หน้าแรก / THTI Insight / องค์ความรู้ / พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2561 ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ เมษา

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2561 ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ เมษา

กลับหน้าหลัก
13.06.2561 | จำนวนผู้เข้าชม 30814

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2561

ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. 2561

พระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ มีสาระสำคัญโดยย่อดังนี้ (โปรดอ่านฉบับเต็มตามที่ระบุไว้เป็นที่มาของข้อมูลประกอบ เพื่อมิให้เข้าใจผิดพลาดหรือข้อผิดพลาดอันจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อกิจการ)

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2561”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้แก้ไขคำว่า “รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” เดิม เป็น “รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

มาตรา 4 ให้เพิ่มบทนิยามคำ ว่า “หน่วยงานของรัฐ”

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในส่วนที่ 4 มาตรา 46, 47, 48, 49, 50 และ 51ของหมวด ๓ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลงวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 46 “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” หมายความว่า กระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้มี โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน

มาตรา 47 ในกรณีที่มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ตามระเบียบหรือกฎหมายอื่นใดไว้แล้ว การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วย

มาตรา 48 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศกำหนดให้โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ เป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ซึ่งผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

มาตรา 49 ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 เป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการร่วมกับเอกชนที่ต้องเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้น จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

กรณีโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่ที่ไม่ต้องเสนอขอรับความเห็นชอบหรือไม่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ให้จัดทำและเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 50 และมาตรา 51/1 ด้วยโดยอนุโลม

กรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการ เป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการด้านการคมนาคมขนส่ง การชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล หรือที่อยู่อาศัย ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินกระบวนการหรือขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนที่จะเป็นผู้รับงานนั้นไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้นั้นไม่ได้

มาตรา ๕๐ ในกรณีที่โครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการ ตามมาตรา 48 เป็นโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการที่จะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายก่อนเริ่มการก่อสร้างหรือดำเนินการ ให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนั้น และต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานของรัฐตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน

มาตรา 51 ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อทำหน้าที่พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตในกิจการอันเป็นสาระสำคัญสำหรับการดำเนินโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการนั้นตามกฎหมายร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

มาตรา 51/1 ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานของรัฐตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการมิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบ

มาตรา 51/2 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 49, 50 และ 51/1  ให้กรรมการผู้ชำนาญการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการมีอำนาจตรวจสถานที่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการหรือกิจการหรือการดำเนินการได้ โดยต้องกระทำต่อหน้าหรือด้วยความยินยอมของผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาต

มาตรา 51/3 เมื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบ หรือในกรณีที่ให้ถือว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้ความเห็นชอบตามมาตรา 51/1 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตนำมาตรการตามที่เสนอไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาต โดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย

มาตรา 51/4 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา 49 และ 50 รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอาจกำหนดให้การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 ต้องจัดทำหรือได้รับการรับรองจากผู้รับใบอนุญาต เป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

มาตรา 51/5 เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบและพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาตที่ได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว จัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจอนุญาตอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนด

มาตรา 51/6 รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นหรือได้รับความเห็นชอบหรือถือว่าได้รับความเห็นชอบ สามารถนำไปใช้เพื่อเสนอขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือประกอบการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายได้ เป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือหน่วยงานของรัฐตามที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนได้มีหนังสือแจ้งความเห็น

มาตรา 51/7 ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 86 ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 65 และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษตามมาตรา 82 (1) ให้ทำต่อหน้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่หรือยานพาหนะ ถ้าหาบุคคลดังกล่าวไม่ได้ ให้ทำต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษได้ขอร้องให้มาเป็นพยาน

มาตรา 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 101/1 และ 101/2 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

มาตรา 101/1 ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาต ผู้ใดก่อสร้างหรือดำเนินโครงการหรือกิจการก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 48 จะได้รับความเห็นชอบหรือถือว่าได้รับความเห็นชอบ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งแสนบาท ตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง มีผลกระทบอย่างรุนแรง ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติในวรรคหนึ่งกึ่งหนึ่ง

มาตรา 101/2 ผู้ดำเนินการหรือผู้ขออนุญาต ผู้ใดไม่นำส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 51/5 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท

มาตรา 8  ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 110/1 และมาตรา 110/2 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

มาตรา 110/1 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบในเขตกรุงเทพมหานครและในส่วนภูมิภาคได้ตามความเหมาะสม

มาตรา 101/2 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือเป็นความผิดที่มีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกินสองปี ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบมีอำนาจเปรียบเทียบได้

มาตรา 9 ให้ยกเลิก 1. ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

มาตรา 10 ให้ยกเลิกความใน 2. ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “2. ใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปีละ 5,000 บาท”

มาตรา 11 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น 7. ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 “7. การต่ออายุใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต”

มาตรา 12 ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบฯ  ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 13 บรรดารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการฯ  ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ให้ถือว่าเป็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และให้ดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 14 โครงการหรือกิจการที่ได้รับความยินยอมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โครงการหรือกิจการนั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้ฯ

มาตรา 15 ให้ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ได้ต่อไปจนกว่าใบอนุญาตจะสิ้นอายุ

มาตรา 16 บรรดาคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้มีสิทธิทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และให้พิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม

มาตรา 17 บรรดากฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เฉพาะที่เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ฯ

มาตรา 18 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

 
โปรดอ่านฉบับเต็มตามที่ระบุไว้เป็นที่มาของข้อมูลประกอบ เพื่อมิให้เข้าใจผิดพลาดหรือข้อผิดพลาดอันจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อกิจการ

 

ที่มา: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/027/29.PDF

คัดย่อและเรียบเรียง: นายชาติชาย สิงหเดช – ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

กฎระเบียบสิ่งทอ, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, สิ่งแวดล้อม, อุตสาหกรรม