หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / ‘การผลิตเสื้อผ้าที่ยั่งยืน’ โอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น

‘การผลิตเสื้อผ้าที่ยั่งยืน’ โอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น

กลับหน้าหลัก
19.01.2566 | จำนวนผู้เข้าชม 3095

‘การผลิตเสื้อผ้าที่ยั่งยืน’ โอกาสสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่น

ที่มา (ภาพ) : www.just-style.com

อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อโลก เนื่องจากมีการใช้น้ำมากกว่าภาคส่วนอื่น ๆ และมักปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ รวมถึงมีการใช้พลังงานจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างยังคงไม่ทราบถึงผลกระทบแท้จริงที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมแฟชั่นมีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก คิดเป็นร้อยละกว่า 10 หรือมากกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ‘กรีนพีซ’ ประเทศไทย ระบุว่า เฉพาะในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นศูนย์กลาง Fast Fashion ในยุโรป พบว่า ผู้บริโภคยังคงซื้อเสื้อผ้าเฉลี่ย 26 กิโลกรัมในทุก ๆ ปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของเส้นใยสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์ในเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเรื่อยมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 60 ในปี พ.ศ. 2562 โดยเส้นใยเหล่านี้ถูกผลิตจากน้ำมัน ดังนั้น เสื้อโพลีเอสเตอร์หนึ่งตัวมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 5.5 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับเสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายที่มีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 2.1 กิโลกรัม จะเห็นว่า การผลิตเสื้อผ้าได้กลายเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อโลกในขณะนี้ 

หนึ่งในองค์ประกอบที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตเสื้อผ้า นั่นคือ กระบวนการฟอกย้อมและการเพิ่มคุณสมบัติต่าง ๆ ด้วยวิธีดั้งเดิมซึ่งก่อให้เกิดมลพิษอยู่ในเกณฑ์สูง และเมื่อพิจารณาถึงปริมาณการบริโภคเสื้อผ้าจากทั่วโลก พบว่า ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็น 553 พันล้านตัน และน้ำสียที่ปนเปื้อนด้วยสีย้อม คิดเป็น 8.3 ตันต่อปี (จากกระบวนการย้อมเพียงอย่างเดียว) โดยหากผู้ผลิตและแบรนด์แฟชั่นไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนการย้อมเสื้อผ้าในตอนนี้ คาดว่าจะส่งให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการผลิตเสื้อผ้าสูงถึง 2.5 gigatonnes ภายในปี พ.ศ. 2593 (ปี 2050) 

ตัวเลขต่าง ๆ ที่แสดงเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อความกังวลอย่างยิ่งภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงด้านวิกฤตพลังงานที่ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

Movement ที่น่าสนใจในการมุ่งสู่การผลิตเสื้อผ้าที่ยั่งยืน

‘Stella McCartney’ แบรนด์แฟชั่นพร้อมทั้งเป็นผู้บุกเบิกงานแฟชั่นที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 20 ปี มีความมุ่งมั่นเพื่อเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยล่าสุดในงาน Paris Fashion Week ประจำฤดูกาล Spring Summer 2023 ได้นำเสนอ ‘Luxury bag’ กระเป๋าใบแรกของโลกที่ผลิตจากไมซีเลียม (Mycelium)* และการนำเศษองุ่นเพื่อสร้างทางเลือกจากพืชแทนหนังสัตว์

‘Pangaia’ อีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนที่เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ผสมผสานระหว่างกระบวนการผลิตกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการผลิตสินค้า โดยล่าสุด Pangaia ได้เปิดตัว New Capsule collection** ซึ่งประกอบด้วย เสื้อกันหนาว (sweatshirts) และกางเกงวอร์ม (sweatpants) โดยเสื้อผ้าในคอลเลคชั่นนี้ได้ถูกออกแบบให้ย้อมด้วยเศษอาหาร อาทิ มัทฉะ (Matcha), รอยบอส (Rooibos) และบลูเบอร์รี่ (Blueberry) เป็นต้น และเป็นการย้อมลงในระดับเส้นด้าย (Yarn) นับเป็นอีกหนึ่งในทางเลือกใหม่ในการลดปริมาณการใช้น้ำและลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายในกระบวนการย้อมของอุตสาหกรรมสิ่งทอ


ที่มา (ภาพ) : hypebae.com

PANGAIA's New Capsule Collection Was Dyed Using Food Waste 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเห็นได้ว่า “ดีไซเนอร์ทั้งในระดับ high-end brands และ high street fashion brands ต่างให้ความสำคัญถึงการผลิตที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งต่อภาพรวมองค์ประกอบในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแฟชั่นในอนาคต”

