หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2564

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2564

กลับหน้าหลัก
11.10.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 483

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2564

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2564 ปรับตัวลดลงร้อยละ 57.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า 15,200.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 6,427.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.63 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 3,747.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 27.69 โดยนับเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตั้งแต่มีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งเมื่อพิจารณาเฉพาะเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้าร้อยละ 35.684

ตารางที่ 1  มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2563 และปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 8 เดือนแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ด้วยสัดส่วนร้อยละ 41.69 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไทยโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 78.15 อันเป็นผลมาจากมูลค่าการส่งออกทองคำสะสมใน 8 เดือนแรกที่ปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยราคาทองคำในเดือนสิงหาคมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 1,783.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ (https://www.kitco.com) โดยมีปัจจัยกดดันจากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งกองทุน SPDR ทยอยขายทองคำต่อเนื่องตลอดเดือนสิงหาคม

เครื่องประดับแท้สินค้าส่งออกในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 31.39 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.47 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับเงิน ขยายตัวได้ร้อยละ 23.17 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ตลาดสำคัญในอันดับที่ 1, 3 และ 5 ล้วนเติบโตได้ร้อยละ 60.20, ร้อยละ 250.43 และร้อยละ 29.35 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังเยอรมนีและจีน ตลาดในอันดับ 2 และ 4 ปรับตัวลงร้อยละ 9.18 และร้อยละ 27.80 ตามลำดับ การส่งออก เครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.33 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอันดับที่ 1 และ 3-5 อย่างสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ที่ล้วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 113.13, ร้อยละ 37.60, ร้อยละ 144.70 และร้อยละ 13.63 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังฮ่องกง ตลาดในอันดับ 2 ลดลงร้อยละ 5.69 การส่งออก เครื่องประดับแพลทินัม ยังขยายตัวได้ร้อยละ 81 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักทั้ง 5 อันดับแรกอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฮ่องกง ได้สูงขึ้นร้อยละ 218.75, ร้อยละ 1.76, ร้อยละ 178.33, ร้อยละ 105.89 และร้อยละ 113.03 ตามลำดับ

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.03 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 34.65 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 38.12 เนื่องจากการส่งออกไปยังอินเดีย ฮ่องกง เบลเยียม สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดใน 5 อันดับแรก ที่ต่างมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 150.72, ร้อยละ 8.07, ร้อยละ 11.90, ร้อยละ 15.66 และร้อยละ 74.65 ตามลำดับ 

พลอยสีเป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 6.59 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย เติบโตขึ้นร้อยละ 10.50 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.81 จากการส่งออกไปยังฮ่องกง ฝรั่งเศส อิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ตลาดในอันดับ 1 และ 3-5 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.09, ร้อยละ 150.49, ร้อยละ 15.07 และร้อยละ 7.85ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับที่ 2 ลดลงร้อยละ 12.62 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 13.04 เนื่องมาจากการส่งออกไปยังฮ่องกงและสหรัฐอเมริกา ตลาดใน 2 อันดับแรก ได้ลดลงร้อยละ 25.48 และร้อยละ 50.85 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ตลาดในอันดับที่ 3-5 ยังขยายตัวได้ร้อยละ 26.42, ร้อยละ 421.93 และร้อยละ 102.43 ตามลำดับ

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 จากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ตลาดในอันดับที่ 1, 2, 4 และ 5 ยังเติบโตได้ดี ร้อยละ 79.81, ร้อยละ 57.12, ร้อยละ 28.02 และร้อยละ 17.85 ตามลำดับ ขณะที่ลิกเตนสไตน์ ซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมา หดตัวลงร้อยละ 57.07

มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เนื่องมาจากการขยายตัวของปริมาณการค้าในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ประกอบกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในอัตราเร่ง ทำให้มีประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว เป็นปัจจัยสําคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้การดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า รวมถึงมาตรการภาครัฐและการปรับตัวของภาคธุรกิจในการนำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการเติบโต จึงมีส่วนช่วยหนุนให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพิ่มขึ้น โดยไทยส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง อินเดีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เบลเยียม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ตลาดในอันดับ 1, 2 และ 4-10 ด้วยมูลค่าเติบโตขึ้นร้อยละ 58.15, ร้อยละ 5.10, ร้อยละ 54.20, ร้อยละ 148.39, ร้อยละ 13.98, ร้อยละ 9.64, ร้อยละ 52.30, ร้อยละ 76.58 และร้อยละ 46.60 ตามลำดับ


ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2563 และปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

การส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้นเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.20, ร้อยละ 113.13, ร้อยละ 15.66 และร้อยละ 79.81 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยัง ฮ่องกง ที่เติบโตนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เครื่องประดับเทียม และเครื่องประดับเงิน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.07, ร้อยละ 31.09, ร้อยละ 57.12 และร้อยละ 27.05 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยัง อินเดีย ที่ขยายตัวได้ดีนั้นเนื่องมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 79 เพิ่มขึ้นร้อยละ 150.72 ส่วนสินค้าที่หดตัวในตลาดนี้คือ โลหะเงิน พลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน

ส่วนการส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทอง ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันมากกว่าร้อยละ 79 รวมทั้งสินค้าสำคัญลำดับถัดมาอย่างเครื่องประดับเทียม และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ต่างเติบโตขึ้นร้อยละ 250.43, ร้อยละ 144.70, ร้อยละ 49.34 และร้อยละ 93.73 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น ที่เติบโตนั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับทอง รวมทั้งสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับแพลทินัม เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.63, ร้อยละ 1.76, ร้อยละ 21.27 และร้อยละ 11.52 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยัง เบลเยียม ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้นเนื่องมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 86 รวมทั้งสินค้าสำคัญถัดมาอย่างเศษหรือของใช้ไม่ได้อื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะมีค่า/หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และเครื่องประดับทอง ได้มากขึ้นร้อยละ 11.90, ร้อยละ 259.12, ร้อยละ 62.13 และร้อยละ 93.38 ตามลำดับ

ขณะที่การส่งออกไปยัง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และพลอยเนื้อแข็งเจียระไน ขยายตัวได้ร้อยละ 37.60, ร้อยละ 74.65 และร้อยละ 261.53 ตามลำดับ

การส่งออกไปยัง สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างโลหะเงิน พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ได้สูงขึ้นร้อยละ 8,229.82, ร้อยละ 7.85, ร้อยละ 26.42 และร้อยละ 17.85 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการได้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม รวมทั้งพลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ที่ล้วนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.35, ร้อยละ 118.45, ร้อยละ 106.59, ร้อยละ 226.91 และร้อยละ 94.99 ตามลำดับ

ส่วน เยอรมนี ตลาดในอันดับ 3 ลดลงร้อยละ 5.24 เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินที่ครองสัดส่วนสูงสุดราวร้อยละ 77 รวมถึงเครื่องประดับเทียมปรับลดลงร้อยละ 9.18 และร้อยละ 12.67 ตามลำดับ

แผนภาพที่ 1 ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 57.72 แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำ พบว่า เติบโตได้สูงขึ้นร้อยละ 27.69 และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าสินค้าส่งกลับจากต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.25 มีรายละเอียดดังตารางที่ 3

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี 2563 และปี 2564

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทย (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ที่เติบโตนั้นเนื่องจากเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีอัตราการกระจายวัคซีนสู่ประชาชนสูง ไม่เพียงแต่มีการบริโภคในประเทศเพิ่มมากขึ้น อัตราการค้าระหว่างประเทศก็เติบโตมากขึ้นด้วย รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ที่เข้ามาทดแทนช่องทางการค้าในรูปแบบเดิม ล้วนเป็นปัจจัยหนุนทำให้การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับโตได้ต่อเนื่อง โดยสินค้าที่มีความโดดเด่นของไทย คือ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม รวมทั้งเพชรเจียระไนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไน

แม้ว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจะเติบโตได้แต่ยังคงมีประเด็นที่ต้องต้องติดตาม อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงยืดเยื้อและการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ในกรอบที่จํากัด ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ยังชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงจะเติบโตได้ดี นำโดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ขณะที่ประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำจะฟื้นตัวได้ช้าจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ

ทั้งนี้ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลวัต อีกทั้งยังกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเพิ่มเติมความรู้ ความเข้าใจในเชิงนวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง พัฒนาทักษะความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในยุคที่ออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักทั่วโลกเพราะโลกไม่หมุนแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว


ศูนยข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)



*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2564, ม.ค.-ส.ค., สะสม 8 เดือน, Q3/2564, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'64