หน้าแรก / THTI Insight / ข้อมูล นำเข้า-ส่งออก / สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2563

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2563

กลับหน้าหลัก
18.01.2564 | จำนวนผู้เข้าชม 1722

สถานการณ์ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2563

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2563 มีมูลค่าสูงขึ้นร้อยละ 17.24 (ร้อยละ 17.79 ในหน่วยของเงินบาท) จากเดิมในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 ที่มีมูลค่า 14,968.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (464,578.61 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 17,548.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (547,214 ล้านบาท) โดยเป็นสินค้าส่งออก ในอันดับที่ 2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.30 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 4,395.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (135,971.52 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 42.26 (ร้อยละ 42.43 ในหน่วยของเงินบาท) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) รายเดือน พบว่าหลังจากการฟื้นตัวในเดือนกรกฎาคม 2563 และเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง กลับหดตัวลงในเดือนพฤศจิกายน 2563 ในอัตราร้อยละ 2.75 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2563

ตารางที่ 1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2563

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สถานการณ์การส่งออก

การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เติบโตร้อยละ 17.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ในสัดส่วนราวร้อยละ 75 ได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 78.83 เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำฯ สะสมใน 2 ไตรมาสแรกที่เติบโตสูงมาก ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาทองคำทำสถิติ New High จึงมีการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของ ราคา ในขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการลดลงไม่ว่า จะเป็นเครื่องประดับแท้ เพชร และพลอยสีอันเนื่องมาจากความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัวลง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ซึ่งกลับมาแพร่ระบาด รอบใหม่ในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการส่งออกสินค้าเฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2563 เทียบกับเดือนตุลาคม 2563 (ดังตารางที่ 2) พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 10.73 โดยสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงสุด คือ เครื่องประดับแท้มีสัดส่วนร้อยละ 41.60 ของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ 7.69 โดยสินค้าส่งออกหลักคือ เครื่องประดับเงิน หดตัวร้อยละ 9.45 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ตลาดสำคัญในอันดับที่ 1, 2, 3 และ 5 ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.30, ร้อยละ 13.42, ร้อยละ 14.94 และร้อยละ 7.32 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังจีน ตลาดในอันดับที่ 4 ยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 18.34 การส่งออกเครื่องประดับทอง ลดลงร้อยละ 8 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดหลักในอันดับที่ 1, 2 และ 4 หดตัวลงร้อยละ 10.31, ร้อยละ 34.23 และร้อยละ 42.51 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรและสิงคโปร์ ตลาดในอันดับที่ 3 และ 5 สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.61 และร้อยละ 96.90 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกเครื่องประดับแพลทินัม ยังเติบโตได้ร้อยละ 28.56 จากการส่งออกไปยังตลาดหลักอันดับ 1 และ 3 อย่างสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวสูงขึ้น 1.4 เท่า และร้อยละ 17.50 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และฮ่องกง ตลาดในอันดับ 2, 4 และ 5 ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.76, ร้อยละ 15.51 และร้อยละ 42.55 ตามลำดับ

ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 23.96 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม ซึ่งมีมูลค่าลดลงร้อยละ 29.17 เนื่องจากราคาทองคำเฉลี่ยในเดือนพฤศจิกายนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,863.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์(https://www.kitco.com) โดยมีปัจจัยกดดันมาจาก แรงเทขายทองค าของจากกองทุน SPDR กองทุน ETF และ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยทั้งสกุลเงินดอลลาร์และทองคำเพื่อทำกำไรในระยะสั้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ คลี่คลายลง ข่าวความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จากหลายบริษัททั่วโลก ทำให้มีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ดัชนีดาวโจนส์ ซึ่งปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.01 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ขยายตัวได้ดีร้อยละ 21.20 โดยเพชรเจียระไนเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ มีอัตราการเติบโตสูงร้อยละ 20.63 จากการส่งออกไปยังอินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตลาดในอันดับ 1 และ 4 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.86 และร้อยละ 79.41 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังฮ่องกง เบลเยียม และสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 2, 3 และ 5 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.21, ร้อยละ 28.75 และร้อยละ 5.32 ตามลำดับ

