จากกล้าไม้พระราชทานสู่งานวิจัย"ลายดอกปีบ"
ลำพูนมีผ้ายกดอก ส่วนอุตรดิตถ์มีผ้าจก ขณะพิษณุโลกมีผ้าทอ “ลายดอกปีบ” เป็นอัตลักษณ์ที่ปัจจุบันกลายเป็นลายผ้าประจำจังหวัดและเป็นความภูมิใจของชาวจังหวัดพิษณุโลกที่ได้นำลายดอกปีบมาใส่ไว้ในลายผ้า
เนื่องจาก “ปีบ” เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิษณุโลก โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในขณะนั้นได้รับพระราชทาน “กล้าไม้ปีบ” จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในวันรณรงค์โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50
จากนั้นจังหวัดพิษณุโลกรณรงค์ให้มีการทอผ้าลวดลายประจำจังหวัดคือผ้าลายดอกปีบในการประกวดผ้าพื้นเมืองพิษณุโลก ประเภทผ้ามัดหมี่ ในงานวันสตรีสากล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2543 จากนั้นผ้าทอลวดลายดอกปีบ จึงเป็นนับผ้าทอเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลกมาจวบจนปัจจุบัน
“อย่างลำพูนเขาก็มีผ้ายกดอกลำพูน อุตรดิตถ์ก็มีผ้าจกของอุตรดิตถ์ แต่ละจังหวัดเขามีชัดเจน พิษณุโลกเราก็ได้สร้างอัตลักษณ์ของจังหวัดขึ้นมาเป็นผ้าทอลายดอกปีบ”
กีรติญา สอนเนย อาจารย์ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม อ.เมือง จ.พิษณุโลกและหัวหน้าทีมวิจัยโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน เผย"คมชัดลึก"ระหว่างงานแถลงข่าวงานมหกรรมวิจัย 2562 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับหน่วยงานในเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ถึงผ้าทอที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลก โดยระบุว่า
ที่ผ่านมามีกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในจังหวัดผลิตผ้าทอลายดอกปีบเพื่อนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า แต่ยังไม่มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้มีความหลากหลาย จึงมีแนวคิดที่จะต่อยอดผ้าทอลายดอกปีบ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช.ในการประดิษฐ์คิดค้นจากผ้าทอลายดอกปีบธรรมดามาเป็นผลิตภัณฑ์ในหลากหลายรูปแบบ พร้อมตกแต่งด้วยวัสดุต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย
“ปัจจุบันก็รณรงค์ในจังหวัดโดยรับนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเสื้อ ความหลากหลายในการใช้งานก็จะน้อย พอใช้งานน้อยการทอผ้าของกลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เขาทำกันอยู่ก็เริ่มลดน้อยลง ทางเราก็มองว่าจะเอามาทำเป็นผลิตภัณฑ์อะไรดีที่คนใช้ประโยชน์มากขึ้นและให้หลากหลาย ทุกช่วงวัยได้เข้าถึง”
นักวิจัยคนเดิมเผยต่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นเพียงการออกแบบที่เป็นต้นแบบเพื่อให้กลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้นำไปตัดเย็บ โดยจะไม่เน้นกระบวนการที่ซับซ้อนจนเกินไป แต่จะเน้นการใช้ประโยชน์มากกว่าผ้าเต็มผืน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบนั้นจะมีกระเป๋ารูปแบบต่างๆ อย่างกระเป๋าใส่เครื่องสำอางสุภาพสตรี ส่วนเศษผ้าที่เหลือใช้จะนำมาทำดอกไม้ โดยผลิตภัณฑ์ทุกอย่างจะเป็นลายดอกปีบ โดยใช้ผ้าฝ้ายและไหมมาทำ
“ทางคหกรรมทำแค่ต้นแบบให้กลุ่มวิสาหกิจตัดเย็บเสื้อผ้าไปผลิตที่ตอนแรกทออย่างเดียว เช่นกลุ่มทอผ้าบางกระทุ่ม คือเขาทำของเขาอยู่แล้ว แต่เขาไม่รู้หรอกว่าบางทีเศษผ้าเหลือใช้เอามาทำตุ๊กตาก็ได้ เอามาทำดอกไม้ก็ได้ เราก็เอาไปส่งเสริม คนทอก็มีกำลังใจทอมากขึ้น ก้าวต่อไปก็ใส่นวัตกรรมลงไป เช่นใส่กลิ่นหอมดอกปีบหรือไม่ก็ใช้วัสดุกันน้ำ อันนี้ในส่วนเบื้องต้นทำแค่นี้ก่อน หรือสนใจดูกระบวนวิธีการผลิตโทร.09-5623-6815” กีรติญาย้ำทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามงานวิจัยผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้าทอลายดอกปีบนี้เป็นโครงการวิจัยผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มาจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ วช. ได้สนับสนุนผ่านทางจังหวัดที่เน้นผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยจังหวัดพิษณุโลกนั้นมีด้วยกัน 4 ด้านประกอบด้วย ภูมิปัญญาการทอผ้า ภุมิปัญญาเซรามิกบางแก้ว ภูมิปัญญาด้านอาหาร และภูมิปัญญาจักสานวัดโบสถ์
