หน้าแรก / THTI Insight / ข่าวรายวัน / Circular Fashion Economy ทางเลือกเพื่อทางรอด และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแฟชั่น

Circular Fashion Economy ทางเลือกเพื่อทางรอด และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแฟชั่น

กลับหน้าหลัก
20.12.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 562

Circular Fashion Economy ทางเลือกเพื่อทางรอด และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแฟชั่น

โดย ดร.รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล

"อุตสาหกรรมแฟชั่น มาไว ไปไว เพราะต้องวิ่งแข่งกับกระแสนิยม”

ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ช่วงนี้เสื้อตัวไหนเป็นที่นิยม แบรนด์ไหนคนใส่เยอะ หรือ ดาราคนที่ชอบใส่คอลเลคชั่น ล่าสุดของแบรนด์นี้ เป็นต้น เราซื้อมันมาใส่และโยนทิ้งเมื่อมัน “เก่า” แต่การทิ้ง ไม่ได้เก่าในแง่ของการใช้งาน แต่เก่าในแง่ของความนิยม


“อุตสาหกรรมแฟชั่น กับวิธีคิดเดิมๆ คือ ออกแบบ ประดิษฐ์ ผลิต การตลาด ทำยอดขาย แล้วก็จบ”

ด้วยแนวคิดของธุรกิจที่เป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) ทำให้ทุกวันนี้ แฟชั่นที่เราบริโภคกัน กระบวนการมันก็มีแค่นี้ เหล่าดีไซน์เนอร์ตั้งใจออกแบบเสื้อผ้า รองเท้า หรือกระเป๋าแบบต่างๆเพื่อให้ไอเดียเป็นที่ชื่นชอบ ประดิษฐ์มันขึ้นมา เมื่อเห็นว่ามีความเป็นไปได้ เริ่มการผลิต วางแผนการตลาดในการขายให้เหมาะกับตลาดต่างๆ ทำยอดขายให้เป็นไปตาม เป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วก็จบ


แต่มันไม่จบจริง เพราะธุรกิจที่เป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) สร้างปัญหาตามมามากมาย


“อุตสาหกรรมแฟชั่น ต้นเหตุของแก๊สเรือนกระจกทั่วโลกกว่า 8%”

อุตสาหกรรมแฟชั่น สร้างขยะมากกว่า 92 ล้านตัน ต่อปี

เสื้อผ้าที่พวกเราใช้กันทุกวันนี้ ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรีไซเคิล หรือ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนใหญ่แล้วพบว่ากว่า 85% ของ สิ่งทอ ที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่น อาทิเช่น เส้นใย ด้าย ผืนผ้า หรือ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเส้นใย เส้นด้าย หรือผืนผ้า ถูกนำไปเผาทิ้ง หรือ ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะในแต่ละปี


มีเพียง 15% เท่านั้น ที่ถูกนำไปรีไซเคิล และมีเพียง 1% ที่ถูกนำกลับมาทำให้กลายเป็นเครื่องแต่งกายอีกรอบที่มีราคาเท่ากัน หรือราคาสูงกว่า


“อุตสาหกรรมแฟชั่น ต้นเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียอีก 20% ทั่วโลก”

อุตสาหกรรมแฟชั่น ใช้น้ำในการบวนการผลิตอย่างมหาศาล คือ ราวๆ 93 พันล้านลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี น้ำเสียจากกระบวนการผลิตสิ่งทอ หรือ น้ำเสียที่เกิดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการเพาะปลูกผลผลิตเส้นใยจากธรรมชาติ สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพมนุษย์


ในแต่ละปี พบว่า มี microfiber ปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ และในทะเล มากกว่า 500,000 ตันต่อปี หากเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เท่ากับ การทิ้งขวดน้ำพลาสติก 50 ล้านขวด ลงในแม่น้ำลำคลอง หรือ ทะเลต่อปีนั่นเอง นี่คือ ปัญหาใหญ่ และ ปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมแฟชั่น


“อุตสาหกรรมแฟชั่น ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัดอย่างไม่จำกัด แล้วโยนมันทิ้งอย่างไม่ใยดี”

อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นเศรษฐกิจที่เป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) ใช้หลักการ คือ นำวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมาชาติ เช่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารสังเคราะห์ที่ได้จากน้ำมันดิบ ที่เหลือเป็นเส้นใยธรรมชาติ มาสร้างสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม จากนั้นก็ใช้งาน และก็ทิ้ง

ด้วยวิถีการทำธุรกิจแบบเส้นตรง ยิ่งวงการแฟชั่นหมุนไปเร็วเท่าไร ก็ยิ่งหมายถึง การดึงนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ มากขึ้นตามไปด้วย และในขณะเดียวกันก็การสร้างขยะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการทิ้งเศษซากแฟชั่นที่ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป


“อุตสาหกรรมแฟชั่น ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเส้นตรง สร้างความต้องการที่เป็นเหมือนเกมการแข่งขันที่ไม่มีจุดสิ้นสุด”

ธุรกิจแฟชั่น มีกลยุทธ์ทางการตลาดที่พร้อมจะผลักดันให้ผู้บริโภคทุกคนให้ตกลงไปในหลุมพรางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เทรนที่ล้ำสมัยต่างๆ สร้างเงิน สร้างรายได้จำนวนมหาศาลจากผู้บริโภคเหล่านั้น


