หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / สหภาพยุโรป (EU) วางแผนที่จะเสนอการห้ามใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคภายในปี พ.ศ. 2569

สหภาพยุโรป (EU) วางแผนที่จะเสนอการห้ามใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคภายในปี พ.ศ. 2569

กลับหน้าหลัก
07.02.2568 | จำนวนผู้เข้าชม 56

สหภาพยุโรป (EU) วางแผนที่จะเสนอการห้ามใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคภายในปี พ.ศ. 2569

ตามรายงานข่าว คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังวางแผนที่จะเสนอการห้ามใช้สาร PFAS ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "สารเคมีตลอดกาล (forever chemicals)" ในสินค้าอุปโภคบริโภค โดยอาจมีข้อยกเว้นบางประการซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยัน

The European Commission is expected to propose a ban on the use of PFAS in consumer products next year. Credit: Fabrizio Maffei/Shutterstock.

จากกรณีการห้ามใช้สาร PFAS นั้น คุณ Jessika Roswall กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ได้กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ในการสัมภาษณ์ล่าสุด ระบุว่า ‘การห้ามใช้ PFAS อาจได้รับการยกเว้นและอนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวในบางกรณีสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมที่สำคัญ และคาดว่ากระบวนการสรุปกฎระเบียบดังกล่าวจะยังไม่แล้วเสร็จจนกว่าจะถึงปีหน้า เนื่องจากจำเป็นต้องกำหนดนิยามของ "ข้อยกเว้นที่จำเป็น" ให้ชัดเจน เพื่อให้การพิจารณาดำเนินการอย่างรอบคอบ ส่งผลให้กฎระเบียบดังกล่าวมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพในระยะยาว ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปในการปกป้องสุขภาพของประชาชน และการสร้างความปลอดภัยด้านสารเคมีสำหรับผู้บริโภคในระยะยาว’

ทั้งนี้ โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า “คณะกรรมาธิการยุโรปตระหนักถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อันเนื่องมาจากกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการห้ามใช้สาร PFAS ที่อาจใช้เวลานาน ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงได้สื่อสารเจตนารมณ์ของตนอย่างชัดเจนไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชะลอการลงทุนในเทคโนโลยีหลักที่จำเป็น เช่น ในภาคพลังงานและยานยนต์ (รวมถึงแบตเตอรี่) ในภาคเคมี ในภาคการแพทย์และเภสัชกรรม และในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ต่อการเปลี่ยนแปลงคู่ขนาน (twin transition) และการรักษาความเป็นอิสระเชิงกลยุทธ์ของสหภาพยุโรป”

และระบุ (เพิ่มเติม) ว่า "คณะกรรมาธิการยุโรปจะสนับสนุนการห้ามใช้สาร PFAS ในการใช้งานสำหรับผู้บริโภค เช่น เครื่องสำอาง วัสดุสัมผัสอาหาร และเสื้อผ้ากลางแจ้ง ในกรณีที่ไม่มีทางเลือกที่เหมาะสมในแง่ของประสิทธิภาพและความปลอดภัย คณะกรรมาธิการฯ จะสนับสนุนการใช้สาร PFAS ต่อไปในการใช้งานทางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานที่สำคัญ ภายใต้เงื่อนไขที่ควบคุมอย่างเข้มงวด จนกว่าจะพบสารทดแทนที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ จะมาพร้อมกับกฎระเบียบการปล่อยและการกำจัดที่เข้มงวดเพื่อจำกัดการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และแรงจูงใจที่ชัดเจนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาสารทดแทนที่ยั่งยืน"

การห้ามใช้สาร PFAS ในสหภาพยุโรป (EU) จะส่งผลกระทบอย่างไรต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย?

