หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / ‘ECOALF’ แบรนด์แฟชันที่นำขยะจากมหาสมุทรมาสร้างมูลค่าใหม่

‘ECOALF’ แบรนด์แฟชันที่นำขยะจากมหาสมุทรมาสร้างมูลค่าใหม่

กลับหน้าหลัก
22.01.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 4355

 

IN FOCUS

ECOALF เป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่นำแนวทางการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนมาใช้ ด้วยการนำขยะทางทะเลมาแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้า อาทิ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า

ฮาเวียร์ โกเยเนเซ่ คือเจ้าของแบรนด์แฟชั่นในสเปนที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นมากว่า 20 ปี ความกังวลที่มีต่อขยะที่เพิ่มขึ้น ทำให้เขาก่อตั้งโครงการ ‘Upcycling the Oceans’ ที่บ้านเกิด และจับมือกับอีกสององค์กรในไทยเพื่อเริ่มต้นโครงการเก็บกวาดขยะในท้องทะเลไทย

“เรื่องของทะเลจะสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าเราต้องเริ่มทำอะไรกันเสียที ไม่ใช่กล่าวโทษและมีแต่พูดอย่างเดียว” คือหนึ่งในประโยคชวนคิดของฮาเวียร์

 

ในอนาคต ทะเลอาจมีขยะมากกว่าปลา และวันหนึ่งข้างหน้า ชาวประมงอาจต้องเลิกอาชีพหาปลาแล้วรับจ้างเก็บขยะแทน-เราคุยเรื่องนี้กันเหมือนขำ ระหว่างที่ฮาเวียร์ โกเยเนเซ่ เตรียมตัวให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ถึงประเด็นความยั่งยืนในธุรกิจแฟชันที่เขากำลังทำอยู่ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าขำเลยก็ตาม

วงจรธุรกิจของฮาเวียร์คือ โรงงานแปรรูปวัสดุจากขยะ จะรับซื้อขยะในท้องทะเลจากชาวประมงในสเปน เพื่อเข้ากระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก เส้นด้าย แล้วนำไปตัดเย็บเป็นสินค้าแฟชันในแบรนด์ ECOALF ของเขา โดยที่เราไม่มีทางดูออกด้วยตาว่า ต้นทางของมัน เคยเป็นขยะมาก่อน

ฮาเวียร์ โกเยเนเซ่ เป็นหนุ่มสเปนที่ฝังตัวอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชันมากกว่า 20 ปี และมองเห็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองในการผลิตสินค้าแฟชันที่หมุนเร็วไปตามกระแส ความไม่สบายใจต่อจำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น ทำให้เขาก่อตั้งแบรนด์ ECOALF ขึ้นในปี 2008 ด้วยแนวคิดที่จะลดจำนวนขยะ นำขยะมารีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่ ผลิตเป็นสินค้าแฟชันที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนทั่วไป อาทิ แจ็คเก็ต ชุดว่ายน้ำ เสื้อยืด กระเป๋า รองเท้า และก่อตั้งมูลนิธิ ECOALF เพื่อดำเนินโครงการ ‘Upcycling the Oceans’ ที่สเปน บ้านเกิดของเขาเป็นที่แรก

เมื่อปลายปี 2016 ฮาเวียร์ได้รับเชิญมาบรรยายในงาน Sustainable Brands Bangkok 2016 และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง ECOALF การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ ปตท.เคมิคอล เพื่อทำโครงการ ‘Upcycling the Oceans’ ในประเทศไทย นำขยะออกจากท้องทะเลและสร้างมูลค่าใหม่ให้กับขยะเหล่านั้นอีกครั้ง

เราคุยกับฮาเวียร์ ในโอกาสที่เขามาร่วมงาน Sustainable Brands Bangkok 2017 เขายังนำสินค้า ECOALF มาจัดแสดงเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นกันด้วย

อะไรทำให้คุณสนใจนำแนวทางของการพัฒนาแบรนด์ที่ยั่งยืนมาใช้กับสินค้าแฟชัน

ผมอยากทำเรื่องความยั่งยืนอยู่แล้ว และด้วยความรู้ที่มีอยู่ก็เป็นความรู้เรื่องแฟชัน ดังนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผมถนัด ผมคิดเริ่มหาวัสดุทดแทนมาใช้ แทนการเอาวัสดุจำพวกปิโตรเคมีที่เป็นของใหม่ จากนั้นก็พยายามหาว่า ในสเปนมีโครงการอะไร หรือมีใครทำเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง แต่โชคร้ายที่ที่สเปนไม่เหมือนอเมริกาที่มีมูลนิธิทำด้านนี้อยู่ ผมจึงตัดสินใจเริ่มโปรเจ็กต์นี้ด้วยตัวเอง ประกอบกับปีที่เริ่มต้น คือปี 2008 เป็นปีที่ลูกชายผมเกิดพอดี ผมเลยอยากให้เขาได้ภูมิใจในสิ่งที่เรากำลังทำ จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ ECOALF ซึ่งมาจากชื่อลูกชายของผมคือ Alfredo

