สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2564
การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 51.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 16,879.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 8,177.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.67 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,931.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 26.87 โดยเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าร้อยละ 23.95
ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2563 และปี 2564
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สถานการณ์การส่งออก
สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 10 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ด้วยสัดส่วนร้อยละ 39.69 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยรวมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 75.02 อันเป็นผลมาจากมูลค่าการส่งออกทองคำสะสมใน 3 ไตรมาสแรกที่ปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยราคาทองคำในเดือนตุลาคมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,776.85 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) โดยมีปัจจัยกดดันจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มปรับลดวงเงินซื้อคืนพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น รวมทั้งกองทุน SPDR ลดการถือครองทองคำตลอดเดือนตุลาคมลงร้อยละ 7.89
เครื่องประดับแท้ สินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 33.24 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 29.39 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับเงิน เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.51 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตลาดสำคัญในอันดับที่ 1, 3 และ 4 ขยายตัวได้ร้อยละ 48.49, ร้อยละ 259.33 และร้อยละ 10.66 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังเยอรมนีและจีน ตลาดในอันดับ 2 และ 5 หดตัวลงร้อยละ 6.96 และร้อยละ 33.02 ตามลำดับ การส่งออก เครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.93 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับที่ 1 และ 3-5 อย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และญี่ปุ่น ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.86, ร้อยละ 112.84, ร้อยละ 22.01 และร้อยละ 14.12 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดในอันดับ 2 ลดลงร้อยละ 15.37 การส่งออก เครื่องประดับแพลทินัม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.86 จากการส่งออกไปยังสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฮ่องกง ตลาดในอันดับที่ 1 และ 3-5 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 206.12, ร้อยละ 154.29, ร้อยละ 64.89 และร้อยละ 50.98 ตามลำดับ ส่วนญี่ปุ่นตลาดอันดับที่ 2 ปรับตัวลงร้อยละ 4.55
เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.95 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.61 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ เติบโตได้ร้อยละ 35.26 เนื่องจากการส่งออกไปยังอินเดีย เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.06, ร้อยละ 16.75, ร้อยละ 21.77 และร้อยละ 56.77 ตามลำดับ ขณะที่ฮ่องกง ตลาดในลำดับที่ 2 ลดลงร้อยละ 0.64
พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 6.82 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.52 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.69 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ตลาดสำคัญทั้ง 5 อันดับแรก เติบโตสูงขึ้นร้อยละ 37.82, ร้อยละ 3.39, ร้อยละ 34.56, ร้อยละ 127.95 และร้อยละ 13.34 ตามลำดับ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน หดตัวลดลงร้อยละ 6.74 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา ตลาดหลักใน 2 อันดับแรก มีมูลค่าลดลงร้อยละ 18.27 และร้อยละ 45.17 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตลาดในอันดับที่ 3-5 ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 59.91, ร้อยละ 317.84 และร้อยละ 82.31 ตามลำดับ
เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.61 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.54 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับที่ 1, 2, 4 และ 5 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.19, ร้อยละ 61.20, ร้อยละ 22.15 และร้อยละ 10.40 ตามลำดับ ขณะที่ลิกเตนสไตน์ ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงร้อยละ 53.54
มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.87 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูง สามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมได้เร็วกว่า รวมทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้มีความแข็งแกร่งกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ต่อเนื่องและภาคการค้าระหว่างประเทศเติบโต จึงมีส่วนช่วยเสริมให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยขยายตัวได้ โดยไทยส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เบลเยียม ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับ 1 และ 4-10 มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 54.64, ร้อยละ 67.76, ร้อยละ 138.40, ร้อยละ 7.73, ร้อยละ 16.41, ร้อยละ 20.07, ร้อยละ 35.37 และร้อยละ 77.33 ตามลำดับ
ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2563 และปี 2564
