หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / ธุรกิจคิดต่างเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมวิ่งไปทางไหนในปี 2017

ธุรกิจคิดต่างเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมวิ่งไปทางไหนในปี 2017

กลับหน้าหลัก
27.12.2560 | จำนวนผู้เข้าชม 737

HIGHLIGHTS

  • การใช้ถ่านหินหรือพลังงานฟอสซิลถือเป็นความเชยขั้นสุด เมื่อหลายบริษัทหันไปลงทุนก้อนใหญ่ให้พลังงานทางเลือก

  • บริษัทที่สร้างความยั่งยืนต้องอาศัยความ ‘คิดต่าง’ นวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ เราเริ่มเห็นนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อโลกมีบทบาทมากขึ้น เช่น กล่องปลอดความหงุดหงิดของ Amazon

  • สำหรับผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว การตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและการดูแลแรงงานในห่วงโซ่อุปทานถือเป็น ‘ความปกติ’ บริษัทมีหน้าที่แสดงความโปร่งใสและต้องตอบคำถามเหล่านี้

 

เมื่อปี 2017 กำลังจะผ่านไปในไม่กี่วันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยับตัวของธุรกิจเพื่อเข้าหาความ ‘ยั่งยืน’ หรือ Sustainability เป็นสิ่งที่เริ่มหลีกเลี่ยงได้ยากบนโลกที่ทรัพยากรร่อยหรอ อากาศเปลี่ยนแปลงเร็วจนจัดชุดใส่แทบไม่ทัน ท่ามกลางความเคร่งเครียดทางการเมืองและแรงกดดัน ไม่ว่าจะจากภาคเอ็นจีโอ แรงงาน รวมทั้งผู้บริโภคสู่ภาคธุรกิจมากขึ้น  


คอลัมน์ ‘ธุรกิจคิดต่าง’ จึงอยากรวบรวมเทรนด์จากโลกธุรกิจสากลที่ความพยายาม ‘คิดต่าง’ เพื่อโลกและสังคมที่ดีขึ้น ความคิดต่างที่ว่าอาจไม่ใช่เพียงแค่ความเก๋ไก๋หรือแค่ภาพลักษณ์ แต่คือการลดต้นทุนที่เป็นรูปธรรม การสร้างความสามารถในการแข่งขัน หรือในบางกรณีอาจเป็นกลยุทธ์เพื่อสร้างความอยู่รอดในระยะยาวของธุรกิจ

 

หลายเทรนด์ที่ไม่ได้เกิดตูมตามภายในปี 2017 ที่ผ่านมา แต่เป็นพัฒนาการที่ถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ และเราคงได้เห็นแนวคิดเหล่านี้ต่อเนื่องไปอีกหลายปี

 

พลังงานทดแทน โลกใหม่ของการใช้พลังงาน

การใช้ถ่านหินหรือพลังงานฟอสซิลถือเป็นความเชยขั้นสุด เมื่อหลายบริษัทหันไปลงทุนก้อนใหญ่ให้พลังงานทางเลือก Google ได้กลายเป็นธุรกิจที่ซื้อพลังงานทดแทนมากที่สุดในโลก ตามมาด้วย Amazon และ Microsoft

 

Google เซ็นสัญญาซื้อพลังงานลมและแสงอาทิตย์จำนวน 2.5 ล้านกิกะวัตต์จากทั่วโลก และตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 100% ในปีนี้

 

ธุรกิจคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ล้วนถูกจับตามองเรื่องการใช้พลังงานมหาศาลในการดูแลระบบและรักษาข้อมูล ส่วนธุรกิจอื่นๆ ก็ขยับตัวเรื่องนี้ไม่แพ้กัน เช่น Ikea จะสร้างพลังงานใช้เองในแต่ละสาขาโดยไม่ต้องพึ่งพิงการไฟฟ้าของแต่ละประเทศให้ได้ภายในปี 2020 และ Walmart ตั้งเป้าใช้พลังงานทางเลือก 50% ในปี 2025

 

การแสดงจุดยืนของธุรกิจที่กล้า ‘สวนทาง’ กับการตัดสินใจของรัฐ

ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ไม่เชื่อในปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เข้ารับตำแหน่ง ก็ได้ออกคำสั่งจำนวนมากที่ส่งผลลบในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องรีบสวนกระแสและประกาศนโยบายแสดงถึงจุดยืนในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Starbucks ที่ประกาศเพิ่มตำแหน่งงานให้ผู้ลี้ภัย 10,000 ตำแหน่งทั่วโลก หลังจากที่ประธานาธิบดีมีนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัย บริษัทหลายแห่ง เช่น General Electric (GE), Apple, Google, Hewlett-Packard (HP), Mars ฯลฯ ต้องออกมาประกาศตัวว่าบริษัทยังมุ่งมั่นเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (COP21) และเมื่อเร็วๆ นี้ Patagonia ประกาศฟ้องร้องประธานาธิบดีที่ยกเลิกพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นอนุสรณ์สถานของชาติในรัฐยูทาห์เพื่อธุรกิจเหมือง

 