พลอยสี สินค้าส่งออกในอันดับที่ 4 มีสัดส่วนร้อยละ 6.20 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย หดตัวลงร้อยละ 9.39 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) ลดลงร้อยละ 0.39 จากการส่งออกไปยังฮ่องกงและอิตาลี ตลาดใน อันดับ 1 และ 5 ซึ่งลดลงร้อยละ 9.38 และร้อยละ 29.40 ตามล าดับ ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ศรีลังกา และ ฝรั่งเศส ตลาดในอันดับ 2-4 ขยายตัวได้ร้อยละ 62.52, 5.07 เท่า และร้อยละ 60.83 ตามลำดับ พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ปรับตัวลดลงร้อยละ 22.06 อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ตลาดในอันดับ 1, 2, 4 และ 5 ได้ลดลงร้อยละ 6.08, ร้อยละ 46.11, ร้อยละ 46.26 และร้อยละ 48.57 ตามลำดับ มีเพียงการส่งออกไปยังศรีลังกา ตลาดในอันดับ 3 ที่ขยายตัวได้กว่า 29.69 เท่า

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.23 มีมูลค่าเติบโตร้อยละ 1.48 จากการส่งออกไปยังตลาดในอันดับที่ 3 และ 5 อย่างฮ่องกงและ สวิตเซอร์แลนด์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.15 และร้อยละ 21.31 ตามลำดับ ส่ วนการส่งออกไปยังลิกเตนสไตน์ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ตลาดในอันดับที่ 1, 2 และ 4 ลดลง ร้อยละ 6.34, ร้อยละ 6.77 และร้อยละ 13.55 ตามลำดับ

ตารางที่ 2 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายสินค้าในระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2563

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เมื่อพิจารณาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่งออกรายการสำคัญรายเดือน (ดังแผนภาพที่ 1) พบว่า การส่งออกสินค้าสำคัญทั้งเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เพชร เจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน รวมถึงเครื่องประดับเทียม เริ่มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสโควิดแพร่ระบาดอย่างหนักในหลายประเทศทั่วโลกทำให้หลายประเทศต้องล็อคดาวน์ประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขนส่งจึงหยุดชะงักลง แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ไตรมาส 3 เดือนกรกฎาคม 2563 การส่งออกสินค้าสำคัญ ทั้ง 6 รายการดังกล่าวทยอยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและเติบโตได้สูง ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังจากหลายประเทศคลายล็อกดาวน์และดำเนินธุรกิจเกือบเป็นปกติทำให้มีแรงซื้ออัญมณีและเครื่องประดับกลับมา ก่อนที่มีการปรับตัวลดลงมาในเดือนพฤศจิกายน จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบ 2 ทำให้หลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

แผนภาพที่ 1 แสดงมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยรายการสำคัญรายเดือน ปี 2563

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลงร้อยละ 2.75 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้ลดลง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเบลเยียม ตลาดในอันดับ 1, 2, 4, 5, 7, 8, 9 และ 10 ต่างมี มูลค่าลดลงร้อยละ 6.89, ร้อยละ 14.02, ร้อยละ 13.98, ร้อยละ 35.83, ร้อยละ 15.14, ร้อยละ 8.80, ร้อยละ 7.86 และร้อยละ 17.22 ตามลำดับ (ดังแผนภาพที่ 2) 

การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวลดลงนั้น สืบเนื่องมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปยังตลาดนี้ได้น้อยลง ได้แก่ เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเทียม ที่ล้วนหดตัวร้อยละ 11.30, ร้อยละ 10.31, ร้อยละ 5.32 และร้อยละ 6.77 ตามลำดับ อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งกลับมาระบาด มากขึ้นกระทั่งพบผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ ความไม่ชัดเจนภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีรวมทั้งมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจยังไม่สามารถเห็น ผลได้อย่างเด่นชัดในระยะเวลาอันสั้น

สำหรับการส่งออกไปยังฮ่องกงที่ลดน้อยลงนั้น เนื่องจากความวิตกกังวลจากการระบาดของโควิด-19 ที่ประเทศคู่ค้าสำคัญมียอดผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำโดยสินค้าส่งออกสำคัญในตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน ล้วนแล้วแต่หดตัวทุกรายการ 