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 77 รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ล้วนเติบโตขึ้นร้อยละ 48.49, ร้อยละ 94.86, ร้อยละ 3.39, ร้อยละ 21.77 และร้อยละ 80.19 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกไป อินเดีย ยังคงเติบโตได้นั้น เนื่องจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 74 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 137.06 ส่วนสินค้าที่หดตัวในตลาดนี้คือ โลหะเงิน พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไนสำหรับการส่งออกไปยัง อินเดีย ยังคงเติบโตได้ดีนั้นเนื่องมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 76 เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.32 ส่วนสินค้าที่หดตัวในตลาดนี้คือ โลหะเงิน พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเงิน
สำหรับการส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับแพลทินัม ล้วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 259.33, ร้อยละ 112.84, ร้อยละ 45.72 ร้อยละ 83.60 และร้อยละ 64.89 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงินได้สูงขึ้นร้อยละ 14.12, ร้อยละ 15.72 และร้อยละ 10.38 ตามลำดับ ส่วนเครื่องประดับแพลทินัมปรับตัวลดลงร้อยละ 4.55
ส่วนการส่งออกไปยัง เบลเยียม ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเนื่องมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 86 รวมทั้งสินค้าสำคัญถัดมาอย่างพลอยเนื้อแข็งเจียระไน เศษหรือของใช้ไม่ได้อื่นๆ ที่ทำด้วยโลหะมีค่า/หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และเครื่องประดับทอง ล้วนขยายตัวได้ร้อยละ 16.75, ร้อยละ 73.43, ร้อยละ 311.54 และร้อยละ 73.71 ตามลำดับ
สำหรับการส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย สามารถขยายตัวได้ดี จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ล้วนมีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 10.66, ร้อยละ 78.64, ร้อยละ 80.73, ร้อยละ 165.03 และ ร้อยละ 56.01 ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน สามารถเติบโตได้ร้อยละ 22.01, ร้อยละ 56.77 และร้อยละ 143.39 ตามลำดับ
การส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างโลหะเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8,227.67, ร้อยละ 13.34, ร้อยละ 59.91 และร้อยละ 10.40 ตามลำดับ โดยสวิตเซอร์แลนด์นำเข้าโลหะเงินเพื่อสกัดเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการโลหะเงินเพื่อเก็งกำไร
มูลค่าการส่งออกไปยัง ฮ่องกง ที่ลดลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน เครื่องประดับทองและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน มีมูลค่าลดลงร้อยละ 0.64, ร้อยละ 15.37 และร้อยละ 18.27 ตามลำดับ
ขณะที่การส่งออกไปยัง เยอรมนี ปรับตัวลดลงนั้นเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน ที่ครองสัดส่วนสูงสุดราวร้อยละ 78 รวมถึงเครื่องประดับเทียม ได้ลดลงร้อยละ 6.96 และร้อยละ 7.61 ตามลำดับ
แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2564
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
บทสรุป
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 51.56 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.87 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.63 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2563 และปี 2564
ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ที่เติบโตนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำซึ่งเป็นคู่ค้ากับไทย ส่วนใหญ่สามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นปกติ จากปัจจัยสนับสนุนอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 อยู่ในระดับสูง ทั้งยังมีการคิดค้นยาต้านโควิด-19 และนวัตกรรมทางการแพทย์ทยอยออกมามากขึ้น ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการในการบริโภคฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ ประเทศเหล่านี้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยหนุนทำให้การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยรวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยสินค้าที่มีความโดดเด่นของไทย คือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม รวมทั้งเพชรเจียระไนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน
นอกจากนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) มีการปรับประมาณการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสูงขึ้น เนื่องจากการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญหลายรายการฟื้นตัวกลับมา ประเทศสมาชิก WTO มีแนวโน้มลดการใช้มาตรการและข้อจำกัดทางการค้า และเพิ่มมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้น รวมทั้งค่าดัชนีการค้าสินค้า ซึ่งเป็นมาตรวัดแนวโน้มการค้าโลกยังเพิ่มขึ้นสูงสุดนับแต่ปี 2559 จึงเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ยังยืดเยื้อและการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ อย่างโอไมครอน รวมทั้งแนวโน้มการเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงในขณะที่เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว (Stagflation) เหล่านี้เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการทบทวนกลยุทธ์ทางการตลาดอยู่เสมอเพื่อให้มีความสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่มีความผันผวนสูง โดยให้ความสำคัญกับการประสานช่องทางการตลาดแบบต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายกลุ่ม รวมไปถึงการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับการทำธุรกิจ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้องค์กรเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างราบรื่น ยังสามารถใช้เป็นแต้มต่อเพื่อการนำพาธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วกว่าเดิมในช่วงเวลาที่โลกได้ก้าวสู่ Next Normal แล้ว
ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”