สำหรับผู้สนใจกระเป๋าผ้าทอลายดอกปีบสามารถเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตได้ในงาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2562” หรือ Thailand Research Expo 2019 ที่ วช.ร่วมกับหน่วยงานในเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
กว่าจะมาเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก
หากย้อนไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในขณะนั้นได้รับพระราชทาน “กล้าไม้ปีบ” จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในวันรณรงค์โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ไม้ปีบจึงถือเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิษณุโลก และชาวพิษณุโลก ตั้งแต่บัดนั้นมา
เมื่อปี 2545 วรรณา ไกรสิทธิพงศ์ ขณะรั้งตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี จังหวัดพิษณุโลก ต้องการให้มีผ้าทอประจำจังหวัด จึงมีการรณรงค์ให้ทอผ้าลวดลายประจำจังหวัดส่งเข้าประกวด ผลปรากฏว่า ผ้ามัดหมี่ลายดอกปีบมีความงดงามอ่อนช้อย จึงได้รับรางวัลชนะเลิศ
ป้าเทา นันทแพทย์ ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ในขณะนั้น เจ้าของผ้ามัดหมี่ลายดอกปีบ เป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดผ้าพื้นเมืองพิษณุโลก ประเภทผ้ามัดหมี่ในการประกวดครั้งนั้น โดยป้าเทาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“ใช้เวลาทอหลายเดือน โดยมีอาจารย์จากโรงเรียนม่วงหอมเป็นผู้ออกแบบลายให้ หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศก็ได้รับคำสั่งจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช ให้ทอผ้าลายดอกปีบสีม่วง จำนวน 500 เมตร จากนั้นก็มีผู้สั่งทอเรื่อยมา"
จากนั้นกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอมได้มีการพัฒนารูปแบบของดอกปีบอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเป็นลวดลายดอกปีบขนาดเล็กพร้อมก้านใบที่ได้รับความนิยมในยุคนั้น พร้อมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น หมอน กระเป๋า
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผ้าทอลายดอกปีบ ผ้าทอประจำจังหวัดพิษณุโลกจวบจนปัจจุบัน
“ปีบ”สรรพคุณแก้อาการหอบหืด
ปีบ หรือ กาสะลอง ในภาษาไทยถิ่นเหนือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Millingtonia hortensis เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 10-20 เมตร มีดอกรูปแตรสีขาวหอมอ่อนๆ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ปีบยังมีชื่อพื้นเมืองอื่นอีกคือ เต็กตองโพ่
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีเรือนยอดเป็นพุ่มทรงกระบอก กิ่งก้านมักจะย้อยลง เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่องลึกตามยาวลำต้นอย่างไม่เป็นระเบียบ ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น เรียงเวียน ช่อแขนงด้านข้างมี 3-5 คู่ ปลายคี่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยแขนงละ 2-4 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่หรือรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-8 ซม. ปลายแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักมนหรือเว้าเป็นคลื่นเล็กน้อย
ดอกมีสีขาวหรือชมพู มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกซ้อนตามปลายกิ่ง ช่อดอกขนาดใหญ่ ยาว 10-35 ซม. มีขน กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยก 5 แฉก ปลายมนกว้างม้วนลง เป็นหลอดยาวปลาย 4 แฉก มี 1 กลีบที่ปลายเป็น 2 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 3.5-4 ซม. ผลแห้งแตก เป็นฝักแบนและตรง สีน้ำตาล หัวท้ายแหลม กว้าง 1.5-2.3 ซม. ยาว 25-30 ซม. เมล็ดแบนมีปีกบาง
สรรพคุณทางยา รักษาริดสีดวงจมูก และมีสาร hispidulin มีฤทธิ์ในการขยายหลอดลมรักษาอาการหอบหืด
ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/agricultural/367950