สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2565
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2565 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่า 6,426.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่10,877.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.54 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออก ด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 5,077.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 35.52 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่า เดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 8.39 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สถานการณ์การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 8 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป โดยมีสัดส่วนร้อยละ 53.32 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไทยโดยรวม ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 116.43 โดยราคาทองคำเฉลี่ยในตลาดโลกในเดือนสิงหาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน กรกฎาคม มาอยู่ที่ระดับ 1,765.65 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) แม้ว่าราคาทองคำจะได้รับแรงกดดันจากการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ติดต่อกัน 2 ครั้งมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.25-2.50 (ณ เดือนสิงหาคม) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีรวมทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูงสร้างความกังวลในความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะทองคำที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในภาวะวิกฤตยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 23.31 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.76 โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ เครื่องประดับทองที่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 46.40 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้ง 5 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิตาลี ได้สูงขึ้นร้อยละ 35.42, ร้อยละ 60.97, ร้อยละ 24.28, ร้อยละ 14.90 และร้อยละ 106.77 ตามลำดับ การส่งออกเครื่องประดับเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.82 เนื่องจากการส่งออกไปยังเยอรมนี สหราชอาณาจักร และอินเดีย ตลาดสำคัญในอันดับที่ 2-4 ได้สูงขึ้นร้อยละ 15.56, ร้อยละ 64.41 และร้อยละ 1,195.34 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดอันดับ 1 และ 5 ทั้ง สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย หดตัวลงร้อยละ 3.56 และร้อยละ 11.29 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 4.95 จากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ตลาดในอันดับ 1-3 และ 5 ต่างปรับตัวลดลงร้อยละ 2.39, ร้อยละ 13.63, ร้อยละ 10.25 และร้อยละ 37.75 ตามลำดับ ส่วนฮ่องกง ตลาดอันดับที่ 4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.76
เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.07 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับไทย เติบโตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.86 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ ขยายตัวได้ร้อยละ 56.64 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับ 1 และ 3-5 อย่างอินเดีย เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ขยายตัวได้ร้อยละ 124.43, ร้อยละ 28.38, ร้อยละ 113.12 และร้อยละ 11.22 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดในอันดับที่ 2 หดตัวลงร้อยละ 1.38
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 5.99 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ด้วยอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.40 โดยสินค้า ส่งออกหลักในหมวดนี้เป็นพลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.27 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และฝรั่งเศส ตลาดในอันดับที่ 1, 3-5 ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 117.98, ร้อยละ 191.08, ร้อยละ 63.06, และร้อยละ 11.90 ตามลำดับ มีเพียง ตลาดอันดับ 2 อย่างฮ่องกงปรับตัวลดลงร้อยละ 8.32 ส่วนพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.31 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักใน 4 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น ได้สูงขึ้นร้อยละ 155.79, ร้อยละ 25.32, ร้อยละ 37.22 และร้อยละ 5.74 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฝรั่งเศสตลาดอันดับ 5 ลดลงร้อยละ 23.28
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.98 เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.99 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ลิกเตนสไตน์ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ สามารถเติบโตได้ร้อยละ 16.21, ร้อยละ 60.41, ร้อยละ 19.60, ร้อยละ 21.77 และร้อยละ 49.96 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงมกราคม-สิงหาคมของปี 2565 มี มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตได้สูง อีกทั้งการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ช่วยสร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายสินค้าอื่นนอกจากสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกมีการฟื้นตัวมากขึ้น โดยตัวชี้วัดการท่องเที่ยวในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ คิดเป็นร้อยละ 60 ของช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าแม้กระทบต่อราคาวัตถุดิบนำเข้า แต่ส่งเสริมการส่งออกสินค้าของไทยให้แข่งขันได้ รวมทั้งกระแสการซื้อสินค้าที่มีราคาเพื่อให้รางวัลตนเองเติบโตมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัย บวกสนับสนุนทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยไทยส่งออกไปยังตลาด สำคัญทั้ง 10 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิตาลีล้วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.95, ร้อยละ 149.03, ร้อยละ 1.45, ร้อยละ 20.15, ร้อยละ 57.87, ร้อยละ 68.49, ร้อยละ 33.74, ร้อยละ 10.80, ร้อยละ 14.18 และร้อยละ 74.40 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ที่มูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน เพชร เจียระไนได้สูงขึ้นร้อยละ 35.42, ร้อยละ 117.98, ร้อยละ 155.79 และร้อยละ 113.12 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับเงิน ลดลงร้อยละ 3.55
