ลีนา แนร์ ซีอีโอคนใหม่ของ Chanel ที่มาจาก คนนอกวงการแฟชั่น
เดือนมกราคม มักเป็นเดือนแห่ง “การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ “ของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายใหม่สำหรับชีวิตส่วนตัว หรือ เป้าหมายใหม่ในการทำงาน และเดือนมกราคม 2565 ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่อึดใจ ก็เป็นเวลาแห่งการเริ่มต้นทำงานที่ใหม่ ของ ลีนา แนร์ หญิงนักบริหารชาวอินเดียวัย 52 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทยูนิลีเวอร์ (Unilever) ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค ที่กำลังจะเปลี่ยนงานใหม่ หลังได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอคนใหม่ของชาแนล (Chanel) แบรนด์แฟชั่นดังระดับโลก โดยประจำการอยู่ที่กรุงลอนดอน อังกฤษ
แนร์ ทวีตว่ารู้สึก “ถ่อมตนและเป็นเกียรติที่ได้รับแต่งตั้งเป็น Global Chief Executive Officer of @CHANEL บริษัทที่โดดเด่นและน่ายกย่อง ”
ขณะที่เอพี รายงานว่า ข่าวนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ในอินเดีย บ้านเกิดของ ลีนา แนร์ ที่มีผู้คนต่างชื่นชม แสดงความยินดีกับเธอ และมีบางคนยกย่องเธอว่าเป็น “ผู้ทำลายเพดานกระจกมาหลายครั้ง” และมีนักวิเคราะห์มองว่าการที่ชาแนล จ้างแนร์ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในสายงานเกี่ยวกับแฟชั่นเลย มานั่งตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ เป็นการส่งสัญญาณบอกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อนโนบายของบริษัทที่เน้นให้ความสำคัญต่อการปฎิบัติต่อพนักงาน และเห็นความสำคัญของการจ้างงานที่มีความหลากหลาย
อับเฮย์ กุปตะ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาลักซ์ซัวรี คอนเน็คต์ (Luxury Connect) ในอินเดีย ให้สัมภาษณ์เอพีถึงการรับตำแหน่งใหม่ของ ลีนา แนร์ ว่าได้สร้างปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “ครั้งแรกในประวัติศาตร์”หลายอย่าง
“ผมมีความสุขมาก นี่เป็นครั้งแรกที่ชาวอินเดียได้เป็นผู้นำของแบรนด์หรูระดับโลก และยังเป็นผู้หญิงอินเดียอีกด้วย และนี่ยังเป็นครั้งแรกที่คนนอกวงการแฟชั่นได้รับเลือก “
กุปตะ ซึ่งยังเป็นเจ้าของโรงเรียนสอนการบริหารสินค้าแบรนด์หรู กล่าวว่าถึงแม้ที่ผ่านมา มีชาวอินเดียได้เป็นผู้นำในบริษัทด้านเทคโนโลยี การเงิน หรือสาขาอื่นๆอยู่จำนวนหนึ่งทั่วโลก แต่ก็ไม่สามารถพูดได้แบบเดียวกันนี้กับบริษัทแบรนด์หรูระดับโลก และว่าข่าวนี้จะเป็น “แรงบันดาลใจ”แก่นักเรียนของเขา
“มันเป็นกำลังใจและสร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราไม่เคยเห็นสิ่งนี้มาก่อน การมาจากคนนอก ที่ไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับแบรนด์หรู ผมหวังว่าเธอจะนำมุมมองใหม่ๆ และนั่นก็เป็นสัญญาณว่ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง “
ในแถลงการณ์ของชาแนล พูดถึงการจ้างแนร์ว่า “จะรับประกันถึงความสำเร็จในระยะยาวของบริษัทในฐานะบริษัทเอกชน ”
แนร์ เข้าร่วมงานกับบริษัทยูนิลีเวอร์ ของอังกฤษเมื่อปี 2535 โดยช่วงแรกๆใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่อยู่ในโรงงานต่างๆของบริษัท ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่ง เติบโตในสายงานทรัพยากรบุคคลขึ้นมาเรื่อยๆ โดยยูนิลีเวอร์ เคยพูดถึงแนร์ว่า เป็นผู้หญิงคนแรก เป็นชาวเอเชียคนแรกและเป็นหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่อายุน้อยที่สุดของบริษัท
อิมราน อาเหม็ด ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง Business of Fashion เว็บไซต์ที่ทรงอิทธิพลในแวดวงแฟชั่น พูดถึงการที่ชาแนลแต่งตั้งแนร์ว่า “เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดีจากสูตรเดิมของการแต่งตั้งผู้บริหารแบรนด์หรูเจ้าใหญ่ ”
จากข้อมูลในโซเชียล มีเดียของลีนา แนร์ ระบุว่า เธอแต่งงานกับ กุมาร แนร์ นักธุรกิจด้านการเงิน มีลูกชาย 2 คน และแนร์ได้เอ่ยถึง อินทรา นูยี อดีตซีอีโอของ PepsiCo ว่าเป็นทั้งเพื่อนและที่ปรึกษาของเธอ ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ ลีนา แนร์ เพิ่งได้รับรางวัลนักบริหารหญิงตัวอย่างแห่งปีของ Great British Businesswoman Role Model of the Year