เมื่อมองย้อนกลับไป คุณคิดว่าในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมแฟชั่น สร้างผลกระทบให้กับโลกอย่างไรบ้าง

ธุรกิจแฟชั่นสร้างผลกระทบทางลบให้กับโลกเยอะมาก โดยเฉพาะแฟชันหมุนเร็ว (Fast Fashion) ที่เน้นการซื้อในระยะเวลาอันสั้น ด้วยโมเดลของมันที่ไม่ได้ยั่งยืน และด้วยประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทุกคนซื้อแล้วทิ้ง ซื้อแล้วทิ้ง มันจะยิ่งก่อปัญหา ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้นแล้ว และตัวบริษัทของผม เน้นที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตกยุคตกสมัย

ในเมื่อขยะจากแหล่งอื่นก็มีอยู่ทั่วไป แต่ทำไมคุณถึงเลือกที่จะใช้ขยะจากทะเลมารีไซเคิลใหม่

ในทะเลมีขยะอยู่เยอะมาก มีวันหนึ่งที่ผมไปตกปลา ก็ได้เห็นว่ามีขยะติดตาข่ายของคนหาปลาขึ้นมาเยอะ ทำให้ผมเห็นความสำคัญตรงนี้ ผมว่ามนุษย์เราไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของทะเล โยนขยะลงทะเลไปโดยที่ไม่มีใครทำอะไรเรา ต่างจากขยะบนบกที่ถ้าเราทิ้งเราจะถูกปรับ

ผมทำแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องขยะที่สเปน สื่อที่นั่นค่อนข้างจะเข้มแข็งและโปร่งใส เมื่อสื่อเข้าไปสังเกตการณ์และจับปลากับชาวประมง ก็ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาว่ามีบริษัทที่นำเอาขยะจากทะเลมารีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่ นอกจากสื่อของสเปนเอง ก็ยังมีสื่อจากบีบีซี สื่อจากเยอรมนี สื่อสกายนิวส์ และหลายที่ๆ ให้ความสนใจ

“ผมว่ามนุษย์เราไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของทะเล โยนขยะลงทะเลไปโดยที่ไม่มีใครทำอะไรเรา”

ในเวลานั้นคนสเปนเองมีความตระหนักเรื่องขยะในท้องทะเลมากแค่ไหน

 

ตอนที่เริ่มต้นไม่ได้มีคนสนใจมากขนาดนั้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและผมมองเห็นก็คือ ความสนใจในเรื่องความยั่งยืนมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตอนนี้ก็มากกว่าตอนที่ผมเริ่มทำบริษัท

แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า เรื่องความยั่งยืนไม่ใช่ประเด็นหลักที่คนสนใจกัน เพราะคนยังสนใจในเรื่องปัจจัยพื้นฐานของชีวิตมากกว่า คือเรื่องงาน เรื่องเงิน ความจริงปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ก็เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น การเข้าถึงน้ำสะอาด มันก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ปัจจุบันถูกลิดรอนด้วยความไม่ยั่งยืนบางอย่าง

การเดินทางไปในหลายประเทศเพื่อดูเรื่องขยะทางทะเล คุณพบปัญหาที่แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร

ปัญหาพลาสติกทางทะเลเป็นปัญหาที่มีเหมือนกันทั่วไป ไม่ว่าจะโคลอมเบีย เม็กซิโก สเปน อินโดนีเซีย ทุกอย่างมันเกิดจากการที่เราบริโภคมากเกินไป ร่วมกับการที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัญหาเหล่านี้หนักขึ้นและเลวร้ายลงด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หมายความว่าที่ไหนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่นที่สเปน มีนักท่องเที่ยวมาเยอะ พวกเขากินแล้วก็ทิ้ง กินแล้วก็ทิ้ง ก็ทำให้มันแย่ลงไปอีก

ประชากรโลกแปดพันล้านคนในปีนี้ จะเพิ่มเป็นสิบพันล้านในปีสองพันห้าสิบ แล้วเราจะทำยังไง เวลาที่มีการประชุมใหญ่ๆ เกี่ยวกับเรื่องขยะทางทะเล เราจะได้ยินบทสรุปว่า ถึงวันหนึ่งขยะจะมีมากกว่าปลา ดังนั้นเราควรต้องเริ่มทำอะไรกันจริงจังได้แล้ว

ช่วยเล่าให้ฟังคร่าวๆ หน่อยว่า การนำขยะมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าของคุณมีกระบวนการอย่างไร

