้อยละ 140.45 จากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับ อย่างฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และอินเดีย ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 427.76, ร้อยละ 61, ร้อยละ 164.70, ร้อยละ 148.27 และร้อยละ 88.66 ตามลำดับ
เพชร เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.34 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 35.26 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ลดลงร้อยละ 35.49 จากการส่งออกไปยังเบลเยียม อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ตลาดสำคัญในอันดับ 2-4 ได้ลดลงร้อยละ 12.92, ร้อยละ 84.21 และร้อยละ 45.31 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกงและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตลาดอันดับที่ 1 และ 5 ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.80 และร้อยละ 38.25 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.79 หดตัวลงร้อยละ 14.93 เป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ลิกเตนสไตน์ ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ลดลงร้อยละ 15.93, ร้อยละ 3.43, ร้อยละ 34.86, ร้อยละ 15.26 และร้อยละ 1.50 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2566 นั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยมหภาคอย่างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ดังเช่นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญในเขตยูโรโซน สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการบริการของยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 55.5 อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และแรงงานในภาคการผลิตต่าง ๆ กลับมาทำให้มีการซื้อสินค้าแฟชั่นรวมทั้งเครื่องประดับที่สวมใส่ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องประดับทองที่เป็นทั้งเครื่องประดับและสามารถเก็บไว้เพื่อการลงทุนเติบโตได้ดีในหลายตลาด ขณะที่ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในระดับเหมาะสมต่อการส่งออก จึงเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีทางเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าอื่น ๆ นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภค ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังเติบโตได้ โดยไทยส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับ 1 และ 7-10 อย่างฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์อิตาลีและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 143.29, ร้อยละ 44.58, ร้อยละ 91.36, ร้อยละ 49.16 และ ร้อยละ 5.40 ตามลำดับ ขณะที่สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 2-6 ส่งออกลดลงร้อยละ 6.70, ร้อยละ 17.06, ร้อยละ 68.79, ร้อยละ 7.67 และร้อยละ 18.82 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้า ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2565 และปี 2566
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การส่งออกไปยัง ฮ่องกง สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการสูงขึ้น ได้แก่ พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 436.03, ร้อยละ 427.76, ร้อยละ 61.80, ร้อยละ 141.72 และร้อยละ 29.44 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็ง เจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 35.26 ร้อยละ 38.25, ร้อยละ 239.42 และร้อยละ 112.14 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยัง สิงคโปร์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง และ เครื่องประดับแพลทินัม (ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 69) ได้สูงขึ้นร้อยละ 602.26 และร้อยละ 87.67 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเทียมและเครื่องประดับเงิน ลดลงร้อยละ 43.23 และร้อยละ 33.78 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง อิตาลี ที่เติบโตเพิ่มขึ้นนั้น สืบเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (มีสัดส่วนร้อยละ 56) ได้สูงขึ้นร้อยละ 65.88 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.76, ร้อยละ 148.27 และร้อยละ 72.43 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นนั้น จากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 4.33, ร้อยละ 56.03 และร้อยละ 60.40 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่หดตัวลงนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 36) ได้ลดลงร้อยละ 2.61 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองมาอย่างเครื่องประดับเงิน และเพชรเจียระไน ที่ลดลงร้อยละ 18.66 และร้อยละ 45.31 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.08 และร้อยละ 61 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไป เยอรมนี ที่มีมูลค่าลดลงนั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน (ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนร้อยละ 73) ลดลงร้อยละ 16.39 รวมทั้งสินค้าสำคัญอย่างเศษหรือของที่ ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับทอง หดตัวลงร้อยละ 13.34 และร้อยละ 30.51 ตามลำดับ มีเพียงสินค้ารองลงมาอย่าง แพลทินัมและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.32 และร้อยละ 1.37 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง อินเดีย ที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 38) ได้ลดลงร้อยละ 84.21 รวมถึงสินค้าสำคัญรองลงมาทั้งเครื่องประดับเงินและอัญมณีสังเคราะห์ก็ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.46 และร้อยละ 9.96 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่ย่อตัวลงนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไนและเครื่องประดับเทียม ได้ลดลงร้อยละ 24.25 และร้อยละ 1.50 ตามลำดับ แต่สินค้าสำคัญหลายรายการอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทองยังเติบโตได้ร้อยละ 12.63, ร้อยละ 164.70 และร้อยละ 49.33 ตามลำดับ
การส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ที่ลดลงนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงินและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 41.42 และร้อยละ 35.11 ตามลำดับ ส่วนสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทองยังขยายตัวได้ร้อยละ 10.31
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2566
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 15.24 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.24 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.23 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3 โดยสินค้าที่ยังเติบโตได้ดีของไทย คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม ปี 2565 และปี 2566
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ในภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค โดยสหรัฐฯ เศรษฐกิจชะลอตัวลงสะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น (Flash PMI) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน มาอยู่ที่ 46.3 เช่นเดียวกับดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นชะลอลงสู่ 54.1 รวมทั้ง Moody’s บริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐฯ 11 แห่ง จะทำให้สหรัฐฯ ฟื้นตัวช้าออกไป ขณะที่เศรษฐกิจในยูโรโซนผลกระทบจากราคาพลังงานปรับตัวลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดตามลงไปด้วย แต่ตลาดมีแนวโน้มซึมยาวต่อเนื่อง ส่วนจีนแม้จะกลับมาเปิดประเทศแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวและฟื้นตัวช้า และญี่ปุ่นที่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ มีเพียงยอดค้าปลีกที่เติบโตเพิ่มขึ้น แต่ภาคอุตสาหกรรมยังหดตัว โดยธนาคารโลกประมาณการว่า ปีนี้จะยังคงเป็นหนึ่งในปีที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้า โดยคาดการณ์การเติบโตของสหรัฐฯ ในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ยูโรโซน ร้อยละ 0.4 และจีน ร้อยละ 5.6 ซึ่งภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มซึมยาวต่อเนื่องถึงปี 2567
ทั้งนี้ แม้ว่าภาพรวมการบริโภคในตลาดสำคัญทั่วโลกยังคงไม่แน่นอน แต่จากการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติของผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ทำให้การบริโภคเครื่องประดับที่เข้ากับแฟชั่น โดยเฉพาะที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันยังเติบโตได้ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเป็นสินค้ารักษ์โลกที่ไม่เพียงเป็นกระแสที่คนทั่วโลใส่ใจ แต่จากการสำรวจของ PwC พบว่า ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 5 สำหรับสินค้าดังกล่าว รวมถึงช่องทางออนไลน์ยังเป็นช่องทางสำคัญในการค้นหาสินค้าเปรียบเทียบราคา และรีวิวต่าง ๆ ก่อนการตัดสินใจซื้อ การใช้แนวทางการตลาดคู่ขนานทั้งออนไลน์และออนไซต์จึงต้องมีการพัฒนาต่อยอดให้สอดคล้องกัน และนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กรกฎาคม 2566
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”