ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนตุลาคม 2564
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนตุลาคม 2564 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 557.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 375.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 182.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 390.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 259.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 130.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 167.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว (สะสม) 10 เดือน (เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 5,330.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน (YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,469.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,861.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 10 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 4,177.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 2,861.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,315.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 1,153.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนตุลาคม 2564 พบว่า ทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.0
ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนตุลาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 86.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.0, 74.4 และ 24.2 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ (สะสม) 10 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 765.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรก (สะสม) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และปากีสถาน ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 52.1, 6.2 และ 35.2 ตามลำดับ
ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนตุลาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 63.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1, 20.7 และ 132.7 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 10 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 566.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 34.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรก (สะสม) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 27.2, 35.4 และ 67.3 ตามลำดับ
ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนตุลาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564
การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 110.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดบังคลาเทศ และเมียนมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.0 และ 91.2 ขณะที่การส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวียดนามในเดือนนี้ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.9
และการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 10 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 974.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรก (สะสม) ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และบังคลาเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 18.0, 10.8 และ 39.1 ตามลำดับ
ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนตุลาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564
การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่าการส่งออก 182.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หากพิจารณาในรายตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9, 7.5 และ 11.0 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 10 เดือน พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 1,861.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา (สะสม) 10 เดือน ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 4.5
ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนตุลาคม 2564 พบว่า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ด้าย และผ้าผืน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ที่ร้อยละ 21.0 และ 13.0 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM) พบว่า มีเพียงผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4
ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนตุลาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 112.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8, 4.4 และ 4.9 ตามลำดับ
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย (สะสม) 10 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 1,265.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 28.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 30.6, 4.7 และ 26.3 ตามลำดับ
ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนตุลาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 147.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้น จากตลาดจีนและไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 และ 34.9
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน (สะสม) 10 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 1,595.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 22.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม และไต้หวัน นำเข้าเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 26.2, 31.3 และ 26.1 ตามลำดับ
ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนตุลาคม 2564 และ (สะสม) เดือนมกราคม-ตุลาคม 2564
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่าการนำเข้า 75.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าลดลงจากตลาดจีน ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.5 ขณะที่การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากตลาดเมียนมา และอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,381.0 และ 23.7
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม (สะสม) 10 เดือน พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 768.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยนำเข้าลดลง (สะสม) จากตลาดจีนและเวียดนาม ปรับตัวลดลง (สะสม) ร้อยละ 4.2 และ 10.0 ขณะที่การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากตลาดอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้น (สะสม) ร้อยละ 22.0
ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน (MoM)
ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนตุลาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ จากตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกไปยังตลาดจีน อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1, 10.6 และ 26.3 ตามลำดับ
ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดการส่งออกของผลิตภัณฑ์เส้นด้าย จากตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก พบว่า มีเพียงการส่งออกไปยังตลาดเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.8 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นและจีน ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.8 และ 15.0
ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) และเมื่อพิจารณาในรายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน จากตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกไปยังตลาดเวียดนาม บังคลาเทศ และเมียนมา ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9, 4.2 และ 74.5 หรือที่มูลค่า 23.5, 12.8 และ 11.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากตลาดการส่งออกทั้ง 3 อันดับแรก ได้แต่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเบลเยียม ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.2, 6.6 และ 7.2 ตามลำดับ
ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)
และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนตุลาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ พบว่า ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าปรับตัวลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นด้ายและผ้าผืน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตสินค้าขั้นกลางนำ้และปลายน้ำ
ผลิตภัณฑ์เส้นด้าย พบว่า มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยตลาดนำเข้าทั้ง 3 อันดับแรกปรับตัวลดลง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 11.0, 12.4 และ 40.6 หรือที่มูลค่า 33.9, 11.5 และ 9.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน พบว่า มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) จากตลาดไต้หวัน ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.6 ขณะที่การนำเข้าจากตลาดจีนและเวียดนาม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 และ 33.7
และผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม พบว่า มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (MoM) โดยตลาดนำเข้า 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ จีน เมียนมา และอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3, 232.3 และ 11.4 หรือที่มูลค่า 37.6, 7.7 และ 5.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนตุลาคม 2564
สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่า 557.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก จัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนดังกล่าว พบว่า ตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 และ 1.6 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดเวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9, 23.8 และ 36.3 ตามลำดับ
สำหรับประเด็นที่ยังต้องติดตามเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ประกอบด้วย ต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากความล่าช้าในการขนส่งบวกกับค่าขนส่งที่สูงกว่าปกติ และคาดว่าจะยังไม่คลี่คลายในปีนี้ ซึ่งหากพิจารณาจากดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนตุลาคม 2564(1) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) (กลุ่มสิ่งทอ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1%YoY และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4%YoY) แต่ด้วยตลาดประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมีแนวโน้มความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น คาดว่าจะช่วยให้การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่เริ่มคลี่คลายในหลายพื้นที่จากการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์บวกกับมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564) คาดว่าน่าจะส่งผลต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนตุลาคม 2564(2) (หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า) พบว่า ยังคงปรับตัวลดลง 0.3% YoY (จากเสื้อยืดสตรี เสื้อยืดบุรุษ และกางเกงขายาวบุรุษ) สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มที่พบว่า ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน
รวมถึงประเด็นเรื่องแรงงานที่อาจไม่กลับเข้าสู่ระบบ หลังจากเดินทางกลับต่างจังหวัดในช่วงล็อคดาวน์ที่ผ่านมา (ช่วงไตรมาส 3 ปี 2564) และมีแนวโน้มอาจไม่กลับมาทำงาน จึงเสี่ยงขาดแคลนแรงงานในภาคผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น
-------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
(1) (2) กองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
-------------------------------------------------
จัดทำและเรียบเรียงโดย
ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม)
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
9 ธันวาคม 2564