สารเพอร์ฟลูออโรอัลคิลและโพลีฟลูออโรอัลคิล (PFAS) เป็นกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ที่มีจำนวนนับพันชนิด ซึ่งถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1940 และมีการนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคและกระบวนการทางอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย สารเคมีกลุ่มนี้มีคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายประการ ทำให้ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท

สาร PFAS ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง และแม้แต่อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงอย่างเครื่องบินและกังหันลม โดยเป็นที่นิยมเนื่องจากความทนทานต่ออุณหภูมิที่รุนแรงและการกัดกร่อน 

และสารเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการสะสมในระบบนิเวศ แหล่งน้ำดื่ม และภายในร่างกายมนุษย์ ทั้งนี้ จากการวิจัยยังเชื่อมโยงการสัมผัสสาร PFAS กับปัญหาสุขภาพต่าง ๆ รวมถึงความเสียหายของตับ น้ำหนักแรกเกิดลดลง และมะเร็งอัณฑะ

การสนับสนุนการห้ามใช้สาร PFAS ในวงกว้าง

เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปอย่าง เดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน สนับสนุนการห้ามใช้สาร PFAS อย่างจริงจังถึงผลกระทบเชิงลบของสาร PFAS ที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

โดยข้อเสนอที่จะจำกัดสาร PFAS ประมาณ 10,000 ชนิด ถูกนำเสนอต่อสำนักงานเคมีภัณฑ์แห่งยุโรป (ECHA) เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2566 และต่อมาได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงานในเดือนถัดไป

ทั้งนี้ หน่วยงานจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย เดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ได้คาดการณ์ว่า หากไม่มีมาตรการควบคุม สาร PFAS ประมาณ 4.4 ล้านตันจะถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมในช่วง 30 ปีข้างหน้า

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดในฝรั่งเศสเกี่ยวกับการควบคุมสาร PFAS พบว่า เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ร่างกฎหมายในฝรั่งเศสที่เสนอให้มีการห้ามผลิตภัณฑ์ที่มีสาร PFAS ได้รับการเห็นชอบ และห้ามใช้สาร PFAS ในเสื้อผ้ามีกำหนดเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป ซึ่งการกำหนดวันเริ่มต้นการห้ามใช้สาร PFAS ในเสื้อผ้าในปีดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ผลิตมีเวลาในการปรับตัวและพัฒนาสารทดแทนที่ปลอดภัย อีกทั้งจะเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 

และคณะกรรมการสภาแห่งชาติฝรั่งเศสได้แสดงการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อร่างกฎหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการจัดการกับปัญหาของสาร PFAS

สำหรับความเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกา พบว่า รายงานจาก Safer States เปิดเผยว่ามีมากกว่า 36 รัฐกำลังพิจารณาข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับสารอันตราย ซึ่งรวมถึง PFAS และพลาสติก

ขณะเดียวกันในอุตสาหกรรมแฟชั่น พบว่า แบรนด์ชั้นนำอย่าง H&M, Bestseller, Inditex และ Levi Strauss เป็นหนึ่งใน 108 หน่วยงานที่สนับสนุนการห้ามใช้สารเคมี PFAS อย่างทั่วถึงทั้งยุโรปในปี พ.ศ. 2566

และเมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา Corporate Europe Observatory ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและสนับสนุนที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับการยอมรับจากทางการเนเธอร์แลนด์ว่าเป็นสถาบันการกุศล ได้ระบุว่า แผนการของสหภาพยุโรปในการจำกัดสาร PFAS ทั่วยุโรปกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างมากจากความพยายามในการล็อบบี้ของบริษัทต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

สาร PFAS คืออะไร:

PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) เป็นกลุ่มสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมทั้งในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและเสื้อผ้า เนื่องจากคุณสมบัติในการกันน้ำ กันน้ำมัน และทนความร้อน มีความเสถียรจึงทำให้ค่อย ๆ สะสมและคงอยู่ในสภาพแวดล้อมเป็นเวลานานหลักร้อยปี

สารเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "สารเคมีตลอดกาล" เนื่องจากย่อยสลายได้ยากและสามารถสะสมในสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ได้

-------------------------------------------

Source: JustStyle.com 

Photo credit: Fabrizio Maffei/Shutterstock.

สิ่งแวดล้อมสิ่งทอ, EU, PFAS, consumer, products, ban, 2026, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'68