มูลค่าการส่งออกไปยัง อินเดีย ยังขยายตัวได้ดีเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 72) รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับเงิน โลหะเงิน และอัญมณีสังเคราะห์ ล้วนเติบโตสูงขึ้นร้อยละ 124.43, ร้อยละ 1,195.34, ร้อยละ 153.41 และร้อยละ 476.17 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง ฮ่องกง ที่สามารถเติบโตได้นั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการอย่าง เครื่องประดับทอง พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.28, ร้อยละ 25.32, ร้อยละ 19.60 และร้อยละ 1.23 ตามลำดับ ส่วนเพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน หดตัวลงร้อยละ 1.36 และร้อยละ 8.32 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง เยอรมนี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน รวมทั้ง สินค้ารองลงมาอย่างเศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เครื่องประดับทอง รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้สูงขึ้นร้อยละ 15.56, ร้อยละ 33.90, ร้อยละ 81.64, ร้อยละ 238.95 และร้อยละ 39.56 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไป สหราชอาณาจักร ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง (ที่มีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 82) รวมทั้ง สินค้าลำดับถัดมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ล้วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.41, ร้อยละ 60.97, ร้อยละ 114.19, ร้อยละ 272.33 และร้อยละ 12.98 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเติบโตได้นั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างโลหะเงิน พลอยเนื้อแข็งและ เนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับทอง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.15, ร้อยละ 191.11, ร้อยละ 37.34 และร้อยละ 176.04 ตามลำดับ
การส่งออกไปยัง เบลเยียม ซึ่งมีมูลค่าสูงขึ้น มาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน (ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 83) ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.38 รวมทั้งสินค้าลำดับถัดมาอย่างพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 36.59 และร้อยละ 67.14 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 22.41, ร้อยละ 20.06 และร้อยละ 15.73 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ล้วนเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.90, ร้อยละ 11.22, ร้อยละ 16.96 และร้อยละ 215.46 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง อิตาลี ซึ่งขยายตัวได้นั้น มาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน ได้สูงขึ้นร้อยละ 106.77, ร้อยละ 63.06, ร้อยละ 41.54 และร้อยละ 21.74 ตามลำดับ
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคมปีนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.26 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 35.52 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำและมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.77 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2564 และปี 2565
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ที่เติบโตนั้น เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญหลายประเทศมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากสืบเนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ด้วยปัจจัยหนุนจากสถานการณ์ที่มีความผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีการเปิดประเทศกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ สร้างเม็ดเงินไหลเวียนในระบบกระตุ้นการบริโภค ขณะที่ค่าเงินบาทที่ยังมีทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา โดยในตลาดสำคัญของไทยทั้งตลาด สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร ประเทศชั้นนำใน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังมีการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยส่งเสริมการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทำให้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง สำหรับสินค้าที่มีความโดดเด่นของไทย คือ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม รวมทั้ง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็ง และเนื้ออ่อนเจียระไน
ในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจโลกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 ยังสามารถเติบโตได้ดีจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการบริโภคภาคเอกชนที่มีเข้ามาต่อเนื่อง รวมทั้งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตในเดือนกันยายนที่ผ่านมามีประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ และจีนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อินเดียแม้ค่า PMI จะปรับตัวลงแต่ยังอยู่ในอัตราที่เติบโตสูงขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 15 เมื่อพิจารณาตัวเลขอัตราการจ้างงาน พบว่า ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศอย่าง สหรัฐฯ ประเทศในยูโรโซน สหราชอาณาจักร และอินเดีย โดยเฉพาะระดับอัตราว่างงานในสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.7% ซึ่งเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนปัจจัยอื่นๆ ทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง การที่เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนถึงอัตราเป้าหมายปลายทาง (Terminal Rate) ที่ร้อยละ 4.6 ในปี 2566 สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีหลายแห่งทั่วโลกก่อให้เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต ล้วน เป็นสถานการณ์กดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้สถานการณ์ส่งออกในรอบ 8 เดือนแรกของปีนี้ยังเติบโตได้ดีจากปัจจัยบวกหลายประการ ทำให้การบริโภคฟื้นตัวมีคำสั่งซื้อมาจากตลาดสำคัญอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ดังนั้น ประเด็นด้านต้นทุนที่ผู้ประกอบการควรระวัง ได้แก่ การรักษากระแสเงินสดให้เหมาะสม มีการทบทวนค่าใช้จ่าย วางแผนการลงทุน ลดภาระด้านหนี้สิน และใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ขณะที่ไลน์สินค้าควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง เข้าใจช่องทางการค้าแบบผสมผสาน รักษา และต่อยอดตลาดที่ผู้บริโภคชื่นชอบ เพื่อให้พร้อมรับมือในทุกสถานการณ์
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2565
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”