เริ่มจากชาวประมงจะเก็บขยะจากทะเล แล้วนำมาเข้าสู่กระบวนการคัดแยกประเภทขยะก่อน จากขั้นตอนนี้ก็จะมีคนจากหลายๆ บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับโพลิเมอร์ เส้นด้าย และผ้า พวกเขาจะนำขยะเหล่านี้ไปผ่านกระบวนการผลิตในโรงงาน จนได้ออกมาเป็นวัตถุดิบเพื่อนำมาตัดเย็บอีกที

ในกระบวนการแปรรูปเองก็ต้องมีเรื่องของความยั่งยืนด้วย เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับแบรนด์ ผมว่าคนที่จะผลิตวัสดุเหล่านี้ให้กับผมจะต้องมีมาตรฐานการผลิตในด้านความยั่งยืนด้วย โดยผมจะให้เรตติ้งเป็นดาว ว่าหนึ่งดาว สองดาว หรือสามดาว ใครที่มาตรฐานยังไม่ดีพอเราก็ไม่ได้ถึงกับตัดทิ้งไปเสียทีเดียว แต่จะมีการตักเตือนถ้าเขายังอยากจะทำงานกับเราอยู่

“เวลาที่มีการประชุมใหญ่ๆ เราจะได้ยินบทสรุปว่า ถึงวันหนึ่งขยะจะมีมากกว่าปลา ดังนั้นเราควรต้องเริ่มทำอะไรกันจริงจังได้แล้ว”

แล้วมูลนิธิ ECOALF ที่คุณก่อตั้งขึ้น มีส่วนสนับสนุนการทำงานของคุณอย่างไร

 

ในส่วนบริษัทก็คือธุรกิจที่ดีไซน์ ผลิตเสื้อผ้าและแอคเซสซอรีส์ต่างๆ ออกมาเป็นสินค้า แต่ตัวมูลนิธิได้รับเงินสนับสนุนจากอเมริกา ซึ่งสิ่งที่มูลนิธิทำก็จะสนับสนุนเรื่องของโครงสร้าง โดยทำงานร่วมกับชาวประมงสามพันคน และท่าเรือ สนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นกับชาวประมง นอกจากนี้ ก็จะให้ข้อมูลสาธารณะ เช่น ในงานเสวนา การให้ความรู้ และเราเปิดกว้างให้กับชาวประมงที่เก็บขยะ เมื่อเขาเก็บขยะมาได้ ก็จะนำขยะมาขาย โดยใครจะซื้อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องขายให้ของผม

ตอนนี้มีประเทศไหนบ้างที่คุณทำงานเรื่องขยะและการรีไซเคิลด้วยกัน

เพิ่งมีประเทศไทยที่สนใจจะทำงานด้วยกันกับเรา เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว ผมได้รับเชิญมาพูดเรื่องความยั่งยืนในงาน Sustainable Brands 2016 ก็มีโอกาสประสานความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ทำโครงการ ‘Upcycling the Oceans Thailand’ ขึ้นมา เพื่อเก็บขยะจากท้องทะเลไทยแล้วนำเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งตอนนี้เราเริ่มแล้วที่เสม็ด และจะเริ่มที่ภูเก็ตหลังคริสต์มาส นอกจากนั้นก็มีที่เกาะเต่า เกาะสมุย ที่น่าจะเริ่มได้ราวเดือนมีนาคม

ในประเทศไทย คุณทำงานกับชาวประมงเหมือนที่สเปนด้วยหรือไม่

 

ในเมืองไทยจะมีองค์กรที่เก็บขยะชายหาด หรือผู้รวบรวมขยะท้องถิ่นอยู่ ชาวประมงอาจจะเป็นแค่ช่องทางหนึ่ง แต่ถ้าที่สเปนจะเป็นชาวประมงร้อยเปอร์เซ็นต์ในการเก็บขยะ

ถ้ามองในแง่ของการทำธุรกิจ การชูประเด็นเรื่องความเป็นแบรนด์แฟชันที่ยั่งยืน มันเป็นช่องทางที่น่าสนใจในการขายไหม

 

แน่นอน เราทำบริษัท บริษัทเราก็มีผู้ถือหุ้น ดังนั้นเราก็ต้องสร้างกำไร ผมเชื่อว่าเราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่เจ๋งและดีในแนวทางที่แตกต่างได้ เราสามารถผลิตแล้วไม่ต้องปล่อยมลพิษสู่ลำน้ำได้ไหม หรือว่าจะผลิตด้วยการใช้วัสดุที่ได้จากการรีไซเคิล วัสดุที่ได้จากขยะ แล้วนำเอาวัสดุเหล่านั้นมาทำเป็นเส้นด้าย ฉะนั้น คนจะมองไม่ออกเลยว่า เสื้อ กระเป๋า หรือรองเท้าที่คุณเห็นทำมาจากเม็ดพลาสติก

