หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมีนาคม 2566

สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมีนาคม 2566

กลับหน้าหลัก
05.05.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 21495

ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนมีนาคม 2566 

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 555.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 374.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.1 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 181.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.1 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 467.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.2 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 310.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.2 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 157.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 21.2 โดยภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 87.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) 3 เดือน (เดือนมกราคม-มีนาคม 2566) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,513.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 1,011.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.4 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 501.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.2 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 3 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 1,301.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.3 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 855.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.8 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 445.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 212.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก 

เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า การส่งออกทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) แต่ปรับตัวลดลงในทุกผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)  

ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนมีนาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2566

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 93.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) 3 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 245.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 5.8 ขณะที่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไทยไปยังตลาดอินเดียและตลาดจีน พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 113.9 และ 14.5 

ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนมีนาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2566

การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 45.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นด้ายไปยังตลาดญี่ปุ่น จีน และบังกลาเทศ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.4, 34.6 และ 44.9 ตามลำดับ

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 3 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 129.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 37.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 12.4, 30.8 และ 24.8 ตามลำดับ

ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนมีนาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2566

การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 104.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนามและกัมพูชา ปรับตัวลดลงร้อยละ 30.1 และ 32.4

และการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 3 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 283.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 18.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการปรับตัวลดลงในตลาดเวียดนามและกัมพูชาเช่นเดียวกัน ลดลง (สะสม) ร้อยละ 24.9 และ 27.7 ขณะที่การส่งออกผ้าผืนไทยไปยังตลาดเมียนมา พบว่า ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในรายเดือน (มีนาคม 2566) และ (สะสม) 3 เดือน ที่ร้อยละ 5.9 และ 4.7

ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนมีนาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2566

การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 181.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.1, 2.1 และ 38.7 ตามลำดับ 

และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 3 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 501.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 16.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดหลัก 3 อันดับแรกที่ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 23.9, 4.0 และ 38.4 ตามลำดับ

ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก

เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า การนำเข้าของทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ นำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) แต่นำเข้าลดลงในเกือบทุกรายการผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนมีนาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2566

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 148.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้าหลัก 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 4.5 ขณะที่การนำเข้าเส้นด้ายในเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และ 26.3

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 3 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 402.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าลดลงจากตลาดจีน ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 9.2 ขณะที่การนำเข้าเส้นด้ายในราย (สะสม) 3 เดือน นำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 และ 23.2

ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนมีนาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2566

การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 161.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้าหลัก 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าผ้าผืนลดลงจากตลาดเวียดนาม และไต้หวัน ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.9 และ 51.7

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 3 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 453.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 16.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยตลาดนำเข้าผ้าผืน 3 อันดับแรกปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน เวียดนาม และไต้หวัน ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 14.3, 11.2 และ 42.6 ตามลำดับ

ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนมีนาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2566

การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 113.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากตลาดนำเข้าใน 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อิตาลี และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6, 37.7 และ 20.9 ตามลำดับ

และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 3 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 322.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 28.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน อิตาลี และเวียดนาม นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 13.7, 45.8 และ 29.2 ตามลำดับ

ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการส่งออกในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้

การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.6, 325.1 และ 18.1 ตามลำดับ 

การส่งออกเส้นด้ายในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น จีน และบังกลาเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.5, 8.6 และ 60.5 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกผ้าผืนในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4, 19.6 และ 30.3 ตามลำดับ

และการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0, 17.2 และ 13.2 ตามลำดับ 

ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM)

และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนมีนาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการนำเข้าในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้ 

การนำเข้าเส้นด้ายในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.4 และ 162.1 

การนำเข้าผ้าผืนในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.7, 15.8 และ 29.9 ตามลำดับ 

และการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม นำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน อิตาลี และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6, 12.4 และ 12.5 ตามลำดับ

ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนมีนาคม 2566 และ (สะสม) เดือนมกราคม-มีนาคม 2566

สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่า 555.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเป็นการปรับตัวลดลงตลอด Supply Chain ของอุตสาหกรรม (ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกในเดือนดังกล่าว พบว่า ปรับตัวลดลงในเกือบทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังตลาดอินเดียที่ในเดือนนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 

และเมื่อหากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออก (สะสม) 3 เดือน พบว่า ปรับตัวลดลงในเกือบทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังตลาดอินเดีย (สะสม) 3 เดือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9

คาดการณ์ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง อันเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน บวกกับฐานการส่งออกในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์สูง ทั้งนี้ การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในปี 2565  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น การจะขยับการส่งออกขึ้นไปอีกในปีนี้จึงเป็นไปค่อนข้างยาก และจากทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มไม่ค่อยสดใส โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเวียดนาม ที่ต่างนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งในปีนี้คาดว่าการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าดังกล่าวอาจมีการปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศของประเทศคู่ค้าดังกล่าวต่างอยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นกัน รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในฝั่งตะวันตก   ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคปรับลดน้อยลงตามไปด้วย และเมื่อกำลังซื้อผู้บริโภคน้อยลงคาดว่าจะส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าปรับตัวลดลงตาม ดังนั้น การส่งออกสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มไทยในปีนี้จึงมีโอกาสและมีแนวโน้มปรับตัวลดลงหากเทียบกับปีที่ผ่านมา

สรุปปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปีนี้ :-

1) ต้นทุนการผลิต (ค่าไฟ ค่าแรง ค่าพลังงาน) ที่ต่างปรับตัวสูงขึ้น  

2) การขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ (ผลกระทบเชิงลบ) ส่งผลต่อยอดขาย กำไร ต้นทุน คาดว่า อาจมีการปรับลดการซื้อวัตถุดิบ ลดกำลังการผลิต และการขยับขึ้นของราคาสินค้าสำเร็จรูป  

ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวในประเทศนับเป็นปัจจัยบวกที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน1 เนื่องจากมีเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกับการจ้างงาน การลงทุน และการบริโภคในประเทศที่จะฟื้นตัวขึ้น ในไตรมาส 1 (มกราคม-มีนาคม) ปี 2566 พบว่า มีการนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 จากตลาดจีน อิตาลี และเวียดนาม ตามลำดับ และคาดว่าจะส่งผลต่อการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น

-------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง : 

        ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

1การเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวไทย กับก้าวต่อไปหลังเปิดประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย

-------------------------------------------------

จัดทำและเรียบเรียงโดย 

ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) 

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

5 พฤษภาคม 2566

นำเข้าส่งออกสิ่งทอ, อุตสาหกรรม, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, Import, Export, Textile, Clothing, ปี 2566, เดือนมีนาคม, สะสม, 3 เดือน, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66