หน้าแรก / THTI Activities / สสว.เสริมแกร่งผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอทุกระดับ ดัน 4 โครงการเดินหน้าฝ่าโควิด-19 มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ยกระดับรองรับวิถีชีวิตแบบใหม่ New normal

สสว.เสริมแกร่งผู้ประกอบการธุรกิจสิ่งทอทุกระดับ ดัน 4 โครงการเดินหน้าฝ่าโควิด-19 มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ยกระดับรองรับวิถีชีวิตแบบใหม่ New normal

04.06.2563 | จำนวนผู้เข้าชม 1276

สสว. ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่าน 4 โครงการสำคัญ เดินหน้าฝ่าวิกฤตโควิด-19 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พัฒนา ผู้ประกอบการใหม่ สร้างเครือข่าย สร้างแบรนด์ พร้อมดันสินค้า SME สู่มาตรฐานสากล เพื่อรองรับความต้องการในวิถีชีวิตใหม่ หรือ New normal

      นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นฐานราก สสว. จึงได้เร่งออกมาตรการเยียวยา พร้อมดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SME ทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งกลุ่มสิ่งทอแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ GDP ของประเทศ โดยประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี สสว.จึงร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เร่งพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ผ่าน 4 โครงการสำคัญ ดังนี้
       1.โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level)เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกิจระดับเติบโต โครงการนี้มุ่งเน้นเสริมสร้างสมรรถนะผู้ประกอบการเชิงลึก เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ ตรวจวิเคราะห์ ทดสอบมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์สิ่งทอเบื้องต้น เตรียมความพร้อมในการยื่นขอการรับรองมาตรฐานต่างๆ รวมถึงช่วยส่งเสริมและสนับสนุนด้านการตลาด
     2. โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early-Stage)เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มกิจการ หรือประชาชนทั่วไปที่สนใจอยากมีกิจการของตนเอง ให้สามารถพัฒนาแนวคิดในการเริ่มต้นธุรกิจ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก สู่การเขียนแผนธุรกิจ
      3.โครงการพันธมิตรสร้างแบรนด์และธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในการแข่งขัน(Born Strong)เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกิจในระยะเริ่มต้นและต้องการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ผ่านการสร้างตราสินค้าใหม่หรือปรับรูปลักษณ์ เสริมแนวคิด ดีไซน์ พร้อมทั้งช่วยวินิจฉัยธุรกิจและผลิตภัณฑ์ เพื่อเชื่อมโยงการผลิตสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ หรือ ตราสินค้าใหม่
     4.กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายคลัสเตอร์ BCG Fashion Lifestyle ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย เอสเอ็มอี ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดจากการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เกิดเป็นกลุ่มเครือข่าย 5 กลุ่มคลัสเตอร์ จากอุตสาหกรรมที่มีโอกาสทางการตลาดสูง ประกอบไปด้วย คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและไลฟ์สไตล์สำหรับผู้สูงอายุ คลัสเตอร์สิ่งทอการกีฬาและนันทนาการ คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง คลัสเตอร์ชุดเครื่องแต่งกายและผลิตภัณฑ์สำหรับกิจกรรมสันทนาการแต่งตัวเลียนแบบตัวละคร คลัสเตอร์สิ่งทอหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน พร้อมเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
     โดยการดำเนินโครงการทั้ง 4 จะช่วยพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในหลากหลายกลุ่ม ครอบคลุมหลายสาขาในอุตสาหกรรม ให้สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นภายหลังการระบาดของโรค  รองรับการดำเนินธุรกิจและความต้องการของผู้บริโภคตามวิถีชีวิตใหม่ หรือ New normal 
     ผอ.สสว.เผยอีกว่าจากตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานช่วงเดือน เมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมา สสว.ได้สนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการตรวจวิเคราะห์และขอการรับรองฉลากเครื่องหมายคุณภาพ Smart Fabric สำหรับหน้ากากผ้า ชนิดใช้ซ้ำ และซักได้ โดยทำงานควบคู่กับสถาบันฯ สิ่งทอ ภายใต้การแข่งขันของเวลาและความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้น จนประสบความสำเร็จสามารถพัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 5 กิจการ นำร่องรับใบรับรองฉลาก ได้แก่ 1. บริษัท เช็พเอิด จำกัด 2. บริษัท แอลฟ่าโปรเซสซิ่ง จำกัด 3. บริษัท พาลาดินเวิร์คแวร์ จำกัด4. บริษัท อจินไตย จำกัด  5. บริษัท อินเนอซิส จำกัด
ทั้งนี้ คุณสมบัติของหน้ากากผ้าที่ได้รับฉลาก Smart Fabric ต้องประกอบไปด้วย (1) สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก 0.3 ไมครอน ไม่น้อยกว่า 65%(2) การซึมผ่านได้ของอากาศมีค่า 1<X<50ลบ.ซม./ตร.ซม./วินาที (3) ความคงทนของสีต่อการซักอยู่ระดับ 3 - ปานกลาง (4) คุณภาพของสีสารเคมีที่ใช้ย้อมต้องปลอดภัย (5) คุณภาพผ้าต้องปลอดภัยไม่มีสารก่อมะเร็งและอาจจะเพิ่มคุณสมบัติพิเศษด้านการสะท้อนน้ำเพื่อสร้างมั่นใจในการสวมใส่
 “สสว.เล็งเห็นถึงโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ จากความต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการทดสอบผลิตภัณฑ์ และขอการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฉลากคุณภาพสิ่งทอ (SmartFabric)สำหรับหน้ากากผ้า หรือชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment)ฉลาก CoolMode หรือเสื้อผ้าประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 มาตรฐานผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้านความปลอดภัย (S-Mark)มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เป็นต้น เพื่อต่อยอดในการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขัน ให้สามารถฝ่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น” นายวีระพงศ์กล่าว
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : OSMEP หรือ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5495 – 9 เว็บไซต์ : www.thaitextile.orgและFacebook : Thailand Textile Institute

สิ่งทอ,สิ่งทอ,สสว,สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม,THTI,หน้ากากผ้า,smartfabric