สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหนุนสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอลงพื้นที่เพิ่มองค์ความรู้ คิด ผลิต ขาย แก่ผู้ประกอบการจังหวัดสกลนคร ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงสู่ศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะที่ 2)
24 ม.ค. 63 (จังหวัดสกลนคร) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าหนุน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ลงพื้นที่เพิ่มองค์ความรู้ คิด ผลิต ขาย ต่อเนื่อง ณ จังหวัดสกลนคร เพื่ออบรมแก่ผู้ประกอบการสิ่งทอและไลฟ์สไตล์ในจังหวัดดังกล่าว โดยดำเนินงานภายใต้กิจกรรมการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องแต่งกาย ให้ได้รับการพัฒนาเชิงลึกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงสู่ศูนย์กลางแฟชั่นระดับภูมิภาค : ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะที่ 2)
เพื่อค้นหาและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการ ให้สามารถนำจุดเด่น จากท้องถิ่น และสิ่งรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ธรรมชาติ ความศรัทธา รวมทั้งเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อนำมาสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ผสมผสานนวัตกรรม ตอบโจทย์แนวโน้มตลาดของยุคดิจิทัล ผ่านการอบรมในหัวข้อ “การออกแบบสิ่งทอเชิงสร้างสรรค์บนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม” พร้อมสอน “การออกแบบผ้าไหมลวดลายใหม่ทำอย่างไรให้สวยงาม” โดย อ.สุภาวินี จรุงเกียรติกุล ดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ที่นำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาออกแบบได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังได้อบรมเรื่อง “แนวโน้มตลาด แฟชั่นและสิ่งทอ 2020 คิด ผลิต ขาย” โดย คุณวิวัฒน์ หิรัญพฤกษ์ ที่ปรึกษาด้านการตลาดแฟชั่น สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมทั้งอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอและรักษาสิ่งแวดล้อม” โดย ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยสิ่งทอ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
สำหรับกิจกรรมการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องแต่งกาย ให้ได้รับการพัฒนาเชิงลึกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน นั้น ได้จัดขึ้นครั้งแรก ณ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ครั้งที่ 2 จังหวัดสุรินทร์เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 และ จังหวัดสกลนคร ในวันที่ 24 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ถือเป็นการอบรมครั้งสุดท้ายของกิจกรรมดังกล่าว โดยสรุปรวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ร่วมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการมากกว่า 600 ราย คาดผู้ประกอบการจะสามารถนำสิ่งที่ได้ในห้องเรียนไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ผลิตภัณฑ์ได้ในอนาคต