เบื้องหลังแบรนด์ ‘Bangladesh’ จากโรงงานสีเขียวสู่เทคโนโลยีแฟชั่นล่าสุด
ในการสัมภาษณ์พิเศษ Mr.Faruque Hassan นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกเครื่องแต่งกายของบังกลาเทศ (Bangladesh Garment Manufacturers and Exporters Association หรือ BGMEA) ซึ่งเป็นองค์กรการค้าชั้นนำของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จของบังกลาเทศ เขาได้กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องการให้แบรนด์ Made in Bangladesh เป็นตัวแทนของความยั่งยืนของประเทศและวิสัยทัศน์ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตเสื้อผ้าระดับโลก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุด
Mr.Faruque Hassan กรรมการผู้จัดการบริษัท Giant Group ได้เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคม BGMEA ตั้งแต่ปี 2021 และภายในระยะเวลาสั้น ๆ ได้เปลี่ยนแบรนด์ขององค์กรเสียใหม่พร้อมเปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย และเป็นเจ้าภาพจัดงาน ‘Made in Bangladesh’ ระดับโลกเป็นครั้งแรกของประเทศ
Mr.Faruque Hassan นายกสมาคม BGMEA เปิดงาน Made in Bangladesh Week เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022
กับนายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศ
งานดังกล่าวจัดขึ้นที่กรุง Dhaka เมืองหลวง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 และดึงดูดแบรนด์ ผู้ค้าปลีก และผู้ผลิตทั่วโลก ภายในงานมีกิจกรรมงาน Dhaka Apparel Summit งาน Dhaka Apparel Expo โปรแกรมมอบรางวัลต่าง ๆ รายการทัวร์โรงงานสีเขียว งานแสดงแฟชั่น และการประชุม The annual International Apparel Federation (IAF) World Fashion Convention เป็นครั้งแรก
วัตถุประสงค์หลักของงาน คือ เป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ก้าวไกลของประเทศและของอุตสาหกรรมและความสามารถของบังกลาเทศและลบภาพพจน์เก่าว่าบังกลาเทศเคยผลิตได้แต่ ‘fast fashion’ ทั้งนี้ Mr.Faruque Hassan ให้สัมภาษณ์ Just Style ว่าต้องการเชิญผู้ซื้อ สื่อมวลชน สหภาพแรงงาน และผู้จัดหาวัตถุดิบมาดูโรงงานของบังกลาเทศ เพราะต้องเห็นกับตาเพื่อให้เชื่อ
การทำการตลาด แบรนด์ ‘Bangladesh’ สู่ตลาดโลก
จากข้อมูลของ World Trade Statistical Review 2021 บังกลาเทศเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องแต่งกายอันดับสองของโลก และมีสัดส่วนตลาดโลกคิดเป็นร้อยละ 6.37 โดย Mr.Faruque Hassan ต้องการให้ทั่วโลกทราบว่า บังกลาเทศมีจำนวนโรงงานสีเขียวมากที่สุด โดย 8 ใน 10 ของโรงงานสีเขียวของโลกตั้งอยู่ที่บังกลาเทศ ทั้งนี้ ใน 5-10 ปีข้างหน้า คาดว่าบังกลาเทศจะเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ทั้งนี้ ได้มีการลงทุนเป็นจำนวนมากในมาตรการการปฏิบัติตามกฎระเบียบและความปลอดภัย โดยได้สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อและแบรนด์ในปัจจุบัน รวมทั้งลูกค้าใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง ส่วนทางด้านสิ่งแวดล้อม ก็ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวมีความยั่งยืน ปัจจุบัน ประสิทธิภาพพลังงานเป็นประเด็นที่สำคัญมากจากวิกฤติพลังงานในปัจจุบัน อีกทั้งต้องประสบกับปัญหาราคาน้ำมันและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ โรงงานเครื่องแต่งกายได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่รีไซเคิลและที่หมุนเวียนให้กับซัพพลายเออร์
จากวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวพุ่งสูงขึ้น จึงส่งผลให้บังกลาเทศมีการลงทุนอย่างสูงในการผลิตที่เชื่อมโยงสำหรับอนาคต (backward linkages) โดยสั่งซื้อสิ่งทอจากประเทศในกลุ่มยุโรปเป็นส่วนใหญ่ และเน้นสินค้าระดับ high end พร้อมมุ่งเน้นด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกของบังกลาเทศมีมูลค่ากว่า 34 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปีแรกของการระบาด โดยหลังจากเกิดการแพร่ระบาดส่งผลให้ประเทศสูญเสียรายได้ไปกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ในปีงบประมาณที่ผ่านมา ประเทศมีรายได้ถึง 42.61 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันปัจจัยเรื่องความเร็ว (speed) ของผู้ซื้อเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นผลสืบเนื่องจากการหยุดชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงสามปีที่ผ่านมา และด้วยที่ตั้งของประเทศที่สามารถส่งสินค้าเข้าไปยังยุโรปได้โดยตรง ซึ่งช่วยลดเวลาในการขนส่งสินค้าจากเดิมที่ต้องใช้เวลา 32-35 วันในการส่งสินค้าไปยุโรป แต่ปัจจุบันส่งตรงไปยังอิตาลีใช้เวลามากสุดที่ 