ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนพฤษภาคม 2566
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 548.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 359.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.7 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 189.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.3 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 461.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.1 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 308.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.5 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 152.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 โดยภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 87.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) 5 เดือน (เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,531.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,683.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.5 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 847.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.9 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 5 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 2,140.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,419.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.5 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 720.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 391.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า การส่งออกทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ ปรับตัวลดลงในทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่การส่งออกของทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)
ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนพฤษภาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 98.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และปากีสถาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2, 53.1 และ 77.6 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) 5 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 423.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 9.5 ขณะที่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไทยไปยังตลาดจีนและอินเดีย พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 33.2 และ 10.4
ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนพฤษภาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 42.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 31.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นด้ายไปยังตลาดญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.0, 35.6 และ 12.8 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 5 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 211.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 35.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 15.5, 30.6 และ 18.6 ตามลำดับ
ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนพฤษภาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566
การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 87.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.1, 2.8 และ 41.8 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 5 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 444.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 25.5, 0.5 และ 35.4 ตามลำดับ
ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนพฤษภาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566
การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 189.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.5, 5.8 และ 13.0 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 5 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 847.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 21.5, 6.4 และ 23.7 ตามลำดับ
ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า การนำเข้าของทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ นำเข้าลดลงในเกือบทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่การนำเข้าของทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)
ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนพฤษภาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 140.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้าหลัก 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 9.7, 33.8 และ 0.9 ตามลำดับ
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 5 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 667.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าลดลงจากตลาดจีนและญี่ปุ่น ลดลง (สะสม) ร้อยละ 9.7 และ 19.4
ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนพฤษภาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 168.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้าหลัก 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าผ้าผืนลดลงจากตลาดจีน และไต้หวัน ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.4 และ 27.3
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 5 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 752.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยตลาดนำเข้าผ้าผืน 3 อันดับแรกปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน เวียดนาม และไต้หวัน ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 14.7, 11.2 และ 41.8 ตามลำดับ
ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนพฤษภาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 110.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากตลาดนำเข้าใน 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อิตาลี และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6, 12.6 และ 47.5 ตามลำดับ
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 5 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 517.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 23.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน อิตาลี และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 9.9, 35.0 และ 26.2 ตามลำดับ
ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)
ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการส่งออกในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้
การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และปากีสถาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7, 21.0 และ 7.1 ตามลำดับ
การส่งออกเส้นด้ายในภาพรวม ขยายตัวร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4
สำหรับการส่งออกผ้าผืนในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ลดลงร้อยละ 28.8, 28.4 และ 21.3 ตามลำดับ
และการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 และ 33.9
ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)
และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการนำเข้าในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้
การนำเข้าเส้นด้ายในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 และ 23.8
การนำเข้าผ้าผืนในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6, 18.5 และ 41.0 ตามลำดับ
และการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน อิตาลี และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.2, 31.0 และ 60.9 ตามลำดับ
ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนพฤษภาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566
สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีมูลค่า 548.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการปรับตัวลดลงตลอด Supply Chain ของอุตสาหกรรม (ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกในเดือนดังกล่าว พบว่า ปรับตัวลดลงในเกือบทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังตลาดจีนที่ในเดือนนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5
และภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย (สะสม) 5 เดือน (เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566) ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ขณะเดียวกันตลาดส่งออกสำคัญ ใน 5 อันดับแรกต่างปรับตัวลดลง โดยเป็นผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าต่างก็มีความผันผวน บวกกับกำลังซื้อที่ถดถอย จึงส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้าดังกล่าว ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566
ในครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่า เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญในหลายประเทศจะขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก และคาดว่าจะส่งให้การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยเชิงบวก ได้แก่ การเปิดประเทศของจีน โดยการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยไปยังตลาดจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 (ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566) ซึ่งสินค้าหลักของไทยไปยังตลาดจีน อาทิ เส้นใยประดิษฐ์ (เส้นใยสั้นและใยยาว) และเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าถัก เป็นต้น และการขยายตัวจากแรงส่งภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในประเทศในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป คาดว่า จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น และน่าจะส่งผลต่อการสิ่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยไปยัง 2 ตลาดดังกล่าวขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป อาทิ สินค้าเครื่องแต่งกาย (ที่ทำจากผ้าถักและผ้าทอ) และเส้นใยประดิษฐ์ (เส้นใยสั้น) เป็นต้น
ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตาม เช่น เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการค้าโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าที่คาด หรือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ต่อเนื่องและยึดเยื้อ ถึงแม้ว่าประเทศคู่ค้าหลายประเทศจะมีสัญญาณแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการเปิดประเทศของจีน แต่การที่จีนเน้นพึ่งพาการผลิตภายในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศคู่ค้าอย่างไทยด้วยเช่นกัน
-------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Global Trade Atlas
-------------------------------------------------
จัดทำและเรียบเรียงโดย
ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม)
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
3 กรกฎาคม 2566