แต่ในทางกลับกันกลับสร้างปัญหามากมายเช่นกัน เช่น ในหลายๆ ประเทศแถบอิเดีย ศรีลังกา หรือ บังกลาเทศ พนักงานตัดเย็บเสื้อผ้าต้องเผชิญกับปัญหาค่าแรงที่ต่ำเตี้ยเรี้ยดิน ซึ่งพบว่า พนักงานตัดเย็บเสื้อผ้ากว่า 85% ไม่ได้รับค่าจ้าง ขั้นต่ำด้วยซ้ำไป ธุรกิจแฟชั่น ในฐานะที่เป็นตัวการที่มีส่วนในการสร้างปัญหามากมายให้กับโลกใบนี้ ถึงเวลาแล้วกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่


“Circular Fashion Economy - อุตสาหกรรมแฟชั่น ต้องมองไปให้ไกลกว่า แค่การสร้างสินค้าใหม่ๆ ออกมา”

เปลี่ยนแนวคิดจาก หลักเศรษฐกิจที่เป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) ให้กลายเป็น หลักเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy)


Circular Fashion Economy - ทุกอย่างจะต้องถูกสร้างจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีความรับผิดชอบทำการผลิต โดยคำนึงถึง ผู้คนบนโลก ออกแบบโดยลดปริมาณขยะ สร้างสิ่งที่ทนทานและสามารถนำมารีไซเคิลได้ในตอนท้าย


แฟชั่นระบบหมุนเวียน จะสร้างผลลัพธ์ทางบวกในทุกขั้นตอนที่เลือกทำ แฟชั่นระบบหมุนเวียนจะช่วยสร้างเศรษฐกิจ ที่ธรรมชาติ ต้นทุนทางสังคม และสร้างระบบธรรมชาติขึ้นใหม่ แทนที่จะทำลายมันทิ้งอย่างที่ทำอยู่


แฟชั่นในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ควรเป็นสิ่งที่เท่าเทียม ทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องแต่งกายได้ในทุกระดับ ลดความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนตัดสินกันจากการมองเครื่องแต่งกาย


ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในวงการแฟชั่นต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อทำให้กระบวนการทำงานที่ปลอดภัย ผลตอบแทนที่ยุติธรรม โอกาสในการเติบโตในเส้นทางนี้ และความเจริญรุ่งเรืองเกิดขึ้นจริง


“Circular Fashion Economy - โอกาสทางธุรกิจ ควบคู่ไปพร้อมกับการแก้ปัญหา”

รายงานของ The Lablaco x Vogue Circular Fashion ในปี 2020 บอกว่า ในเศรษฐกิจแฟชั่นแบบหมุนเวียน มีศักยภาพในการเติบโตกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนนึงก็เกิดจากแรงกดดันจากความตระหนักของผู้บริโภคในเรื่องของ สิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคม ส่งผลทำให้แฟชั่นแบบหมุนเวียนสามารถเติบโตขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว ผู้บริโภคพร้อมจะ สนับสนุนผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นดำเนินธุรกิจภายใต้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน


ตัวอย่างเช่น The Guestlist กับหลักการ “Circular Fashion Economy - ด้วยการซ่อมแซม การส่งคืน และบริการขายต่อ”

The Guestlist เป็นบริษัทผ้าขนสัตว์ระดับไฮเอนด์ของเยอรมันที่ให้บริการดูแลผ้าขนสัตว์สปาตลอดอายุการใช้งาน ไม่ว่าจะ ทำความสะอาด ซ่อมแซม หรือตกแต่งทั่วไป


สิ่งเหล่านี้เป็นบริการฟรีที่จะช่วยต่ออายุการใช้งานและเพิ่มมูลค่าให้แก่เสื้อผ้าทุกชิ้น นอกจากนี้ ยังมีการรับดูแลผ้าขนสัตว์ ที่ไม่ใช่ของ The Guestlist อีกด้วย ซึ่งจะมีการเก็บค่าบริการเล็กน้อย


แต่สิ่งที่พวกเขาได้จริงๆไม่ใช่แค่ค่าบริการ แต่เป็นการซื้อใจลูกค้า เพราะการสร้างสัมพันธ์เช่นนี้มีโอกาสสูงมากที่การซื้อ ผ้าขนสัตว์ ครั้งต่อไปของลูกค้าเหล่านี้ จะเป็นการซื้อผ้าขนสัตว์ The Guestlist แทน


นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างบริษัท หรือ องค์กรอีกมากมายที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ Circular Fashion Economy เช่น MUD Jeans, Stella McCartney, Been London Loop Swim, Funky Kalakar และ อื่นๆ


อย่างในบ้านเราก็มี Moreloop ซึ่งเป็นธุรกิจที่แก้ปัญหาผ้าเหลือจากการผลิตของโรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ โดยอาศัยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น


“ปัญหาของโลก ก็เป็นปัญหาของเรา การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่สร้างมันขึ้นมา”

อยากให้ทุกคนตระหนักถึงปริมาณขยะบนโลก มลพิษหรือผลกระทบที่มันกำลังเกิดขึ้นบนโลกนี้ มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือ เป็นเรื่องของคนอื่นเลย เพราะเราเองก็เป็นส่วนนึงที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้มันเกิดขึ้น


หันมาสนับสนุนแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้บริโภคที่มีสติและตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติและ ทรัพยากรมนุษย์บนโลก


ใช้สิ่งที่มีให้คุ้มค่ามากที่สุด คิดให้เยอะมากขึ้น ก่อนที่จะทิ้งหรือซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ เริ่มต้นด้วยวิธีการง่ายๆ ก่อนแค่นี้ การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว


ที่มา : https://www.posttoday.com/politic/columnist/671045

ข่าวรายวัน,สิ่งทอ,Circular Fashion Economy,ความยั่งยืน,อุตสาหกรรมแฟชั่น,แก๊สเรือนกระจก,ทรัพยากรธรรมชาติ