สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-กันยายน ปี 2565
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2565 ขยายตัวได้ ร้อยละ 72.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2564 ที่มีมูลค่า 7,197.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่12,413.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.61 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วย การส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 6,089.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 42.26 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนกันยายน 2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.79 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนร้อยละ 50.94 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 116.84 โดยราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกในเดือนกันยายนปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ระดับ 1,682.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ปรับขึ้นร้อยละ 0.75 ซึ่งปัจจุบันขึ้นติดต่อกัน 4 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เป็นต้นมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.75-4.00 (ณ เดือนพฤศจิกายน) รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ในระดับร้อยละ 4 ทำให้นักเก็งกำไรปรับฐานการลงทุนมายังสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามด้วยอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้วยราคาทองคำที่ปรับลดลงจึงเป็นโอกาสในการที่นักลงทุนจะเข้าซื้อเพื่อกระจายพอร์ตการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 24.65 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและ เครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.09 โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ เครื่องประดับทอง ที่เติบโตได้ร้อยละ 57.73 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้ง 5 อันดับแรกอย่าง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสิงคโปร์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 33.46, ร้อยละ 36.60, ร้อยละ 55.71, ร้อยละ 43.13 และร้อยละ 485.93 ตามลำดับ การส่งออกเครื่องประดับเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.16 เนื่องจากการส่งออกไปยังเยอรมนี สหราชอาณาจักร และอินเดีย ตลาดสำคัญในอันดับ ที่ 2-4 ได้สูงขึ้นร้อยละ 13.50, ร้อยละ 54.87 และร้อยละ 766.93 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 และ 5 อย่างสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย หดตัวลงร้อยละ 3.67 และ ร้อยละ 6.57 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกเครื่องประดับแพลทินัมขยายตัวได้ร้อยละ 10.83 จากการส่งออกไปยัง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ตลาดในอันดับ 1-4 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.44, ร้อยละ 1.93, ร้อยละ 16.45 และร้อยละ 4.32 ตามลำดับ ส่วนสหราชอาณาจักร ตลาดอันดับที่ 5 หดตัวลง ร้อยละ 37.01
เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.16 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับไทยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 61.33 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.07 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดทั้ง 5 อันดับแรกอย่าง อินเดีย ฮ่องกง เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัวได้ร้อยละ 122.84, ร้อยละ 6.16, ร้อยละ 33.35, ร้อยละ 102.73 และร้อยละ 13.33 ตามลำดับ
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 7.16 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.69 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งเติบโตร้อยละ 77.52 จากการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี ตลาดใน 5 อันดับแรกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 113.32, ร้อยละ 0.64, ร้อยละ 1,439.61, ร้อยละ 178.25, และร้อยละ 67.76 ตามลำดับ ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 104 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 5 อันดับแรกอย่าง สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย และสวิตเซอร์แลนด์ ได้สูงขึ้นร้อยละ 155.74, ร้อยละ 65.89, ร้อยละ 1,359.36, ร้อยละ 286.86 และร้อยละ 41.62 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.94 มีมูลค่าเติบโตร้อยละ 27.24 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ลิกเตนสไตน์ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.65, ร้อยละ 56.11, ร้อยละ 18.46, ร้อยละ 20.08 และร้อยละ 46.65 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงมกราคม-กันยายนของปี 2565 มี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการเติบโตยังมีความต่อเนื่องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสินค้าส่งออกอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมทุกประเภทที่ขยายตัวได้ดีสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของไทย ในเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 55.7 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกอย่างการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ของโลก รวมทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีส่งผลให้การส่งออกของไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยทั้ง 10 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิตาลี ล้วนขยายตัวได้ร้อยละ 31.03, ร้อยละ 144.30, ร้อยละ 10.02, ร้อยละ 18.73, ร้อยละ 199.43, ร้อยละ 52.42, ร้อยละ 65.50, ร้อยละ 36.84, ร้อยละ 32.84 และร้อยละ 88.54 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่เติบโตนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพชรเจียระไน ได้สูงขึ้นร้อยละ 33.46, ร้อยละ 113.32, ร้อยละ 155.74 และร้อยละ 102.73 ตามลำดับ ขณะที่เครื่องประดับเงินปรับตัวลงร้อยละ 3.67