จุดขายนี้ของแบรนด์ทำให้การทำการตลาดง่ายหรือยากกว่าเดิม

เราเน้นที่ Circular Economy และการนำมาใช้ใหม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ สินค้าของเราต้องมีคุณภาพที่มาพร้อมกับเรื่องราวที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปดูความโปร่งใสในเรื่องการผลิตได้ ถ้าตรงนั้นชัดเจน ผู้บริโภคก็จะมองเห็นเรื่องราวกับคุณภาพที่มาด้วยกัน

ส่วนดีไซน์ที่ค่อนข้างจะเรียบง่าย อันนี้เป็นคอนเซ็ปต์ของแบรนด์อยู่แล้ว เพราะเราเชื่อว่า ของที่ดีไซน์เรียบง่ายจะอยู่ได้นานและไร้กาลเวลา กี่ปีๆ ก็ยังคงไม่เชย และคงทนอยู่ด้วย

ในการผลิต ต้นทุนในกระบวนการรีไซเคิลกลับสูงกว่าการซื้อวัตถุดิบใหม่ นั่นทำให้ราคาของสินค้าของคุณสูงขึ้นด้วยไหม คุณจัดการตรงนี้อย่างไร

 

เราต้องมาดูว่าต้นทุนที่แพงมาจากไหน ปกติเวลาเราจะตัดเสื้อสักตัว เราก็ซื้อผ้ามาจากร้านทั่วไป ซึ่งผ้าเหล่านั้นก็ผลิตมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ตอนนี้ราคาถูก เมื่อต้นทุนถูก เสื้อก็ราคาถูกไปด้วย เทียบกับการที่เราต้องไปเก็บขยะมารีไซเคิลใหม่

ต้นทุนที่แฝงอยู่อีกอันหนึ่งก็คือการต้องไปคุยกับชาวประมง ซึ่งก็มีรายละเอียด เช่น ชาวประมงเก็บยังไง แยกยังไง กว่าจะมาเป็นวัสดุที่ส่งไปผลิตเป็นเส้นด้ายได้ก็ค่อนข้างซับซ้อน ก็ทำให้ต้นทุนแพงกว่า แต่เราเองก็พยายามทำราคาให้แข่งขันกับแบรนด์อื่นในตลาดได้มากที่สุด เราไม่ได้อยากจะเทียบกับแบรนด์ที่เป็นแฟชั่นหมุนเร็ว เพราะก็ไม่ได้ถูกขนาดนั้น แต่ก็เป็นราคาที่จับต้องได้ เช่น รองเท้า 80 ยูโร (3,100 บาท) ชุดว่ายน้ำ 65 ยูโร (2,500 บาท) เสื้อยืด 40 ยูโร (1,500 บาท)

ตอนนี้ ECOALF มีจำหน่ายที่ไหนบ้าง

 

ที่เปิดเป็นแฟลกชิปสโตร์จะมีสองแห่งคือที่ มาดริด ในสเปน กับ เบอร์ลิน ในเยอรมนี นอกจากนั้นก็มีวางตามห้างต่างๆ และร้านที่เป็นมัลติแบรนด์อีกประมาณ 350 แห่ง ซึ่งเกือบทั้งหมดยังอยู่ในยุโรป ที่เอเชียก็มีที่ห้างในฮ่องกง

คุณมองอนาคตของ ECOALF ในอีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้ายังไง
เราอยากให้แบรนด์เราเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสินค้าหรือไม่ว่าอะไรก็ตามสามารถผลิตในวิธีที่แตกต่างและยั่งยืนได้ อีกเรื่องที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ เรื่องของทะเลจะทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะเป็นประเด็นที่อยู่ในสายตาของคน ผมคิดว่าเราต้องเริ่มทำอะไรกันเสียที ไม่ใช่กล่าวโทษและมีแต่พูดอย่างเดียว

ภาพ : Sustainable Brands Bangkok 2017


 

FACT BOX

 

แบรนด์ที่ยั่งยืน (Sustainable Brands) คือการพัฒนาแบรนด์ให้เกิดความยั่งยืน โดยที่ธุรกิจสามารถเติบโตควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้มีหลายบริษัททั่วโลกยึดเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

งาน ‘Sustainable Brands Bangkok’ ที่จัดขึ้นทุกปี คือเวทีที่นักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการพัฒนาแบรนด์ให้เกิดความยั่งยืน จะมาร่วมบรรยาย พูดคุย และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้สนใจ โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2560

ผู้เขียน : ศิริวรรณ สิทธิกา 

ที่มา : https://themomentum.co/ecoalf-javier/

plastic, recycle, ทรัพยากร, ปิโตรเคมี, สิ่งแวดล้อมสิ่งทอ