จากกระแสความนิยมในด้านความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้แบรนด์ street fashion หลากหลายแบรนด์ต่างแต่งตั้ง “ทูตด้านความยั่งยืน” เพื่อทำหน้าที่สื่อสารข้อความด้านความยั่งยืนของแบรนด์และจุดประกายการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสู่ผู้บริโภคต่อประเด็นดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ “ยูนิโคล่ (Uniqlo)” ได้เปิดตัวหุ่นยนต์แมวเบอร์หนึ่งของโลกอย่างโดราเอมอน ให้มาดำรงตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์ด้านความยั่งยืน ที่แปลงโฉมจากตัวการ์ตูนญี่ปุ่นสีฟ้ากลายมาเป็นสีเขียวในนามว่า ‘โดราเอมอนโหมดความยั่งยืน’ ที่จะอยู่ร่วมกับโลโก้ของ Uniqlo ซึ่งปรับโฉมเป็นสีเขียวเช่นเดียวกัน เพื่อสื่อสารข้อความด้านความยั่งยืนของ Uniqlo นั่นคือเปลี่ยนอนาคตด้วยพลังงานของเสื้อผ้า พร้อมยังนำเสนอแอมบาสเดอร์พิเศษ เพื่อร่วมเป็นทูตแห่งความยั่งยืน ได้แก่ ฮารูกะ อายะเซะ นักแสดงชาวญี่ปุ่น ในฐานะไลฟ์แวร์แอมบาสเดอร์พิเศษ พร้อมด้วย โรเจอร์ เฟเดอเรอร์, เค นิชิโคริ, ชินโกะ คุนิเอะดะ, กอร์ดอน รีด, อายุมุ ฮิระโนะ และอดัม สก็อตต์ ร่วมกันดำเนินกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนของแบรนด์ยูนิโคล่อย่างต่อเนื่อง

‘Boohoo’ ร้านค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ของอังกฤษ ได้ประกาศความร่วมมือกับดาราทีวีเรียลลิตี้และ  CEO และผู้ก่อตั้ง Poosh Kardashian Barker อย่าง Kourtney Kardashian Barker เมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ให้มาดำรงตำแหน่งแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่ล่าสุดของแบรนด์เช่นกัน โดยได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนา Capsule collection จำนวน 45 ชุดแรก ซึ่งถูกกำหนดให้ผลิตจากฝ้ายรีไซเคิลและโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลเป็นวัตถุดิบหลักในการตัดเย็บออกมาเป็นผลงานดังกล่าว พร้อมกันนี้แบรนด์แอมบาสเดอร์จะถ่ายทอดเล่าเรื่องราวถึงผลงานการออกแบบชุดดังกล่าวผ่านทางซีรีส์ โดยเนื้อหาของซีรีส์จะนำเสนอถึงกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนอย่างละเอียด เพื่อสื่อสารให้รับผู้ชมได้รับทราบถึงความท้าทายโอกาสและการมุ่งสร้างความยั่งยืนของแบรนด์ที่มีต่ออุตสาหกรรมแฟชั่น

อีกหนึ่งแบรนด์อย่าง ‘PrettyLittleThing’ ร้านค้าปลีก fast-fashion ของอังกฤษ (ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ Boohoo) ได้เปิดตัว platform หรือ ‘Depop’ เพื่อรองรับการซื้อขายเสื้อผ้ามือสองของกลุ่ม celebrity และคาดหวังว่า platform ดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางขับเคลื่อนและเป็นทางเลือกในการสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยเช่นกัน   

สำหรับฝั่งผู้ผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอ พบว่า บริษัท ‘Alchemie Tecnology’ โดยมีที่ตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จสิ่งทอด้วยเทคโนโลยีสะอาด หรือโซลูชั่นการผลิตแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบในกระบวนการฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ บริษัทฯ คาดหวังว่า โซลูชั่นดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต (กระบวนการฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ) ในห่วงโซ่อุปทานของโลก พร้อมคาดหวังให้ผู้ผลิตรายอื่น ๆ หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวทดแทนกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม 

ทั้งนี้ หากโรงงานฟอมย้อมและตกแต่งสำเร็จทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบย้อมแบบไม่ใช้น้ำ จะเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 470 พันล้านตัน และนำ้เสียกว่า 7.9 ล้านลิตรในแต่ละปีเช่นกัน

“ทางเลือกใหม่ในการสร้างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นเหล่านี้ มักถูกประเมินว่ามีต้นทุนด้านราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงหากเปรียบเทียบกับวิธีการแบบดั้งเดิม แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยส่งเสริมตั้งแต่สภาพแวดล้อมในสายการผลิตให้มีความสะอาดและปลอดภัยให้กับแรงงานเพิ่มมากขึ้น ช่วยประหยัดพลังงาน ทั้งลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และยังสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างแท้จริง”

