สถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567
ภาพที่ 1 แสดงภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนธันวาคม 2567
ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 504.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 326.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 178.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 441.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 แบ่งเป็น (1) การนำเข้ากลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 255.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 และ (2) การนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 186.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 63.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และสรุปภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 6,196.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) แบ่งเป็น (1) การส่งออก (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,989.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.1 และ (2) การส่งออก (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,207.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ขณะที่สรุปภาพรวมการนำเข้าในปี พ.ศ. 2567 ของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 5,251.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,223.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,027.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 945.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพที่ 2 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า เกือบทุกรายการผลิตภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ยกเว้นการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ลดลงร้อยละ 2.7 (%YoY) หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (%MoM) พบว่า ลดลงทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์หลัก
ภาพที่ 3 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 87.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดจีน สหรัฐอเมริกา และปากีสถานในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 132.1, 12.0 และ 1.6 ตามลำดับ
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,064.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) จากการส่งออกไปยังตลาดจีนและปากีสถาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 และ 26.6 ขณะที่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ลดลงร้อยละ 2.1
ภาพที่ 4 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 41.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดจีน และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 และ 58.4 ขณะที่การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นในเดือนนี้ พบว่า ลดลงร้อยละ 14.9
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 526.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) จากการส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดจีนและเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 และ 53.4 ขณะที่การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ลดลงร้อยละ 13.6
ภาพที่ 5 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
การส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 87.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดบังกลาเทศและกัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.3 และ 9.6 ขณะที่การส่งออกผ้าผืนของไทยไปยังตลาดเวียดนาม ลดลงร้อยละ 22.2
และการส่งออกผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,013.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) แต่หากพิจารณาในรายตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกผ้าผืนของไทยไปยังตลาดเวียดนาม กัมพูชา และบังกลาเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01, 3.5 และ 30.3 ตามลำดับ
ภาพที่ 6 แสดงมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า มีมูลค่าการส่งออก 178.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกหลัก 3 อันดับแรก พบว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและฮ่องกงในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 และ 49.2 ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 3.2
และการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,207.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) จากการส่งออกไปยังจากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และ 4.6 ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยไปยังตลาดเบลเยียมในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ลดลงร้อยละ 0.3
ภาพที่ 7 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก
เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ทั้ง 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY)
ภาพที่ 8 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย เดือนธันวาคม 2567
และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 101.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าเส้นด้ายเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3, 5.8 และ 22.2 ตามลำดับ
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เส้นด้าย ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,387.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า นำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดเวียดนาม ลดลงร้อยละ 4.8 ขณะที่ไทยมีการนำเข้าเส้นด้ายจากตลาดจีนและญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และ 1.3
ภาพที่ 9 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 153.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5, 0.7 และ 14.5 ตามลำดับ
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,836.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรกเช่นเดียวกัน ได้แก่ จีน เวียดนาม และไต้หวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0, 11.1 และ 4.8 ตามลำดับ
ภาพที่ 10 แสดงมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2567 พบว่า มีมูลค่าการนำเข้า 139.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาตลาดนำเข้า 3 อันดับแรก พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน เวียดนาม และกัมพูชา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7, 15.7 และ 106.5 ตามลำดับ
และการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีมูลค่าการนำเข้ารวม 1,502.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%YoY) จากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในตลาด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม และอิตาลี นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8, 21.9 และ 0.6 ตามลำดับ
ภาพที่ 11 แสดงมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 4 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM)
ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นใยประดิษฐ์ เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกไปยังตลาด 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการส่งออกในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้
การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ในภาพรวม ลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดจีน ลดลงร้อยละ 11.0 แต่การส่งออกเส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและปากีสถานในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 และ 10.1
การส่งออกเส้นด้ายในภาพรวม ลดลงร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นและจีน ลดลงร้อยละ 13.1 และ 0.4 แต่การส่งออกเส้นด้ายของไทยไปยังตลาดเวียดนามในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7
สำหรับการส่งออกผ้าผืนในภาพรวม ลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกผ้าผืนไปยังตลาดเวีดนาม ลดลงร้อยละ 15.5 แต่การส่งออกผ้าผืนของไทยไปตลาดบังกลาเทศและกัมพูชาในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 และ 37.0
และการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในภาพรวม ลดลงร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฮ่องกง ลดลงร้อยละ 10.8, 20.4 และ 12.9 ตามลำดับ
ภาพที่ 12 แสดงมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแยกตาม 3 ผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM)
และมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ใน 3 ผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย เส้นด้าย ผ้าผืน และเครื่องนุ่งห่ม ในเดือนธันวาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) จากการนำเข้าใน 3 อันดับแรกของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยมีรายละเอียดในภาพรวมของการนำเข้าในแต่ละผลิตภัณฑ์มีดังนี้
การนำเข้าเส้นด้ายในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) โดยนำเข้าเส้นด้ายลดลงจากตลาดจีนและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 6.2 และ 1.3 ขณะที่การนำเข้าเส้นด้ายจากตลาดเวียดนามในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4
การนำเข้าผ้าผืนในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) โดยนำเข้าลดลงจากตลาดจีน เวียดนาม และไต้หวัน ลดลงร้อยละ 6.9, 0.7 และ 13.7 ตามลำดับ
และการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมเดือนนี้ นำเข้าลดลงร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (%MoM) โดยนำเข้าเพิ่มขึ้นจากตลาดจีนและเวียดนาม ลดลงร้อยละ 4.7 และ 18.1 ขณะที่การนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากตลาดกัมพูชาในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6
ภาพที่ 13 สรุปภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ (5 อันดับแรก) เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
สรุปภาพรวมการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่า 504.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) และเมื่อพิจารณาในภาพรวมมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยไปยังตลาดสำคัญ ใน 5 อันดับแรก ซึ่งมีสัดส่วนทางการตลาดรวมกันคิดเป็นร้อยละ 50 โดยจัดเรียงตามมูลค่าการส่งออกในเดือนดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย พบว่า การส่งออกของอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2, 22.8 และ 9.8 ตามลำดับ ขณะที่ภาพรวมการส่งออก ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยมีมูลค่าส่งออกรวมตลอดทั้งปี ที่ 6,196.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตลาดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และจีน ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมแฟชั่นโลกในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าจะยังคงเผชิญกับภาวะการเติบโตที่ชะลอตัว โดยอัตราการเติบโตของรายได้จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสินค้าฟุ่มเฟือยจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างมูลค่า แต่เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเพิ่มผลกำไรทางเศรษฐกิจแทน
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ BoF-McKinsey ระบุว่า ผู้นำในอุตสาหกรรมแฟชั่นส่วนใหญ่ ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น พบว่า จากกลุ่มสำรวจ คิดเป็นร้อยละ 20 คาดหวังความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ ขณะที่ร้อยละ 39 คาดการณ์ว่า สภาวะตลาดของอุตสาหกรรมแฟชั่นมีแนวโน้มลดลง
ขณะที่ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ คาดว่า จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนรายได้ผลกำไรทางเศรษฐกิจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมิติด้านอุตสาหกรรม คาดว่า อาจจะได้รับประโยชน์เชิงบวกจากหลายภูมิภาค เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และตลาดเกิดใหม่ในเอเซีย และ ‘จีน’ จะยังคงเป็นตลาดสำคัญ แต่แบรนด์ต่าง ๆ จะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในจีน และหันไปให้ความคัญกับตลาดอื่น ๆ ในเอเซียมากเช่น เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และอินเดีย เป็นต้น
สำหรับปัจจัยที่คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ในปี พ.ศ. 2568 นั่นคือ การท่องเที่ยวในประเทศ น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยดันให้การบริโภคขยับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ข้อกังวลสำคัญ คือ การนำเข้าที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นตลอด Supply Chain ของอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มไทยในปีที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการนำเข้ามีความใกล้เคียงกับการมูลค่าการส่งออก อาจส่งผลให้ ในปี พ.ศ. 2568 ดุลการค้าเกินดุลอาจอยู่ในอัตราที่ลดลง และอาจส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้าเกิดขึ้น
ภาพที่ 14 แสดงมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย เดือนธันวาคม 2567 และสรุปปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม)
จากภาพที่ 14 พบว่า ในเดือนธันวาคม 2567 ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มมากกว่าการส่งออกและส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่มูลค่า 7.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสัดส่วนภาพรวมการการส่งออกและนำเข้า ในปี พ.ศ. 2567 (เดือนมกราคม-ธันวาคม) พบว่า มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะการส่งออกกลุ่มสิ่งทอในปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 0.1 (%YoY)
ข้อกังวลอีกประการหนึ่ง คือ ต้นทุนที่อาจปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการในประเทศแข่งขันยาก รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะยังคงชะลอตัว บวกกับต้นทุนด้านพลังงาน (ค่าไฟและค่านำ้มัน) ค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปีถัดไป
-----------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
Global Trade Atlas
BoF-McKinsey State of Fashion 2025
-----------------------------------------
จัดทำและเรียบเรียงโดย
ศูนย์ข้อมูลและดิจิทัลอุตสาหกรรม (แผนกข้อมูลอุตสาหกรรม)
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
31 มกราคม 2568