Sharing Economy ชุบชีวิตใหม่ให้ธุรกิจเครื่องประดับ
ยุคดิจิทัลก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มากมาย รวมถึงระบบที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน’ (Sharing Economy) นอกจากนี้ ความสำเร็จของ Uber และ Airbnb ในเวทีธุรกิจสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างมหาศาล การที่สินค้า pre-owned ทั้งเครื่องประดับและนาฬิการุ่งเรืองอย่างมากในตลาดเครื่องประดับเอเชียในระยะไม่กี่ปีนี้
ทำให้บริษัทผู้นำเครื่องประดับกลับมาใช้ใหม่จากยุโรปและสหรัฐอเมริกาหันมาเริ่มทำธุรกิจในฮ่องกง และผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องประดับเจ้าถิ่นเองก็กำลังเข้ามาในตลาดนี้โดยตั้งแพลตฟอร์มธุรกิจที่ยึดหลักความคิดว่าด้วยการแบ่งปันและนำกลับมาใช้ใหม่
การนำเครื่องประดับกลับมาใช้ใหม่เคยมีนัยยะในเชิงลบ แต่ด้วยกระแสความใส่ใจเรื่องความยั่งยืนที่กำลังมาแรงในตลาดโลกยุคปัจจุบัน การขายเครื่องประดับมือสองจึงกลายเป็นที่นิยมขึ้นมาก
บริษัทที่กำลังทำกำไรจากกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้คือบริษัทผู้นำเครื่องประดับกลับมาใช้ใหม่อย่าง WP Diamonds
บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2012 ในนิวยอร์ก โดยมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฮ่องกง และเป็นส่วนหนึ่งของ White Pine Trading บริษัทระดับนานาชาติผู้นำเพชรและเครื่องประดับกลับมาใช้ใหม่
Andrew Brown ประธานของ WP Diamonds กล่าวว่า เป้าหมายของบริษัทคือการเป็นผู้ซื้อเพชร เครื่องประดับ และนาฬิกาหรูรีไซเคิลออนไลน์ชั้นนำระดับโลก
นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า ก่อนนี้ชาวเอเชียซื้อเพชรคุณภาพสูง ทว่านานไปก็หันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าเช่นเดียวกับชาวอเมริกัน นอกจากนี้ เขายังเสริมอีกว่า “ทุกคนต่างก็รักแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Tiffany&Co., Cartier และ Van Cleef & Arpels มาตลอด แล้วก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนไป สินค้าของแบรนด์เหล่านี้มีสนนราคา
ต่ำกว่า 30,000 เหรีญสหรัฐ ขณะที่ราคาเฉลี่ยของเราอยู่ที่ 5,000 เหรียญสหรัฐ”
ตลาดสินค้า pre-owned ในส่วนเครื่องประดับนั้นยังคงเติบโตเรื่อยมา Brown มองเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการครอบครองเป็นเจ้าของไปสู่การซื้อสินค้ามือสองหรือเช่าเครื่องประดับ โดยเขาอธิบายว่า“Rent the Runway, Airbnb และ ZipCar เป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยม ตอนนี้คนเราซื้อสินค้าด้วยความคิดที่จะใช้งานแค่ระยะหนึ่ง แล้วค่อยขายต่อเพื่อนำเงินไปซื้อชิ้นอื่น”
เขาเสริมอีกว่าการซื้อและขายเครื่องประดับมือสองแบบนี้ได้รับการ “ล้างมลทิน” เนื่องจากมีผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มองหาคุณค่าและข้อเสนอที่น่าพอใจ ด้วยความคิดใน “การแลกเปลี่ยนสินค้าให้ได้เร็วที่สุด” ผู้บริโภคจึงพากันจัดการสะสางข้าวของในกล่องเก็บเครื่องประดับของตัวเองเพื่อตอบสนองการใช้สอยที่แท้จริง
Brown ตั้งข้อสังเกตว่า “ทำไมจะต้องยึดติดกับของมีค่าที่คุณไม่ได้สวมใส่อีกต่อไปด้วยล่ะ บรรดาผู้บริโภคที่ฉลาดคอยตั้งคำถามแบบนี้เพื่อตัดสินใจตามการใช้งานจริง ตลาดเครื่องประดับมือสองมีส่วนที่ยากคือ กระบวนการตรวจสอบว่าสินค้าเป็นของแท้หรือไม่ เพราะมีนาฬิกาและเครื่องประดับดีไซเนอร์แบรนด์ปลอมจำนวนมหาศาลอยู่ในตลาด เราจึงได้ทุ่มทุนอย่างหนักในการสรรหาทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเพชร เครื่องประดับ และนาฬิกา”
WP Diamonds อ้างว่ามีการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย และกล่าวว่าบริษัทกำลังเสริมความแข็งแกร่งให้กิจการในจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งจะเปิดสำนักงานในโตเกียวในปีหน้าอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อปีก่อน ยังมีแพลตฟอร์มใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจาก “เศรฐกิจแบบแบ่งปัน” และ “big data” โดยผู้ซื้อจะมีเครื่องประดับชิ้นใหม่ได้บ่อยครั้งยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าใหม่จริงๆ
Jewellery-Box ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2018 โดย Dr. Terence Shih จาก