การส่งออกไปยัง อินเดีย ยังคงขยายตัวได้ เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงราว ร้อยละ 70) รวมทั้งสินค้าลำดับรองลงมาอย่างเครื่องประดับเงิน โลหะเงิน และอัญมณีสังเคราะห์ สามารถเติบโตได้ดีร้อยละ 122.84, ร้อยละ 766.93, ร้อยละ 62.45 และร้อยละ 408.17 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไป ฮ่องกง ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.16, ร้อยละ 36.60, ร้อยละ 0.64 และร้อยละ 65.89 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงินหดตัวลงร้อยละ 3.91
ส่วนการส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน รวมทั้ง สินค้ารองลงมาอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เครื่องประดับทอง รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ล้วนเติบโตได้ดีร้อยละ 13.50, ร้อยละ 33.84, ร้อยละ 76.93, ร้อยละ 198.32 และร้อยละ 39.72 ตามลำดับ
การส่งออกไป สิงคโปร์ ที่ขยายตัวสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ อย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับแพลทินัม ด้วยมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 485.93, ร้อยละ 1,439.61, ร้อยละ 1,359.36 และร้อยละ 12.44 ตามลำดับ ทั้งนี้ สิงคโปร์มีการจัดงาน Jewellery & Gem WORLD Singapore 2022 ในเดือนกันยายน ซึ่งทำให้มียอดการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นจากปกติ แต่มูลค่าดังกล่าวยังไม่รวมการส่งกลับจากการจัดงาน ซึ่งต้องพิจารณาตัวเลขในเดือนถัดไป
สำหรับการส่งออกไป สหราชอาณาจักร ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงินและ เครื่องประดับทอง (ที่มีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 81) รวมทั้งสินค้าลำดับถัดมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 54.87, ร้อยละ 55.71, ร้อยละ 112.01, ร้อยละ 380.61 และร้อยละ 9.94 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน โลหะเงิน และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 178.25, ร้อยละ 41.62, ร้อยละ 9.15 และร้อยละ 123.13 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งขยายตัวได้นั้น เป็นผลจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 83) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.35 รวมทั้งสินค้าลำดับถัดมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน เติบโตได้ร้อยละ 25.19
ขณะที่การส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการส่งออกเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ล้วนเติบโตได้ดีร้อยละ 43.13, ร้อยละ 13.33, ร้อยละ 45.16 และร้อยละ 307.99 ตามลำดับ
การส่งออกไปยัง อิตาลี ซึ่งขยายตัวได้เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 127.37, ร้อยละ 67.76, ร้อยละ 51.15 และร้อยละ 11.59 ตามลำดับ
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนปีนี้ มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 72.48 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.26 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออก อัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.10 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่เติบโตนั้น มาจากคำสั่งซื้อที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้า อีกทั้งปัญหาด้านอุปทานและการขนส่งระหว่างประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีสำหรับสินค้าที่มีความโดดเด่นของไทย คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม รวมทั้งเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน
ในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจโลกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ยังสามารถเติบโตได้ดีเช่นเดียวกับช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า GDP ของสหรัฐฯ สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 จากที่ติดลบใน 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ เช่นเดียวกับข้อมูลทางเศรษฐกิจของสำนักงานสถิติยุโรปที่เปิดเผยว่า GDP ของประเทศใน EU เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.2 และขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการการบริโภคภาคเอกชนที่ยังเติบโตได้ดี รวมทั้งอัตราเงินออมของทั้งสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น จีน และประเทศเศรษฐกิจชั้นนำใน EU ยังอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้จ่าย ประกอบกับปัจจัยส่งเสริมอย่างการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ การเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองในไตรมาสสุดท้ายของปี เกื้อหนุนให้การจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น แม้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกยังทรงตัวในระดับสูง การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงคุกรุ่นในหลายจุดก่อให้เกิดความกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้สถานการณ์ส่งออกในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ ยังมีแรงซื้อจากประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจทั่วโลก การบริโภคในประเทศผู้ซื้อยังเติบโตได้ ซึ่งน่าจะยังส่งผลดีต่อช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเร่งใช้โอกาสช่วงเทศกาลในการขายสินค้า มีสินค้าดีไซน์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาด ใช้ช่องทางออนไลน์จับกลุ่มลูกค้าดิจิทัลเจนที่จะกลายเป็นกำลังซื้อหลักในอนาคต รักษาภาระทางการเงินให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ และร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและมีเอกลักษณ์ที่ ชัดเจน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจควรมีการเตรียมความพร้อมหากสถานการณ์มีความผันผวนไม่แน่นอน ซึ่งอาจกระทบการบริโภค ทำให้มีแนวโน้มชะลอตัวได้
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พฤศจิกายน 2565
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”