การส่งออกไปยังเยอรมนีที่หดตัวลงนั้น เนื่องมาจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงิน ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 79 ปรับตัวลงร้อยละ 13.42 ในขณะที่สินค้าสำคัญถัดมาอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเทียมยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 9.13 และร้อยละ 10.81 ตามลำดับ ท่ามกลางการดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจรวมถึงการลดภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อลดภาระของประชาชนซึ่งยังไม่เห็นผลในระยะสั้น

การส่งออกไปยังออสเตรเลียปรับตัวลดลงนั้น เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับเงิน สินค้าหลักซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 68 และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทองได้ลดลง

มูลค่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นที่มีมูลค่าลดลงนั้น น่าจะเป็นเพราะอุปสงค์สินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อันเนื่องมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเช่น เครื่องประดับทอง เครื่องประดับแพลทินัม และเครื่องประดับเงิน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 57 ได้ลดลง รวมทั้งสินค้ากึ่งสำเร็จรูปอย่างพลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไนที่ต่างหดตัวลงด้วยเช่นกัน

ขณะที่การส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรลดลงนั้น เนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 นำมาสู่ มาตรการล็อกดาวน์เกาะอังกฤษตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ทำให้ไทยส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการไปยังตลาดนี้ได้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม พลอยเนื้อแข็ง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน

การส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ปรับตัวลดลง นั้นมาจากการส่งออกสินค้าสำคัญอย่างเครื่องประดับทอง ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 45 ได้ลดลงมาก ขณะที่สินค้าที่ยังเติบโตได้ในตลาดนี้คือ เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน อัญมณีสังเคราะห์ และเครื่องประดับเงิน

สำหรับการส่งออกไปยังเบลเยียมที่หดตัวลงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลง เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยเป็นผลให้การส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไน และสินค้าสำคัญรองลงมาอย่างเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงินได้ลดลง

ขณะที่การส่งออกไปยังอินเดียตลาดสำคัญลำดับที่ 3 ยังสามารถเติบโตได้ร้อยละ 65.37 จากการส่งออกสินค้าหลักอย่างเพชรเจียระไนและโลหะเงินได้เพิ่มสูงมาก 

สิงคโปร์ตลาดสำคัญลำดับที่ 6 ขยายตัวได้ร้อยละ 16.25 เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญอย่างเครื่องประดับทองและ เครื่องประดับแพลทินัม และเครื่องประดับเทียมได้เพิ่มสูงขึ้น

แผนภาพที่ 2 แสดงตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2563

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

บทสรุป

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.24 (ร้อยละ 17.79 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำฯ จะพบว่าลดลงร้อยละ 42.26 (ร้อยละ 42.43 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิปรับตัวลงร้อยละ 41.09 (ร้อยละ 41.23 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) และเมื่อพิจารณาเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 เทียบกับเดือนตุลาคม พบว่า มูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยไม่รวมทองคำฯ ลดลงร้อยละ 2.75 และหลังจากหักมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า มีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 3.66 ดังตารางที่ 3 

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกสุทธิของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน ปี 2563

ที่มา : กรมศุลกากร ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ที่ลดลงนั้น ปัจจัยหลักยังคงเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งกลับมาระบาดอย่างหนักในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย แม้ว่าการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และเติบโตสูงมากในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่หลายตลาดยังคงมีทิศทางผันผวนจากผลกระทบดังกล่าว มีเพียงตลาดที่สำคัญอย่างอินเดีย ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตและภาคบริการล้วนปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นรับช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองในช่วงสิ้นปี

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเนื่องจากปี 2563 ยังคงเป็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงในรอบสอง ทำให้ประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ต้องนำมาตรการล็อคดาวน์ประเทศกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจล่าช้าออกไปอีก รวมทั้งทิศทางของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยสูญเสียโอกาสในการแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากความต้องการจับจ่ายใช้สอยในช่วงของเทศกาลต้นปีต่อเนื่องจากปลายปี 63 ที่จะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงข่าวความสำเร็จของวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งทยอยฉีดในบางประเทศแล้ว

-------------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์” 

นำเข้าส่งออกอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, สถานการณ์, การส่งออก, Export, ปี 2563, ม.ค.-พ.ย., สะสม 11 เดือน