หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / หลากปัจจัย กระทบตลาดค้าเพชรโลก

หลากปัจจัย กระทบตลาดค้าเพชรโลก

กลับหน้าหลัก
09.12.2562 | จำนวนผู้เข้าชม 1234

หลากปัจจัย กระทบตลาดค้าเพชรโลก

ในช่วงปีที่ผ่านจนถึงปัจจุบัน ผู้ค้าเพชรไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือใหญ่ต่างต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาลงซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ทำให้การค้าและการลงทุนชะลอตัวลง และแน่นอนว่ากระทบต่อการค้าเพชรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตเพชรยักษ์ใหญ่อย่าง De Beers และ Alrosaได้ออกมาเปิดเผยว่ายอดขายเพชรในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2562 ลดลงมาก โดย De Beers มียอดขาย 295 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 39 ส่วน Alrosaมียอดขาย 2,160 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับปี 2561ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ต่อเพชรลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบมาจากการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อ ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ผู้นำเข้าลดการนำเข้าเพชรลง และการแข่งขันของเพชรสังเคราะห์ (lab-grown diamonds) ซึ่งผู้บริโภคหันมานิยมซื้อเพชร-สังเคราะห์* มากขึ้น รวมถึงรสนิยมของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอีกทั้งคู่แต่งงานที่ลดจำนวนลง ทำให้มีการซื้อเครื่องประดับเพชรเพื่อใช้ในงานแต่งงานลดลง และผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าแฟชั่นซึ่งมีราคาถูกกว่ามากขึ้น เหล่านี้จะยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดค้าเพชรโลกให้ซบเซาต่อไป

ดังนั้น ตลาดค้าเพชรโลกในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนให้เห็นจากสถิติของ Global Trade Atlas ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าการค้าเพชรโลกอยู่ที่ราว 106,754 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 12.70 โดยประเทศผู้ส่งออก 5 อันดับแรกคือ อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม และอิสราเอล ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นผู้ส่งออกในอันดับที่ 13 ซึ่งล้วนมีมูลค่าส่งออกลดลงทั้งสิ้น ทางด้านการนำเข้านั้น ประเทศผู้นำเข้าใน 5 อันดับแรกได้แก่ อินเดีย สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง เบลเยียม และจีน ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นผู้นำเข้าในอันดับที่ 9 ซึ่งมูลค่านำเข้าของประเทศเหล่านี้ก็ล้วนหดตัวลงเช่นกัน  

นอกจากผู้ประกอบการจะต้องติดตามปัจจัยที่อาจบั่นทอนการส่งออกเพชรแล้ว ยังต้องติดตามมาตรการต่างๆ จากประเทศคู่ค้าและผู้บริโภคสำคัญของโลกด้วยเพื่อจะได้ปรับตัวปรับกลยุทธ์ธุรกิจได้ทันท่วงที อาทิ สหรัฐอเมริกาได้ประกาศห้ามค้าเพชรก้อน/เพชรที่ผ่านการตัดจากเหมือง Marangeของประเทศซิมบับเว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพราะมีหลักฐานปรากฎว่ามีการบังคับใช้แรงงานในเหมืองแห่งนี้ (สหรัฐอเมริกามีกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าที่มีการบังคับใช้แรงงาน) เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง: 

1.De Beers, Alrosa Sales Both Pacing $1B+ Behind Last Year (4 October, 2019). https://www.nationaljeweler.com

2.US bans trade in rough diamonds from Zimbabwe (3 October, 2019). https://www.businesslive.co.za

 

*ข้อมูลเพิ่มเติม

1) ในปี 2561 CIBJO ได้จัดตั้งคณะทำงาน Laboratory- Grown Diamond Working Group เพื่อกำหนดหลักการทำงาน มาตรฐาน และคำนิยาม เพื่อให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจในการซื้อเพชร-สังเคราะห์ อันนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้ออย่างมีเหตุผล

2) บริษัทเหมืองเพชรรายใหญ่ของโลกอย่าง De Beers เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาด lab-grown diamonds ในปี 2561 ซึ่งกำหนดราคาเพชรต่อกะรัตที่แน่นอน ในขณะที่ราคาเพชรแท้ผันผวนตามปัจจัยต่างๆ

3) จำนวนเพชรสังเคราะห์ที่ออกมาในท้องตลาดจำนวนมาก ทำให้มีราคาต่ำกว่าเพชรแท้หลายเปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันซึ่งมีผลกระทบกดดันราคาเพชรแท้เป็นอย่างมาก

4) จำนวนผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์ที่เข้ามาแข่งขันในตลาดเพชรมากขึ้น ผลักดันให้ราคาเพชรสังเคราะห์ลดลงมาก โดยราคาลดลงถึงร้อยละ 20 สำหรับผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์รายใหญ่ของโลกคือ อินเดีย และจีน

5) ในปัจจุบันมีคำกล่าวอ้างของผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์ว่าเพชรสังเคราะห์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืน  รวมถึงถูกต้องตามจริยธรรมมากกว่าเพชรที่ขุดจากเหมือง ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เพราะยังไม่มีข้อมูลของการผลิตของทั้งสองแบบอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ ทั้งเพชรสังเคราะห์และเพชรแท้ ต่างก็ต้องใช้พลังงานในการผลิตมหาศาล อย่างไรก็ดี เหมืองเพชรแท้ในปัจจุบันมักถูกควบคุมการผลิตอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล และมีมาตรการ Kimberley Process ฉะนั้น คำกล่าวอ้างดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นความจริงนัก

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ

 

ภาวะอัญมณี, อุตสาหกรรม, อัญมณีและเครื่องประดับ, GIT, เครื่องประดับ, เพชร, ปัจจัย