และอีกหนึ่งการขับเคลื่อนที่สำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนนั้น หากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกหรือแบรนด์ยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะกลุ่ม fast-fashion มีแนวนโยบายอย่างยิ่งยวดที่จะมุ่งมั่นขับเคลื่อนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่โซลูชั่นที่ใช้เทคโนโลยีสะอาดเพิ่มขึ้น เน้นการผลิตเสื้อผ้าที่สร้างความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่า อุตสากหกรรมจะเกิดการยกระดับตั้งแต่ในระดับผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ (suppliers) และต่อยอดไปสู่ความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) โลกได้อย่างแท้จริง

-----------------------------------------

หมายเหตุ :-

* Capsule collection เป็นคอลเล็กชั่นเฉพาะกิจ ที่ดีไซเนอร์ผลิตไอเท็มชิ้นเบสิกเพียงไม่กี่ชิ้น ที่สามารถใส่ได้ตลอดเวลาและอยู่เหนือเทรนด์ เน้นฟังก์ชั่นและดีไซน์ที่คลาสสิก ครอบคลุมเสื้อเชิ้ต เสื้อยืด เสื้อเบลาส์ เสื้อคลุม แจ็กเก็ต กางเกงขายาว กระโปรง เดรส กระเป๋า และรองเท้า

** ไมซีเลียม (Mycelium) เป็นเส้นใยจากเห็ดรา มีจุดเด่นตรงที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และได้รับขนานนามว่าเป็น Ultimate Green Material For the Future หรือวัสดุสีเขียวที่ดีที่สุดสำหรับอนาคต ตัวอย่าง อุตสาหกรรมที่ใช้ Mycelium เป็นวัตถุดิบ เช่น ก่อสร้าง เช่น อิฐจากไมซีเลียมมีต้นทุนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอลซิลในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ แฟชั่นและความงาม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ ไปจนถึงฟองน้ำแต่งหน้าและแผ่นมาส์กต่างหันมาใช้เส้นใยจากไมซีเลียมเป็นทางเลือกแทนการใช้หนังและสิ่งทอสังเคราะห์ บรรจุภัณฑ์ ไมซีเลียมสามารถใช้ทำบรรจุภัณฑ์แบบย่อยสลายได้ ช่วยลดการพึ่งพาพลาสติก และโพลิสไตรีนได้ โดย Ikea และ Dell เป็นแบรนด์ที่มุ่งมั่นที่จะใช้บรรจุภัณฑ์จากไมซีเรียม อาหาร ไมซีเรียมสามารถใช้ทำเนื้อสัตว์จากพืชได้ และยังแตกต่างจากเนื้อทางเลือกอื่น ๆ ตรงที่สามารถทำในรูปแบบของ 3 มิติ หรือทำขึ้นเป็นรูปทรงอื่น ๆ ได้ และวงการแพทย์ คาดกันว่า ในอนาคตไมซีเลียมจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ได้หรือแม้กระทั่งอวัยวะ

-----------------------------------------

ที่มา : 

1) Dr Alan Hudd.  “Now or never for sustainable clothes production.” [ออนไลน์] 2566. [สืบค้นวันที่ 18 มกราคม 2566]. สืบค้นจาก : https://juststyle.nridigital.com/just-style_magazine_dec22/now_or_never_for_sustainable_clothes_production 

2) อุตสาหกรรม “แฟชั่น” ยั่งยืน ลดใช้ทรัพยากร สู่เป้าหมาย “Net Zero”. [ออนไลน์] 2565. [สืบค้นวันที่ 18 มกราคม 2566]. สืบค้นจาก : https://www.bangkokbiznews.com/social/1001608

3) Uniqlo เปิดตัว ‘โดราเอมอนสีเขียว’ ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์ด้านความยั่งยืนคนใหม่. [ออนไลน์] 2564. [สืบค้นวันที่ 18 มกราคม 2566]. สืบค้นจาก : https://thestandard.co/uniqlo-launched-green-doraemon/

4) รู้จัก Mycelium สุดยอดวัตถุดิบที่กำลังมาแรง. [ออนไลน์] 2564. [สืบค้นวันที่ 18 มกราคม 2566]. สืบค้นจาก : https://www.toyota.co.th/tsi/tips/893

-----------------------------------------

ที่มา (ภาพ) : www.just-style.com และ www.hypebae.com  

-----------------------------------------

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

สิ่งแวดล้อมสิ่งทอ, อุตสาหกรรม, สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม, ความยั่งยืน, การผลิต, เสื้อผ้า, โอกาส, แฟชั่น, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'66