24 วัน และบังกลาเทศมีแผนที่จะขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ในการพัฒนาแบรนด์ ‘Bangladesh’ นั้น BGMEA ได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรม Centre of Innovation, Efficiency & OSH ที่กรุง Dhaka เพื่อสอนผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ ให้ได้ทราบถึงเทรนด์เทคโนโลยีล่าสุดและก้าวนำหน้าคู่แข่ง ซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของ BGMEA เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายรับมือกับความท้าทายในอนาคต ทั้งนี้ศูนย์ดังกล่าวเปิดตัวทั่วโลกท้ายงาน Made in Bangladesh Week เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นและช่วยให้สมาชิกเพิ่มผลิตภาพและผลิตสินค้าใหม่ ๆ
ปัจจุบัน บังกลาเทศมีมหาวิทยาลัยอยู่แล้วชื่อ BGMEA University of Fashion & Technology (BUFT) ที่กรุง Dhaka โดยอุทิศให้กับแฟชั่นและเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาเทคนิคโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ สำหรับการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบของอุตสาหกรรมแฟชั่น
นอกจากนี้ Mr.Faruque Hassan กำลังขออนุมัติรัฐบาลในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่เมือง Chattogram (หรืออีกชื่อ คือเมือง Chittagong) ซึ่งเป็นแหล่งโรงงานผลิตเครื่องแต่งกายที่สำคัญนอกกรุง Dhaka มหาวิทยาลัย BUFT มีนักศึกษา 6,000 คน และจะเพิ่มเป็น 10,000 คน ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ในเมือง Chattogram ได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีให้สามารถรับนักศึกษาได้ 1,000 คน และเพิ่มเป็น 4,000 คน ในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า และมีศักยภาพที่จะเพิ่มเป็นกว่า 10,000 คน ในเวลา 10 ปี ทั้งนี้ BGMEA มีอาคารของตัวเองที่เมือง Chattogram ซึ่งในช่วงแรกจะให้มหาวิทยาลัยใช้ จนกว่ามหาวิทยาลัยพร้อมที่จะมีสถานที่ของตัวเอง และในเดือนเมษายน 2023 เมือง Chattogram จะมีศูนย์นวัตกรรมของตัวเอง โดยจะเริ่มจากสถานที่ของ BGMEA เช่นกันในภูมิภาค จนกว่าศูนย์จะมีสถานที่ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม BGMEA สนับสนุนให้สมาชิกจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและมหาวิทยาลัยของตัวเอง เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้าไปยิ่งขึ้น
ในขณะที่บังกลาเทศกำลังเปลี่ยนสถานะจากประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ในปี 2026 ซึ่งในอนาคตจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีขาเข้าจากประเทศผู้นำเข้า แต่บังกลาเทศได้ขอให้สหภาพยุโรปยืดเวลาการเรียกเก็บภาษีขาเข้าออกไป ส่วนออสเตรเลียได้ตกลงที่จะยืดเวลาให้บังกลาเทศต้องเสียภาษีขาเข้าออกไป และสหราชอาณาจักรแจ้งว่าบังกลาเทศสามารถใช้สิทธิพิเศษการยกเว้นภาษีเป็นศูนย์ต่อไปอีกได้ ดังนั้น บังกลาเทศจึงมีแผนที่จะใช้เวลา 3 ปีหรือมากกว่านี้ในการปรับปรุงการลงทุนและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 บวกกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องและมีผลกระทบด้านลบต่อราคาพลังงาน อาหาร วัตถุดิบ และการขนส่ง
BGMEA มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐบาลบังกลาเทศ โดยมีการประชุมระหว่างกันเป็นประจำ เพื่อให้รัฐบาลทราบถึงความต้องการของสมาชิกในการผลิต นำเข้า และส่งออกที่ประสบความสำเร็จตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการสนับสนุนของ BGMEA
ตลาดใหม่มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับบังกลาเทศ โดยบังกลาเทศกำลังร่วมมือกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ บังกลาเทศยังมีโอกาสสูงในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ปัจจุบันบังกลาเทศส่งออกผลิตภัณฑ์ห้ารายการหลัก แต่ก็ยังมีศักยภาพอีกมาก เช่น บังกลาเทศมีความเข้มแข็งมากด้านเสื้อผ้าทำจากฝ้าย แต่ก็มีโอกาสสูงสำหรับเส้นใยที่ไม่ได้ทำจากฝ้ายและเส้นใยประดิษฐ์
Mr.Faruque Hassan เชื่อมั่นว่า แบรนด์ ‘Bangladesh’ จะยังคงเติบโตเป็นอย่างสูง และศูนย์นวัตกรรมที่เพิ่งเปิดใหม่ที่กรุง Dhaka รวมทั้ง ‘ศูนย์นวัตกรรมเมืองน้อง’ ที่จะเปิดใหม่ที่เมือง Chattogram จะช่วยสนับสนุนโรงงานต่าง ๆ ให้มีการผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายที่หลากหลายและนำพาอุตสาหกรรมไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
------------------------------------------------
Source and Photo credit: www.just-style.com
เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