Dai Sun Jewellery Co. Ltd. (DSJ) ในฮ่องกง เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถซื้อและแลกเปลี่ยนเครื่องประดับได้ไม่จำกัด
ที่มา: https://www.dsj.com.hk/
Shih ยอมรับว่า นโยบายลักษณะนี้ดึงดูดนักต้มตุ๋น เพราะเครื่องประดับเป็นสินค้าราคาแพง อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับกว่าสองทศววรษ ทีมงานมืออาชีพ และสต็อกที่มีการดูแลจัดการสินค้าเป็นอย่างดี DSJ จึงสามารถผ่านพ้นปัญหาดังกล่าวมาได้ นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องประดับกำลังประสบปัญหาติดขัดในการเติบโต และผู้บริโภคเองก็กำลังลำบากใจ เพราะอยากซื้อสินค้าใหม่แต่ไม่สามารถกำจัดชิ้นเก่าที่ล้าสมัยแล้วได้ จุดนี้ทำให้ Jewellery-Box เกิดขึ้นมา
เขาชี้ว่า “คุณต้องกล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ ถ้าอยากจะเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมแบบเดิมๆ Jewellery-Box ทำให้ผู้ซื้อสามารถเจรจาโดยตรงกับผู้ผลิตได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง สินค้าอย่างรถยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นหลีกเลี่ยงการเสื่อมราคาไปไม่พ้น เพราะชำรุดไปตามกาลเวลา เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับเครื่องประดับ ไม่ว่าจะสวมไปกี่ร้อยครั้งแหวนเพชร 3 กะรัตก็มีน้ำหนักเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าเองก็ไม่ลดลง และอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป”
โมเดลใหม่
Shih เชื่อว่าอนาคตของอุตสาหกรรมนี้อยู่ในมือของกลุ่มคนที่เกิดหลังยุคทศวรรษปี ค.ศ. 1990 ด้วยเหตุนี้ทีมงานของ Jewellery-Box จึงประกอบขึ้นจากคนกลุ่มนี้ “มีแต่พวกเขาที่รู้ว่าจริงๆ แล้วทุกวันนี้ผู้บริโภคต้องการอะไร” เขากล่าวว่า Jewellery-Box App ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกเครื่องประดับที่ต้องการจากสินค้าหลายพันชิ้นได้ด้วยการคลิกเพียงไม่กี่ครั้ง แลกเปลี่ยนสินค้าที่มีราคาเท่ากัน หรือจ่ายส่วนต่างเพื่อซื้อชิ้นที่ราคาสูงกว่า เครื่องประดับทุกชิ้นจะเข้าและออกจากคลังสินค้าของบริษัทโดยผ่านมาตรการควบคุมคุณภาพที่เคร่งครัดรัดกุม
โมเดลธุรกิจใหม่เช่นนี้ได้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในอุตสาหกรรม โดย Shih กล่าวว่า “ระหว่างการจัดงานแสดงสินค้าในฮ่องกงเมื่อปีก่อน มีผู้ประกอบการเครื่องประดับจากหนิงปัว
เซี่ยเหมิน และฉงชิ่ง เข้ามาติดต่อร่วมธุรกิจกับ Jewellery-Box ตอนนี้เรากำลังวางแผนเปิด “experience store” ขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการจากเมืองต่างๆ ของจีนประมาณ 20 เมือง”
สินค้าวินเทจไม่เคยตกยุค
ผู้ซื้อวัยหนุ่มสาวที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงกลายเป็นตลาดเป้าหมายของธุรกิจเครื่องประดับมาระยะหนึ่งแล้ว และความโปรดปรานของมีเอกลักษณ์ได้ทำให้สินค้าวินเทจกลายเป็นสิ่งเก๋ไก๋
บริษัทจัดการประมูลนานาชาติเองก็ได้ตอบรับกระแสนิยมนี้ โดยนำเครื่องประดับวินเทจระดับ
พรีเมี่ยมจากแบรนด์ชั้นสูงออกประมูล โดย“Beyond Boundaries: Magnificent Jewels from a European Collection” ซึ่ง Christie’s จัดขึ้นในเจนีวาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2017 นั้น เครื่องประดับวินเทจทั้ง 110 ชิ้นล้วนได้รับการประมูลไปจนหมดด้วยราคาสูงกว่าราคาประเมิน ทำยอดขายได้สูงถึง 12.45 ล้านฟรังก์สวิส (12.41 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ไม่กี่ปีมานี้ สถาบันการประมูลและผู้ค้าออนไลน์ได้มีส่วนช่วยสร้างความนิยมเครื่องประดับวินเทจ ซึ่งเป็นสินค้าที่ประเมินมูลค่าจากความงดงามทางศิลปะและแหล่งที่มา ผู้แทนจาก Aaron Faber Gallery บริษัทผู้เชี่ยวชาญสินค้าวินเทจ ได้เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า “ลูกค้าของเราจำนวนไม่น้อยชอบความตื่นเต้นที่ได้ตามล่าหาสมบัติ และมักจะซื้อสินค้าโดยพิจารณาจากเรื่องราวหรือประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับแต่ละชิ้น”
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กันยายน 2562
--------------------------------------------------------------
ที่มา: “Breathing new life into jewellery.” by Sze Man Young. JNA. (March/April 2019: pp. 31-33).
*** กรุณาอ้างอิง “ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ทุกครั้ง เมื่อนำบทความนี้ไปเผยแพร่ต่อ