เทคโนโลยีที่ปูทางการลดผลกระทบต่อโลกในอนาคต

เพราะบริษัทที่สร้างความยั่งยืนต้องอาศัยความ ‘คิดต่าง’ นวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ เราเริ่มเห็นนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อโลกมีบทบาทมากขึ้น เช่น กล่องปลอดความหงุดหงิด (Frustration Free Package) ของ Amazon ที่ออกแบบให้ลดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นในการแพ็กสินค้า ทำให้ขนาดกล่องเล็กลง น้ำหนักเบา ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาแกะ และรีไซเคิลได้

 

เทคโนโลยีใหม่ๆ นี้รวมไปถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะเปลี่ยนวิธีการบริโภคของเราในอนาคต เช่น Hampton Creek จากซิลิคอนแวลเลย์ ที่ประกาศส่ง ‘เนื้อปลูก’ (Lab-grown meat) สู่ตลาดในปี 2018 เนื้อปลูกที่จะมีรสชาติและโปรตีนไม่ต่างจากเนื้อสัตว์นี้เป็นความหวังในการดูแลประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นข้างหน้าเป็น 9 พันล้านคนในปี 2050 ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกอาหารลดลง และการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะวัว ที่การเรอและตดของพวกมันสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 15% ของโลก

 

คืนชีวิตให้ขยะด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

บริษัทต่างๆ เริ่มหาวิธีสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น คือการใช้ทรัพยากรแบบเป็นวงจร ไม่ใช่ที่เคยทำแบบเป็นเส้นตรง คือการใช้วัตถุดิบ ผลิต จัดจำหน่าย แล้วทิ้งเป็นขยะจำนวนมหาศาล แต่หาทางคืนชีวิตให้วัตถุในวงจรอีกครั้ง เช่น Dell ออกแบบระบบรีไซเคิลแบบปิด และใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่รีไซเคิลง่ายขึ้นเพื่อลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Levi’s ที่กำลังรวบรวมยีนส์และเสื้อผ้าเก่าเพื่อทำเป็นฉนวนตึก วัสดุกันกระแทก และไฟเบอร์ เพื่อใช้เป็นสิ่งทอต่อไป

 

แหล่งที่มาของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต้องชัดเจนและโปร่งใส

สำหรับผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว การตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและการดูแลแรงงานในห่วงโซ่อุปทานถือเป็น ‘ความปกติ’ บริษัทมีหน้าที่แสดงความโปร่งใสและต้องตอบคำถามเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบหลักในสินค้าจำนวนมาก เช่น ช็อกโกแลต มันฝรั่งทอด สบู่ และเครื่องสำอาง ที่มาของฝ้ายและการใช้แรงงานในธุรกิจแฟชั่น ที่มาของแร่ธาตุและการเอาเปรียบแรงงานที่อยู่ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงการใช้พลังงานหล่อเลี้ยงระบบเงินดิจิทัลบิตคอยน์ที่มากกว่าการใช้พลังงานของไอร์แลนด์ทั้งประเทศ ฯลฯ

 

เป้าหมาย SDGs ไม่ตามไม่ได้แล้ว

หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ออกมา 17 ข้อในปี 2016 ซึ่งภาคธุรกิจได้ร่วมร่างเป้าหมายนี้ด้วย เราเริ่มเห็นการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับประเทศที่ร่วมลงนาม (รวมทั้งไทย) ลงมาถึงระดับภาคเอกชน หลายบริษัทเริ่มนำ SDGs ไปใช้เป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน หรือเป็นโจทย์ตั้งต้นในการสร้างคุณค่าด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเพิ่ม

 

การ ‘คิดต่าง’ เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่ทำได้สำเร็จเพียงชั่วข้ามคืนหรือข้ามปี แต่ต้องอาศัยพัฒนาการที่ต่อเนื่อง เพราะหลายเรื่องต้องอาศัยเวลา และปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ธุรกิจที่ยังแสวงหากำไรสูงสุดแบบเดิมๆ โดยยังไม่ยอม ‘คิดต่าง’ ก็จะยิ่งเชยและทิ้งห่างออกไปจากธุรกิจที่ปรับตัวได้บนเส้นทางนี้ ที่อาจใช้ความยั่งยืนทำให้บริษัทอยู่รอดได้ในวันที่ทรัพยากรยิ่งจำกัด และปัญหาสังคมมีความสลับซับซ้อนกว่านี้

 

ที่มา: The Standard โดย ภัทราพร แย้มละออ -

https://thestandard.co/business-for-social-and-environment/

อ้างอิง:

1. fortune.com/2017/06/01/paris-climate-agreement-business-leaders-react/

2. www.thebalance.com/top-business-sustainability-trends-4121259

3. environment.google/projects/announcement-100/

4. thestandard.co/lifestyle-eat-and-drink-lab-grown-meat/

5. www.fastcompany.com/40503695/what-can-we-do-about-bitcoins-enormous-energy-consumption

สิ่งทอ,สิ่งทอamazon apple climate change general, electric (ge), google, hampton, creek, hewlett-packard (hp), lab-grown, meat, levi's , mars, microsoft, patagonia, starbucks, thestandard, thestandardnowandnext2018, walmart, ธุรกิจ, ธุรกิจคิดต่าง, สิ่งแวดล้อมสิ่งทอ