หน้าแรก / THTI Insight / ความเคลื่อนไหวอุตสาหกรรม / ‘ลาตินอเมริกา’ และ ‘ตุรกี’ ศูนย์กลางการผลิตแบบ Nearshoring ที่สำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกาและยุโรป

‘ลาตินอเมริกา’ และ ‘ตุรกี’ ศูนย์กลางการผลิตแบบ Nearshoring ที่สำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกาและยุโรป

กลับหน้าหลัก
24.01.2568 | จำนวนผู้เข้าชม 78

‘ลาตินอเมริกา’ และ ‘ตุรกี’ ศูนย์กลางการผลิตแบบ Nearshoring ที่สำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกาและยุโรป 

“การกลับมาให้ความสนใจการผลิตการผลิตในประเทศหรือภูมิภาคใกล้เคียง หรือ Nearshoring นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพ”

จากการที่ทั่วโลกกลับมาให้ความสนใจกับการผลิตในประเทศหรือภูมิภาคใกล้เคียง (Nearshoring) มากขึ้น ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านขีดความสามารถและศักยภาพที่เพิ่มขึ้น

ถึงแม้ว่าความสนใจในการผลิตในประเทศหรือภูมิภาคใกล้เคียง (Nearshoring) จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติจริงกลับยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งข้อมูลชี้ให้เห็นว่า แม้การกล่าวถึง Nearshoring ในการนำเสนอของบริษัทต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่าระหว่างปี พ.ศ. 2561-2565 (ปี 2018-2022) แต่สัดส่วนการนำเข้าไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาจากประเทศใกล้เคียงยังคงทรงตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 (ปี 2019) เนื่องจากซัพพลายเออร์ท้องถิ่นในประเทศใกล้เคียงหลายแห่งยังคงมีข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตและความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปริมาณที่ต้องการ และผลิตภาพแรงงานที่ต่ำกว่าในประเทศใกล้เคียงบางแห่ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แม้จะมีข้อได้เปรียบด้านค่าจ้างที่ต่ำกว่า แม้จะมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่าและข้อได้เปรียบทางภาษี แต่ต้นทุนรวมของสินค้าที่ผลิตในประเทศใกล้เคียงยังคงสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ เนื่องจากปัจจัยด้านผลิตภาพแรงงานและกำลังการผลิต

การสร้างขีดความสามารถและศักยภาพ 

ด้านการลงทุน พบว่า ส่วนแบ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในด้านการผลิตแบบ Nearshoring สำหรับเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 สำหรับสหรัฐอเมริกา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 สำหรับยุโรปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ด้านแรงจูงใจจากนโยบายภาครัฐ พบว่า ร่างกฎหมาย Americas Act ซึ่งเป็นร่างกฎหมายของทั้ง 2 พรรคในสหรัฐอเมริกา โดยหากมีผลบังคับใช้จะจัดสรรเงิน 14 พันล้านดอลลาร์ สำหรับเงินอุดหนุนเครื่องนุ่งห่มและการลงทุนในการผลิตแบบ Nearshoring และกลยุทธ์ของสหภาพยุโรปสำหรับสิ่งทอที่ยั่งยืนได้กำหนดขึ้นหลายโครงการริเริ่มเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อปี พ.ศ. 2566 (ปี 2023) ซึ่งอาจได้รับการแก้ไขผ่านการผลิตแบบ Nearshoring ด้วยเช่นกัน

องค์ประกอบของต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ 

ผลิตภาพ ผู้ผลิตท้องถิ่นและบริษัทในเอเชียที่มีโรงงานในอเมริกากลางกำลังลงทุนโดยใช้กลยุทธ์การควบรวมกิจการแนวดิ่งของการผลิตสิ่งทอ ตั้งแต่การผลิตผ้าผืนไปจนถึงการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปไว้ในบริษัทเดียวเพื่อปรับปรุงผลิตภาพ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงประชากรวัยทำงานของจีนกำลังทำให้ข้อได้เปรียบด้านผลิตภาพของจีนค่อย ๆ ลดลง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องมองหาแหล่งผลิตใหม่ ๆ ที่มีต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า และมีศักยภาพในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ

ความรวดเร็วในการออกสู่ตลาด เนื่องจากความเร็วของวงจรเทรนด์เร่งตัวขึ้น การผลิตใกล้แบบ Nnearshoring อาจเป็นประโยชน์ต่อผลกำไรของบริษัท โดยอาจนำไปสู่ระยะเวลารอคอยที่เร็วขึ้น 3-5 เท่า อัตรากำไรสุทธิที่สูงขึ้น และระดับสินค้าคงคลังที่ต่ำลง

ทั้งนี้ ลาตินอเมริกาและตุรกีกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญสำหรับการผลิตแบบ Nearshoring โดยลาตินอเมริกาเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญสำหรับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ตุรกีเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญสำหรับยุโรป

ลาตินอเมริกา (LATIN AMERICA)

บริษัทแฟชั่นของสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 65.0 ระบุว่า กำลังเพิ่มการจัดหาสินค้าจากประเทศสมาชิก USMCA เมื่อปี พ.ศ. 2566 (ปี 2023) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 เมื่อปี พ.ศ. 2563 (ปี 2020) เนื่องจากข้อตกลงทางการค้าที่เป็นประโยชน์สำหรับสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ

เส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา กำลังกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับธุรกิจต่าง ๆ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนและความเร็วในการขนส่งที่เหนือกว่าเส้นทางการขนส่งจากจีน

ด้วยต้นทุนการขนส่งที่ต่ำกว่า (เปรียบเทียบระหว่างเม็กซิโกและจีน) พบว่า การขนส่งสินค้า 1 ตู้คอนเทนเนอร์จากเม็กซิโกไปสหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในทางตรงกันข้ามการขนส่งสินค้า 1 ตู้คอนเทนเนอร์จากจีนไปสหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 18,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าถึง 3.6 เท่า ขณะเดียวกันระยะเวลาการขนส่งที่รวดเร็วกว่า พบว่า ระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากเม็กซิโกไปสหรัฐอเมริกา ใช้เวลาเพียง 5-10 วัน ในขณะที่การขนส่งจากจีนไปสหรัฐอเมริกา ต้องใช้เวลานานถึง 60 วัน หรือมากกว่านั้น

โดยมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากกัวเตมาลาไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563-2566 (ปี 2020-2023) แม้ว่าต้นทุนการผลิตในประเทศจะสูงกว่าหากเปรียบเทียบกับเวียดนาม ประมาณ 5 ถึง 10% แต่ระยะเวลาการขนส่งเร็วกว่าประมาณ 3

ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายปี w.ศ. 2566 (ปี 2023) ‘โคลัมเบีย’ ได้ประกาศแผนการที่จะย้ายการผลิตออกจากเอเชีย และเพิ่มการผลิตในอเมริกากลางเป็นสองเท่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และ ‘SAE-A’ ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มแบบครบวงจรของเกาหลีใต้ ได้ลงทุนมากกว่า 150 ล้านดอลลาร์ ในการขยายธุรกิจในลาตินอเมริกา

ตุรกี (TURKEY)

ตุรกีได้กลายเป็นผู้ผลิตหลักสำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอโลกอย่างแข็งแกร่ง โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า ส่วนแบ่งการผลิตสิ่งทอทั่วโลกของตุรกีเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นั่นแสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอของตุรกี ทั้งนี้ การเติบโตของตุรกีในฐานะผู้ผลิตหลักอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลก และส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2566 (ปี 2023) ตุรกีประสบความสำเร็จในการเพิ่มส่วนแบ่งการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเข้าไปยังยุโรป สูงถึงร้อยละ 6.0 ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพของผลิตภัณฑ์สิ่งทอของตุรกี การส่งออกที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ยังสามารถแซงหน้าเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญอีกรายในตลาดสิ่งทอโลกด้วยเช่นกัน

ตุรกีกลายเป็นแหล่งจัดหาสินค้าที่สำคัญสำหรับแบรนด์แฟชั่นยุโรป

จากข้อมูลของ Qima ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนดของห่วงโซ่อุปทาน พบว่า แบรนด์แฟชั่นยุโรปมากกว่าร้อยละ 25.0 ยกให้ตุรกีเป็นแหล่งจัดหาสินค้าที่สำคัญให้กับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำหลายแบรนด์ เช่น Inditex (เจ้าของแบรนด์ Zara), H&M, Boohoo และ Asos ต่างมีฐานการจัดหาสินค้าขนาดใหญ่อยู่ในตุรกี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตุรกีในอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก

ดังนั้น การผลิตใกล้เคียงประเทศ หรือ Nearshoring คือกลยุทธ์ที่ธุรกิจเลือกผลิตสินค้าในประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกับตลาดเป้าหมาย เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หนึ่งในประเทศที่ได้รับความสนใจในฐานะแหล่งผลิตแบบ Nearshoring คือ ตุรกี ซึ่งมีข้อดีหลายประการที่น่าสนใจ นั้นคือ 

การผลิตในตุรกีช่วยให้ธุรกิจสามารถตรวจสอบย้อนกลับของห่วงโซ่อุปทานได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากระยะทางที่ใกล้กว่าและมีการสื่อสารที่สะดวกกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตในประเทศที่อยู่ห่างไกล เช่น ในเอเชียแปซิฟิก การตรวจสอบย้อนกลับได้นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับที่มาของสินค้าและกระบวนการผลิตที่โปร่งใส

หนึ่งในข้อได้เปรียบที่สำคัญที่สุดของการผลิตในตุรกี คือ การลดระยะเวลาการสั่งซื้อจนถึงการจัดส่งอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลระบุว่าระยะเวลาดังกล่าวลดลงจาก 150-170 วันเมื่อผลิตในเอเชียแปซิฟิก เหลือต่ำกว่า 50 วันเมื่อผลิตในตุรกี ซึ่งหมายความว่าธุรกิจสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงจากการที่สินค้าล้าสมัย

และระยะเวลาการขนส่งจากตุรกีไปยังตลาดในยุโรปใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 7 วัน ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากเมื่อเทียบกับการขนส่งจากเอเชียที่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การขนส่งที่รวดเร็วนี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถหมุนเวียนสินค้าคงคลังได้เร็วขึ้น และลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้า

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ นั่นคือ ‘Shein’ แพลตฟอร์มค้าปลีกแฟชั่นออนไลน์ยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน ประกาศความร่วมมือกับผู้ผลิตประมาณ 1,000 รายในตุรกี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ระดับโลกในการย้ายฐานการผลิตเข้าใกล้ตลาดผู้บริโภคหลักมากขึ้น และ ‘Kipas Textiles’ ผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำของตุรกี กำลังดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและดึงดูดแบรนด์แฟชั่นชั้นนำจากยุโรปที่กำลังมองหาแหล่งผลิตที่ใกล้เคียง (nearshoring) โดยมุ่งเน้นการลงทุนในด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน

-------------------------------------------

Source: BoF-McKinsey State of Fashion 2025

Photo credit: BoF-McKinsey State of Fashion 2025

 

เรียบเรียง : ศูนย์ข้อมูลฯ (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

แนวโน้มแฟชั่น, Fashion, 2025, Global Economy, Latin America, Turkey, Nearshoring, The State of Fashion, BoF, McKinsey, THTI, Fashion Intelligence Unit, FIU, FIU_'68